เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ออกมาแถลงถึงผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่าย ของประชาชนชาวไทยในช่วงเทศกาลกินเจปีนี้ว่า จะไม่คึกคักมากนัก
แม้ตัวเลขเงินหมุนเวียนต่างๆ จะยังเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว แต่ก็เพิ่มขึ้น เพียง 0.9 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าเป็นอัตราเพิ่มที่ต่ำสุดในรอบ 13 ปี นับแต่มี การสำรวจเป็นต้นมา
ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์ฯ กล่าวว่า เม็ดเงินค่าใช้จ่ายตลอดเทศกาลกินเจปีนี้ คือระหว่างวันที่ 17-25 ตุลาคม 2563 นั้น จะอยู่ที่ประมาณ 46,967 ล้านบาท
เทียบกับปีที่แล้วซึ่งมียอดค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 46,549 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าเพิ่มขึ้นมาเพียงนิดเดียว คือ 0.9 เปอร์เซ็นต์ อย่างที่ว่า
เหตุผลหลักๆ ที่ผู้คนจะกินเจกันอย่างกร่อยๆ ไม่คึกคักเท่าไรนักในปีนี้ก็มาจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย ที่ถดถอยลงไป อย่างมาก เพราะพิษสงโควิด-19 นั่นเอง
ทำให้คนไทยหันมาประหยัดในทุกๆ ด้าน เพื่อที่จะเก็บเงินไว้ใช้จ่ายในเรื่องที่จำเป็นมากกว่า
ขณะเดียวกัน คนไทยจำนวนไม่น้อยที่ตกงานหรือถูกเลิกจ้าง หรือพ่อค้าแม่ขายหรือนักธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม ซึ่งก็มีจำนวนมากต่างมีปัญหาเรื่องผลิตผลขายไม่ออก ก็ต้องหันมาประหยัดเช่นเดียวกัน
ประกอบกับอาหารเจปีนี้ก็มีแนวโน้มแพงขึ้นด้วย เป็นอีกเหตุผล หนึ่งที่จะทำให้เทศกาลกินเจ 2563 ไม่คึกคักเหมือนปีก่อนๆ
ดร.ธนวรรธน์กล่าวด้วยว่า การซบเซาของเทศกาลกินเจปีนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนกันยายน ที่ลดลงทุกรายการเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน นับตั้งแต่รัฐบาลเริ่มคลายล็อกดาวน์เป็นต้นมา
เช่น ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 42.9, ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวมอยู่ที่ 48.2 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตก็อยู่ที่ 59.4
ทั้งหมดปรับลดลงทุกรายการ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมปรับลดลงจาก 51.0 เป็น 50.2
ดร.ธนวรรธน์ให้เหตุผลว่า ที่ความเชื่อมั่นออกมาติดลบเช่นนี้ เนื่องจากผู้บริโภคจำนวนมากมีความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองไทย หลังจากมีการชุมนุมทางการเมืองหลายครั้งในเดือนกันยายน และการลาออกของ รมว.คลัง ที่เป็นข่าวใหญ่ในเดือนเดียวกัน
รวมทั้งยังกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า และการว่างงานที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากผลกระทบของโควิด-19 อีกด้วย
ผมเห็นด้วยกับผลสำรวจครั้งนี้ครับ เพราะโดยส่วนตัวเท่าที่ผมสังเกตจากบรรยากาศทั่วไป และจากการพูดคุยกับพ่อค้าแม่ขายจำนวนหนึ่ง ก็พบคำตอบที่คล้ายคลึงกับที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยสำรวจมา เพียงแต่ไม่ออกมาเป็นตัวเลขที่ชัดเจนเท่านั้น
ผมถึงได้เขียนไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า บัดนี้เราได้รัฐมนตรีเศรษฐกิจครบถ้วนแล้ว โดยเฉพาะรัฐมนตรีคลัง ที่มีการลาออกจนก่อให้เกิดความวิตกกังวลนั้น เราก็ได้คนใหม่ที่ถือว่ามีฝีไม้ลายมือไม่เบามาแทนเรียบร้อย
ขอให้รัฐบาลเริ่มต้นเดินหน้าการฟื้นฟูอย่างเต็มสูบเพื่อให้กลไกทางเศรษฐกิจทุกด้าน กลับมาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนความกังวลของประชาชนที่สำคัญยิ่งอีกข้อหนึ่ง ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวไว้ อันได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพการเมืองไทย อันเนื่องมาจากการชุมนุมที่เกิดขึ้นหลายครั้งในเดือนกันยายนนั้น
ผมก็หวังว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะเบาลงนะครับ ในเดือนตุลาคมหรือเดือนนี้ และขอฝากไปถึงนักชุมนุมทั้งหลายด้วย
หากจะชุมนุม หรือจะแสดงออกทางการเมืองก็ขอให้ว่ากันเบาๆ และอยู่ในขอบเขตของกฎหมายเท่านั้นเถิด
ถึงแม้กลไกเศรษฐกิจทั้งหมดจะทำงานอย่างเต็มที่แค่ไหน แต่ถ้าบรรยากาศทางการเมืองไม่เอื้อ ยังเต็มไปด้วยการประท้วงและเรื่องวุ่นวายต่างๆ คงยากครับที่เศรษฐกิจไทยโดยรวมจะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
หวังว่าวันที่ 14 ตุลาคมที่จะถึงนี้ คงไม่มีอะไรน่าวิตกนะครับ พวกเราชาวบ้านจะได้หายกังวลและหันมากินเจตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 25 ตุลาคมมากขึ้น
อันจะเป็นผลทำให้ตัวเลขค่าใช้จ่ายในเทศกาลกินเจปีนี้เพิ่มสูงขึ้น…ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้มากกว่าที่คาดไว้
ขอบคุณล่วงหน้านะครับ สำหรับการชุมนุมที่สงบเรียบร้อยและไม่เกิดผลกระทบซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย.
“ซูม”