ผมมีความจำเป็นต้องเขียนต้นฉบับวันนี้ล่วงหน้า จะเขียนเรื่องที่เข้ากับเหตุการณ์คงจะยากหน่อย เพราะเหตุการณ์ยังไม่เกิด ขณะที่ผมเขียนต้นฉบับนั้น ยังเป็นคืนวันศุกร์ที่ 18 กันยายนอยู่ครับ…ส่วนเหตุการณ์ใหญ่ว่าด้วยการชุมนุมของแกนนำนักศึกษาธรรมศาสตร์จะเกิดขึ้นในเช้าวันเสาร์ที่ 19 กันยายน
ผมก็ได้แต่หวังว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้ว ทุกอย่างคงจะผ่านไปด้วยดี การชุมนุมเป็นไปอย่างสงบและสันติ ฝ่ายเจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็เต็มไปด้วยความอดทนอดกลั้น
ไม่มีการปะทะ ไม่มีเลือดตกยางออกใดๆ นะครับ
ทุกครั้งเวลาที่บ้านเมืองของเราตกอยู่ในภาวะเคร่งเครียด มีการเผชิญหน้าระหว่าง 2 ฝ่าย หรือหลายฝ่ายนั้น…สิ่งที่ประชาชนทั่วๆ ไป ซึ่งไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดมักจะทำก็คือ นั่งสมาธิ ทำจิตให้สงบ แล้วก็สวดมนต์ภาวนา
ภาวนาขอให้เหตุการณ์ผ่านไปด้วยดี ไม่มีเรื่องร้ายแรง ไม่มีการสูญเสียใดๆ อย่างที่ผมฝากความหวังไว้ในเหตุการณ์ครั้งนี้แหละครับ
เพราะเวลาที่คนเราขัดแย้งกันนั้น มักจะไม่ฟังเหตุ ฟังผล
ใครจะไปห้ามปราม หรือชี้แจงอย่างไรก็มักไม่ฟัง
ดังนั้น อีกคำพูดหนึ่งของคนกลางๆ หรือประชาชนทั่วไปที่เรามัก ได้ยินบ่อยๆ ก็คือ “อะไรจะเกิด มันก็ต้องเกิด”
อันเป็นคำพูดที่เปล่งออกมาพร้อมกริยาอาการที่แสดงถึงความ ปลงตก เพราะหมดหนทางที่จะไปแก้ไข ไปห้ามปรามอะไรแล้ว
ตรงกับสำนวนที่ว่า Whatever Will Be, Will Be ในภาษาอังกฤษนั่นเอง
ผมเชื่อว่าในเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในวันเสาร์ที่ 19 กันยายน (กว่าต้นฉบับจะลงพิมพ์คงเกิดไปเรียบร้อยแล้ว) ก็คงจะมีผู้คนจำนวนมากที่จะนั่งปลงและอุทานวลีนี้ปลอบใจตัวเองทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
ทำให้ผมนึกขึ้นมาได้ว่า เรื่องที่ผมจะเขียนได้อย่างเข้าเหตุการณ์ขณะนี้ก็คือ คำปลอบใจที่ว่านี้แหละครับ โดยเฉพาะในภาษาอังกฤษเคยเป็นวลีที่ฮิตมากสมัยผมเป็นเด็ก
ในยุคที่ผมยังนุ่งกางเกงขาสั้นอยู่นั้น มีเพลงสากลฮิตมากอยู่เพลงหนึ่ง ขับร้องโดย ดอริส เดย์ นางเอกภาพยนตร์ฮอลลีวูดชื่อดังของยุคโน้น
เธอร้องในภาพยนตร์เรื่อง “The Man who Knew to much” ภาพยนตร์ตื่นเต้นสยองขวัญของอัลเฟรด ฮิตช์คอก เมื่อปี 2500 ต้นๆ
มีเนื้อร้องท่อนหนึ่งว่า Whatever Will Be, Will Be แล้วก็มีสร้อยตามด้วยภาษาแปลกๆ เขียนว่า Que Sera, Sera หรือ เค เซรา, เซรา
เนื้อหาของเพลงจะเป็นการสนทนาระหว่างเด็กกับแม่ โดยเด็กจะถามแม่ในหลายๆ เรื่องเช่นว่า หนูโตขึ้นจะรวยไหม? จะสวยไหม?
แม่ก็จะตอบว่า Que Sera, Sera whatever will be, will be
The future’s not ours, to see
What will be, will be
Que Sera, Sera
ซึ่งมีผู้แปลไว้ว่า “อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด อนาคตนั้นไม่ใช่สิ่งที่เราจะมองเห็น อะไรจะเกิดมันก็จะเกิดไปของมันเอง”
ที่ถกเถียงกันมากก็คือ คำว่า Que Sera, Sera เป็นภาษาอะไร? มีคนบอกว่ามาจากภาษาสเปนแน่ๆ เลย เพราะจำได้ว่าคนสเปนเคยใช้
แต่ชาวฝรั่งเศสก็จะเถียงว่า…ไม่ใช่สเปนหรอก…ฝรั่งเศสต่างหาก คนฝรั่งเศสใช้คำนี้มานานแล้ว
หรือคนอิตาลีก็บอกว่า ในภาษาอิตาเลียนก็มีคำว่า Che Sara, Sara ต้องเป็นภาษาอิตาเลียนแน่ๆ เลย
ขณะเดียวกันก็มีผู้ชี้แจงว่า ไม่ใช่หรอก เป็นภาษาอังกฤษแท้ๆ ต่างหากล่ะ
แต่เป็นภาษาอังกฤษโบราณมาก คำพูดที่คล้ายภาษาสเปนนั้น จารึกอยู่ที่โบสถ์เก่าแก่ของอังกฤษแห่งหนึ่งตั้งแต่ ค.ศ.1559, คำพูดที่คล้ายอิตาลีก็อยู่ที่หลุมฝังศพของขุนนางอังกฤษคนหนึ่งเมื่อปี 1555 และในบทละครของนักประพันธ์อังกฤษชื่อคริสโตเฟอร์ มาร์โลว์ ก็ใช้วลีนี้ตั้งแต่ ค.ศ.1550 แล้ว
ล่าสุดมีการเฉลยว่า ผู้ประพันธ์เพลงนี้ยอมรับว่าเอามาจากภาษาอิตาลี แต่เปลี่ยนมาเขียนแบบสเปน เพราะโลกนี้มีคนพูดภาษาสเปนมากกว่า
ครับ! ที่มาของเค เซร่า, เซรา จึงเป็นดังนี้แล
ขอเชิญร้องกันได้เลยครับท่านผู้อ่านที่ใจคอตุ๊มๆ ต่อมๆ กับเหตุการณ์ปัจจุบัน…“Que Sera, Sera…whatever will be, will be”.
“ซูม”