แรงงาน “7 ล้าน” เจอผลกระทบ อย่า “เยียวยา” ผิดฝาผิดตัว

เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกมาแถลง ข่าวว่าด้วยการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 มีประเด็นสำคัญมากประเด็นหนึ่งที่ผมคิดว่ารัฐบาลต้องให้ความสนใจและต้องแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

กล่าวโดยสรุปนอกเหนือจากผลกระทบที่จะทำให้การเติบโตทาง เศรษฐกิจลดลงจากที่เคยประมาณการไว้แต่เดิมแล้ว แบงก์ชาติยังวิเคราะห์ด้วยว่าจะมีผลกระทบต่อแรงงานไทยของเราด้วย…ดังนี้

กลุ่มแรกประมาณ 3.5 ล้านคน จะมีรายได้ลดลงอย่างรุนแรงจนมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและความสามารถในการชำระหนี้สิน

กลุ่มสอง ประมาณ 1.1 ล้านคน จะกลายเป็น “คนเสมือนว่างงาน” คือทำงานไม่เกิน 24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่งผลให้มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ส่วนใหญ่จะเป็นลูกจ้างนอกภาคเกษตรและผู้ประกอบอาชีพอิสระเป็นหลัก

กลุ่มสามประมาณ 1 แสนคน จะเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงในการตกงานสูงมาก ได้แก่ ลูกจ้างในสาขาโรงแรมและการท่องเที่ยว ซึ่งได้รับผลกระทบค่อนข้างหนักในการระบาดของโควิด-19 ทั้ง 2 รอบ

เมื่อรวมยอดแรงงานที่จะได้รับกระทบในรอบนี้ทั้งหมดข้างต้นเข้าด้วยกันแล้วจะตกประมาณ 4.7 ล้านคน และเมื่อรวมกับตัวเลขของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากรอบแรกที่ประมาณการไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาอีก 2.2 ล้านคน ก็จะเท่ากับ 6.9 ล้านคน

ผมปัดเศษให้เต็มๆ 7 ล้านคนก็แล้วกันครับ เพื่อให้จำตัวเลขได้ง่ายๆ

แม้ตัวเลขที่แบงก์ชาติแถลงออกมานี้จะเป็นตัวเลขจากการประ มาณการหรือจากการวิเคราะห์จากข้อมูลต่างๆ…จึงไม่อาจจะระบุออกมาเป็นตัวบุคคลได้ว่าทั้ง 7 ล้านคนนี้คือใคร? อยู่ที่ไหน?

แต่ก็เป็นตัวเลขที่ผมคิดว่าน่าจะใกล้เคียงกับข้อเท็จจริงอย่างยิ่งว่ายอดผู้เดือดร้อนทั้งหมดจากการที่โควิด-19 กลับมาระบาดใหม่รอบ 2 โดยเฉพาะด้านแรงงานน่าจะอยู่ประมาณนี้

ว่าไปแล้วการประเมินของแบงก์ชาติครั้งนี้ยังดีกว่าที่ผมนึกไว้โดยมองจากสภาวะแวดล้อม โดยมิได้ใช้หลักวิชาการใดๆ ทั้งสิ้น

เพราะที่แบงก์ชาติคาด…ส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบจาก “รายได้ลดลงรุนแรง” และ “เสมือนว่างงาน” (ซึ่งแปลว่ายังมีงานทำ) มากกว่า ผู้ที่จะ ว่างงาน โดยตรงที่แบงก์ชาติคาดว่ารอบนี้จะตกประมาณ 1 แสนคน เท่านั้น

ในขณะที่ผมไปให้น้ำหนักในประการหลังๆ คือมองว่าคนตกงานจริงๆ น่าจะมากกว่าแบงก์ชาติ โดยใช้ความรู้สึกจากการที่ผมเผอิญอยู่ในกลุ่มผู้มีอาชีพสื่อสารมวลชนเก่า ซึ่งเป็นสื่อที่ได้รับการขนานนามว่า “อาทิตย์อัสดง” ไปทางไหนก็เจอแต่พี่ๆ น้องๆ ตกงาน

ผมก็เลยบวกตัวเลขว่างงานจริงๆ เยอะกว่าแบงก์ชาตินิดหน่อย…แต่ก็อย่าไปเชื่อถืออะไรมาก เพราะผมประเมินจากความรู้สึกจากอารมณ์โดยมิได้ใช้หลักวิชาการใดๆ

ขอให้เชื่อแบงก์ชาตินะครับรัฐบาล…และเมื่อเชื่อแล้วก็ขอให้หาทางช่วยเหลือด้วย เพราะจากจำนวนแรงงานที่ได้รับผลกระทบในระดับต่างๆ สูงถึง 7 ล้านคนนั้น มีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย

การช่วยอย่างถาวรคือการสร้างงานขึ้นมาใหม่หรือทำให้รายได้ของแรงงานสูงขึ้นมาใหม่ คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นัก เพราะจะขึ้นอยู่กับการปลุกเศรษฐกิจทั้งระบบ ซึ่งจะต้องใช้มาตรการที่หลากหลาย รวมทั้งการที่จะต้องพึ่งพาเศรษฐกิจโลกด้วย อย่างสำคัญยิ่งนั้น…ผมไม่ติดใจ…ขอให้คิดอ่านกันไป…เตรียมตัวกันไป ฯลฯ ด้วยความรอบคอบก็แล้วกัน

ที่อยากจะฝากไว้คือมาตรการ “เยียวยา” เฉพาะหน้า เพื่อช่วยเหลือเจือจานหรือต่ออายุให้แก่แรงงานที่ได้รับผลกระทบ 7 ล้านคน ที่แบงก์ชาติประเมินไว้มากกว่า

ผมไม่แน่ใจว่าที่รัฐบาลจัดโครงการ “เยียวยา” ล่าสุด โดยจะใช้เงิน อีกประมาณ 3 แสนล้านบาทเศษๆ นั้น คงจะถึงมือแรงงานทั้ง 7 ล้านคน ที่ว่านี้ด้วยเป็นส่วนใหญ่นะครับ

อย่าให้เกิดเหตุการณ์ประเภทคนสมควรได้รับความช่วยเหลือกลับไม่ได้รับความช่วยเหลือ แต่คนที่ไม่สมควรเลยกลับได้รับความช่วยเหลือเป็นอันขาด…เดี๋ยวแรงงานหรือบุคคลที่ได้รับผลกระทบเขาจะโกรธเอา

ฝากไว้ด้วยนะครับบิ๊กตู่ ในฐานะที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลและประกาศตัวมาหลายหนแล้วว่าท่านเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจตัวจริง.

“ซูม”

ผลกระทบ, แรงงาน, ว่างงาน, โควิด 19, เศรษฐกิจ, ไทย, เยียวยา, รายได้, ตกงาน, ซูมซอกแซก