คณะกรรมการสมานฉันท์ จุดเริ่มของความสมานฉันท์

ผมเรียนท่านผู้อ่านมาแล้วหลายๆครั้งว่า ผมเป็นนักสมานฉันท์คนหนึ่ง ตลอดระยะเวลาที่เขียนหนังสือมาร่วมๆ 50 ปี ไม่เคยมีจุดยืนเป็นอย่างอื่น นอกจากจะขอร้องไม่ให้คนไทยทะเลาะกัน จะเห็นต่างกันอย่างไร? จะคิดต่างกันอย่างไร? เมื่อได้แสดงความคิดความเห็นกันแล้ว ก็ขอให้จบเป็นเรื่องๆ ไป

อย่าให้เลยเถิดไปถึงขั้นยกพวกเผชิญหน้ากัน และต่อสู้ด้วยกำลังเพื่อเอาชนะคะคานกัน จนถึงขั้นบาดเจ็บล้มตายเป็นอันขาด เพราะทุกๆ ชีวิตที่สูญเสียหรือบาดเจ็บจนทุพพลภาพ หลังการต่อสู้นั้นๆ  ล้วนเป็นคนไทยด้วยกันทั้งสิ้น

เหนืออื่นใด หากบาดเจ็บล้มตายมากๆ สูญเสียมากๆ จนประเทศ เสียหายอย่างหนักแล้ว…กว่าเราจะฟื้นกลับคืนมาได้ กว่าเราจะสมานแผลหัวใจที่บาดหมางได้ ต้องใช้เวลายาวนานมาก จนอาจไม่คุ้มกันเลยกับชัยชนะที่แต่ละฝ่ายได้มา

อาจเป็นเพราะผมเรียนมาทางด้านพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และเคยทำงานในหน่วยงานวางแผนทางด้านนี้เป็นเวลายาวนานพอสมควร ทำให้มีประสบการณ์พอจะกล่าวได้ว่า ในยามที่ประเทศสงบร่มเย็นผู้คนรักใคร่สามัคคีกันอย่างดียิ่งนั้น การพัฒนาประเทศของเราในทุกๆ ด้านจะเป็นไปโดยราบรื่น

โดยเฉพาะในช่วงเวลา 8 ปีที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งแม้จะอยู่ในระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบและมีกลิ่นอายของเผด็จการอยู่ด้วยบางส่วน แต่เนื่องจากประชาชนในยุคนั้นยอมรับ จึงไม่มีความขัดแย้ง มีแต่ความรักใคร่กลมเกลียวอย่างยิ่ง

ทำให้การพัฒนาประเทศในห้วงเวลาดังกล่าวก้าวหน้าเป็นอย่างดียิ่ง และถือเป็นยุคทองยุคหนึ่งของการพัฒนาประเทศไทย

แต่หลังจากนั้นมาเราก็ลุ่มๆ ดอนๆ กันมาตลอด เมื่อประเทศไทยเรามีการทะเลาะเบาะแว้งไม่หยุดหย่อน มีการแบ่งสี มีการเผชิญหน้าจนทำให้ต้องกลับเข้าสู่ระบบเผด็จการเต็มใบอีกครั้ง

ครั้นกลับเข้าสู่ประชาธิปไตยครึ่งใบอีกหน ก็ไม่ใช่ “ครึ่งใบ” ที่ประชาชนยอมรับแบบยุคป๋าเปรม ในที่สุดก็เกิดทะเลาะเบาะแว้งอีกจนได้

มิหนำซ้ำยังเป็นการ “ทะเลาะ” ที่น่าวิตกอย่างยิ่ง เพราะมิใช่เป็นการทะเลาะระหว่างคนไทยระนาบอายุเดียวกัน หากแต่เป็นการทะเลาะระหว่างคนกลางคนขึ้นไปจนถึงผู้สูงอายุกับคนรุ่นใหม่ของประเทศ

ที่น่าตระหนกไปกว่านั้นก็คือประเด็นหลักของการคิดต่างที่นำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งนั้น…กลายเป็นประเด็นที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และไม่น่าเชื่อเลยว่าจะเกิดขึ้นได้ในแผ่นดินไทยของเรา

เป็นประเด็นที่ “เปราะบาง” อย่างยิ่ง ซึ่งหากปล่อยให้คาราคาซังต่อไป ผมไม่แน่ใจว่าจะนำไปสู่การเผชิญหน้าที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์หรือไม่

ผมจึงเห็นด้วยกับการหา “ทางออก” ให้กับการเผชิญหน้าครั้งนี้ อยากให้ทั้ง 2 ฝ่าย (หรือมากกว่า 2 ฝ่าย) หันหน้าเข้าหากันและพูดคุยกัน เอาเหตุเอาผลมาถกกัน

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงเห็นด้วยอย่างยิ่งกับแนวทางที่ท่านประธานรัฐสภา ชวน หลีกภัย ท่านกำลังดำเนินการอยู่คือการเตรียมการแต่งตั้ง คณะกรรมการสมานฉันท์ ขึ้นตามข้อเสนอแนะของการประชุมรัฐสภาในการประชุมสมัยวิสามัญที่ผ่านมา

เห็นด้วยกับความพยายามที่ท่านติดต่อทาบทามอดีตนายกฯ หลายๆ ท่านให้มาร่วมเป็นกรรมการด้วย และขณะเดียวก็หาทางที่จะให้ทุกฝ่ายที่มีความเห็นขัดแย้งเข้ามาอยู่ในกรรมการเพื่อหาทางออกร่วมกัน

แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงไม่เห็นด้วย มีการติเรือทั้งโกลนจากบุคคลบางกลุ่มบางเหล่า โดยเฉพาะ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ก็เอากับเขาด้วยในการออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง

แต่ผมก็ยังเห็นว่าควรเริ่มขึ้นและควรเดินหน้าต่อไป…พร้อมกับขอให้กำลังใจท่านประธานรัฐสภา และขอขอบคุณอดีตนายกรัฐมนตรีต่างๆ ที่มีข่าวว่าตอบรับแล้ว

อย่าเพิ่งไปคิดว่านี่คือ “ฟาง” ที่ลอยมาในลำนํ้า…จะมีประโยชน์อะไรที่คนใกล้จะจมนํ้าว่ายไปเกาะ เพราะรังแต่จะจมไปด้วยเสียเปล่าๆ

อย่าลืมว่า “ฟาง” หลายเส้นรวมกันเป็นมัด มามัดใหญ่ๆ พอสมควร ก็ลอยนํ้าได้นะครับ และเป็น “ชูชีพ” ช่วยชีวิตคนใกล้จมนํ้าได้เช่นกัน

ล่าสุด แม้จะมีข่าวว่าน้องๆ แกนนำผู้ประท้วงออกมาแถลงว่าจะไม่เข้าร่วมสังฆกรรมใดๆ กับกรรมการชุดนี้ แต่ผมก็ยังเห็นว่าควรเดินหน้าต่อไป

อย่างน้อยก็เพื่อหาจุดยืนร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งก็ยังมีความขัดแย้งกันอยู่เยอะในขณะนี้ไว้เป็นแนวทางเจรจากับกลุ่มน้องๆ เผื่อว่าจะเปลี่ยนใจว่างั้นเถอะ.

“ซูม”

ความสมานฉันท์, ประชาธิปไตย, ประเทศไทย, ซูมซอกแซก