เห็นด้วยใช้ “กฎหมาย” แต่ต้องไม่ขัดหลักสากล

ท่านที่ติดตามคอลัมน์นี้มาตั้งแต่แรกเริ่มคงจะทราบดีว่า ผมเป็นคนมองโลกในแง่ดี และมีความตั้งใจที่จะเขียนหนังสือในแนวที่จะให้ความสุข ให้ความรู้ ให้ความคิดในทางสร้างสรรค์ รวมถึงการ ให้กำลังใจในยามทุกข์ยาก ฯลฯ แก่ท่านผู้อ่านมาโดยตลอด จะไม่ด่าทอใคร ไม่ตำหนิใคร แม้ในกรณีจำเป็นที่จะต้องตำหนิบ้าง ผมก็จะใช้วิธีเสนอแนะและอ้างเหตุผลอย่างสุภาพและไม่ก้าวร้าว

ในทางการเมืองหรือในยามที่บ้านเมืองเกิดความขัดแย้งแบ่งออกเป็นฝักเป็นฝ่ายนั้น จุดยืนของผมจะชัดเจนมาก คือจะ “ไม่เข้าข้างใคร” และจะพยายามขอร้องวิงวอน ขอให้ทั้ง 2 ฝ่ายที่ขัดแย้ง…หันหน้าเข้าหากัน เลิกทะเลาะกัน หันมารู้รักสามัคคีกัน

ผมจะขอร้องมิให้ทุกฝ่ายใช้ความรุนแรง หรือใช้อาวุธทำร้ายซึ่งกันและกันอยู่เสมอ เพราะผมเชื่อว่าจะไม่คุ้มเลยกับการสูญเสียชีวิตหรือเลือดเนื้อของคนไทยด้วยกันเอง เพื่อสังเวยความคิดที่แตกต่างกันนั้นๆ

ผมได้แสดงถึงจุดยืนนี้มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นยุค 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, ยุคพฤษภาทมิฬ, ยุคสีแดงสีเหลือง, มาจนถึงเหตุการณ์ ในปัจจุบัน

ถ้าท่านผู้อ่านจำได้ ผมได้เขียนขอร้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายยอมถอยคนละก้าว ยอมหันหน้ามาพูดกัน อย่าทะเลาะกัน และอย่าต่อกรกันเลย

ที่ผมเห็นด้วยและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ หรือคณะกรรมการปรองดองอะไรที่ว่าก็ด้วยจุดยืนในข้อนี้

แต่ก็ดูเหมือนว่าความหวังที่จะได้เห็นความปรองดอง ความสมานฉันท์ ผ่านกรรมการชุดนี้น่าจะหมดสิ้นไปแล้ว เพราะถึงตั้งขึ้นมาก็ไม่มีประโยชน์

เนื่องจากคู่ขัดแย้งในฝ่ายม็อบ ฝ่ายมวลชน หรือฝ่ายที่เรียกว่าคณะราษฎร 2563 นั้น มิได้ลดราวาศอกลงเลย

ที่สำคัญการเรียกร้องของพวกเขามิใช่เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ หรือเรื่องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกสักเท่าไรนัก แต่เป็นข้อที่ 3 คือ “การปฏิรูปสถาบัน” เสียมากกว่า

ผมจะไม่ขัดข้องและหากการประท้วงอยู่ที่ 2 ข้อแรก เพราะแม้ผมจะยังเห็นว่าบิ๊กตู่เหมาะที่จะบริหารต่อไป แต่ผมก็เข้าใจความรู้สึกของพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ที่เบื่อบิ๊กตู่

ส่วนในข้อแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ผมเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว

แต่ถ้าใครไปฟังคำพูดจาปราศรัยของกลุ่มผู้ชุมนุมและจุดจบของการชุมนุมแต่ละครั้งที่จบลงด้วยเรื่อง “สถาบัน” เสมอนั้น ก็จะเข้าใจเจตนาของพวกเขาอย่างชัดเจน

ว่าที่แท้แล้วเรื่องแก้รัฐธรรมนูญก็ดี เรื่องขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะตัวแทนเผด็จการก็ดี เป็นข้ออ้างเพื่อนำไปสู่ข้อเรียกร้องที่ 3 เท่านั้นเอง

แรกๆ ผมเองก็ยังเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป ได้มีโอกาสติดตามการประท้วง และได้ฟังคำปราศรัยที่มีการแชร์คลิปกันอย่างแพร่หลายทำให้ผมปักใจเชื่อว่าวัตถุประสงค์ของบุคคลกลุ่มนี้อยู่ที่ประเด็นข้อ 3 มากกว่าข้ออื่นๆ

ภาพสุดท้ายจากคลิปเหตุการณ์บางเหตุการณ์ที่ม็อบบางส่วนกระทำที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถือเป็นฟางเส้นสุดท้ายของผม

ผมขออภัยท่านผู้อ่านที่ผมจะต้องสูญเสียความเป็นกลางอันเป็นอุดมคติที่ผมยึดมั่นมาตลอดในการเขียนหนังสือสำหรับกรณีนี้

เพราะผมศรัทธาและเชื่อมั่นในสถาบันกษัตริย์ว่ามีพระมหากรุณาธิคุณใหญ่หลวงแก่ประเทศไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเรา

ผมจึงเห็นด้วยกับรัฐบาลที่ออกมาแถลงการณ์ว่า จะใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตราที่มีอยู่ ดำเนินการต่อผู้ชุมนุมที่กระทำความผิด ฝ่าฝืน กฎหมายในทุกๆ เรื่อง

แต่ด้วยความที่เป็นคนไทยด้วยกัน และผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ก็เป็นรุ่นลูก รุ่นหลานที่อาจจะมีความเข้าใจผิดหรือรับรู้ข้อมูลผิดๆ อะไรบางอย่าง ผมก็ยังเห็นว่า ในการใช้ความเข้มข้นของกฎหมายนั้น ขอให้ผู้รักษากฎหมายทั้งหลายจงใช้ด้วยความละมุนละม่อม และยึดหลักสากลอย่างเคร่งครัดดังที่แถลงไว้

อย่าทำอะไรที่รุนแรงเกินเหตุจนเกิดเลือดตกยางออกอันจะนำไปสู่การตำหนิของสากลโลกได้ในภายหลังเป็นอันขาด

ขอฝากผู้รักษากฎหมายทุกๆ คนเอาไว้ด้วยนะครับ.

“ซูม”

กฎหมาย, ผู้ชุมนุม, รัฐธรรมนูญ, การเมืองไทย, เศรษบกิจไทย, ซูมซอกแซก