โล่งอกไปเปลาะหนึ่งครับสำหรับเหตุการณ์การชุมนุมใหญ่ที่นำโดยกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งเริ่มจากมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์แล้วออกมาปักหลักที่ท้องสนามหลวง เมื่อก่อนเที่ยงวันเสาร์ที่ 19 กันยายน ต่อเนื่องมาจนถึงเช้าวันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน
ที่ผมใช้คำว่า “โล่งอก” ก็เพราะการชุมนุมจบลงด้วยดี แม้จะใช้เวลาข้ามคืนข้ามวันกว่า 20 ชั่วโมง แต่ไม่มีเหตุร้ายใดๆ เกิดขึ้น
ไม่มีการปะทะ ไม่มีเลือดตกยางออก…สมดังคำอธิษฐานของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ รวมทั้งผมด้วย ที่ถึงขนาดปลงจนต้องร้องเพลง เคเซรา, เซรา Whatever Will be, Will be ไปเมื่อวานนี้
เมื่อเคเซรา, เซรา หรืออะไรจะเกิด ก็ให้มันเกิด…กลายเป็นเกิดเรื่อง ที่ดีงาม ผมจึงรู้สึก “โล่งอก” อย่างที่เกริ่นไว้
ส่วนที่ใช้คำว่า “เปลาะหนึ่ง” ควบคู่ไปด้วย ก็เพราะเรื่องราวทั้งหลายทั้งปวงยังไม่จบแต่เพียงเท่านี้ครับ…ยังมีหลายๆ เปลาะ และล้วนเป็นเรื่องสำคัญยิ่งทุกเปลาะ
รวมไปถึง “เปลาะ” ที่สำคัญที่สุด และอ่อนไหวที่สุด
ลำพังเรื่องจะปลดแอกเผด็จการจะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญตัดขั้วอำนาจเผด็จการ หรือแม้แต่จะยื่นคำขาดให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกไป ฯลฯ นั้น ผมเชื่อว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยคงเห็นด้วย
เพราะโดยหลักการประชาธิปไตยย่อมดีกว่าเผด็จการ…และยิ่งเป็นเผด็จการที่ยาวนาน มีนายกฯ คนเดียวมาถึง 6 ปี ความเบื่อหน่ายของประชาชนย่อมจะมีมากขึ้น
แต่เรื่องที่เกินเลยไปกว่าประเด็นนี้ ที่แกนนำได้อภิปรายในช่วงกลางคืน รวมทั้งได้ยื่นจดหมายผ่านผู้บัญชาการตำรวจนครบาลไปถึงประธานองคมนตรีนั้น ผมคิดว่าคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศนี้จะไม่มีวันยอมพวกคุณอย่างแน่นอน
นอกจากไม่ยอมแล้ว หากกลุ่มผู้ชุมนุมโดยเฉพาะแกนนำที่ทั้งหมดเป็นเยาวชนยังคงเดินหน้าที่จะกดดันในเรื่องนี้ต่อไปอีก
ผมหวั่นเหลือเกินว่าความอดทน อดกลั้น ของคนกลุ่มที่ผมกล่าวถึงและแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนตลอดการชุมนุมครั้งนี้จะหมดสิ้นลง
เป็นเหตุให้ผมใช้สำนวนว่า “โล่งใจไปเปลาะหนึ่ง”…แทนที่จะใช้คำว่า “โล่งใจ” หรือ “สบายใจ” อย่างเต็มที่ด้วยประการฉะนี้
อะไรไม่อะไร ที่ผมกลัดกลุ้มจนถึงขั้นวิตกอย่างยิ่ง และยังมองไม่เห็นทางออก ก็ในประเด็นที่ว่าความเห็นต่างจนเป็นเหตุแห่งการเผชิญหน้าครั้งนี้นั้น มิใช่เรื่องของขวากับซ้าย หรือสีแดงกับสีเหลืองอย่างในอดีตเสียแล้วซีครับ
เพราะถ้าเป็นขวากับซ้าย หรือแดงกับเหลือง ยังเป็นเรื่องของคน “วัยเดียวกัน”…เวลาเผชิญหน้าหรือถกเถียงกัน อย่างเก่งก็เป็นเรื่องของเพื่อนกับเพื่อน หรือถ้าเป็นครอบครัวเดียวกัน ก็ระหว่างพี่กับน้อง หรือไม่ก็ผัวกับเมีย
แต่ครั้งนี้กลับกลายเป็นความขัดแย้งของพ่อแม่กับลูกๆ หรือปู่ ย่า ตา ยาย กับหลานๆ…ต่างวัย ต่างเจน ไปเสียแล้ว…
เพื่อนกับเพื่อนทะเลาะกัน ยังไปหาเพื่อนใหม่เอาข้างหน้าได้พี่กับน้องทะเลาะกันก็มีเยอะแยกไปอยู่คนละบ้านก็จบ หรือผัวเมียทะเลาะกันปกติก็ทะเลาะอยู่หลายๆ คู่ ถ้าไปไม่ไหวจริงๆ ก็แยกทาง
แต่พ่อแม่ทะเลาะกับลูก หรือปู่ ย่า ตา ยาย ขัดใจกับหลานๆ มันเป็นอีกภาพหนึ่งเลย ภาพที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทยก็ว่าได้
เท่าที่ผมสังเกตจากการชุมนุมครั้งนี้ผมว่าแค่ 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นเยาวชนหรือเป็นนิสิต นักศึกษาและนักเรียน อีก 70 เปอร์เซ็นต์ น่าจะเป็นกลุ่มสีแดงเก่าหน้าคุ้นๆ เยอะเลย
ถ้าข้อสังเกตของผมไม่ผิด…ก็ยังพอมีความหวังอยู่บ้างครับ ลูกใครหลานใครช่วยเปิดอกคุยกันหน่อย…ปลดแอกแค่ประยุทธ์ได้ไหม? แต่จะปลดแอกหรือปฏิรูปอะไรมากกว่านั้นเห็นแก่พ่อแก่แม่เถอะลูก…เผื่อบางทีลูกๆ เยาวชนจะเข้าใจ และเห็นใจพ่อแม่ขึ้นมาบ้าง
สรุปของสรุปก็คือ ผมยังห่วงเหตุการณ์ข้างหน้าอยู่ครับ และก็ฝากความหวังไว้กับพ่อแม่ผู้ปกครองของเยาวชนรุ่นหลังขอให้ช่วยกันกล่อมหรือจูงใจลูกๆ จนประสบผลสำเร็จได้ในที่สุด
เพื่อให้ประเทศไทยของเราเดินหน้าต่อไปอย่างจีรังยั่งยืน ด้วยความสุขความสงบและยึดมั่นใน “3 สถาบันหลัก” ตราบกาลนิรันดร์.
“ซูม”