“เศรษฐกิจ” ปีนี้หนักมาก วอน “การเมือง” อย่าซํ้าเติม

ถึงแม้จะแถลงช้ากว่าเจ้าอื่นเขาบ้างนิดหน่อย แต่ในแง่ความเชื่อถือใครๆ ก็รอคอยเจ้านี้ในฐานะเจ้าตำรับการจัดทำจีดีพี หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของประเทศไทย ตัวจริงเสียงจริง

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือที่รู้จักกันในชื่อเรียกสั้นๆ ว่า “สภาพัฒน์” นั่นแหละครับ

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ท่านเลขาธิการสภาพัฒน์ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ของปีนี้ (2563) สรุปได้ว่า เฉพาะไตรมาสดังกล่าว จีดีพีของไทยเราหดตัวลงไปถึง 12.2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นับเป็นการหดตัวที่มากที่สุดในรอบ 22 ปี นับจากปี 2541 ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่หดตัวไปประมาณ 12.5 เปอร์เซ็นต์

สำหรับการคาดการณ์ตลอดทั้งปี 2563 นั้น สภาพัฒน์ประมาณไว้ว่าจะอยู่ระหว่าง -7.3 เปอร์เซ็นต์ ถึง -7.8 เปอร์เซ็นต์ มีค่ากลางอยู่ที่ -7.5 เปอร์เซ็นต์

มากกว่าที่คาดไว้เมื่อตอนมาแถลงจีดีพีไตรมาสแรกพอสมควร เพราะช่วงดังกล่าวคาดไว้ว่า น่าจะอยู่ที่ -5 หรือ -6 เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การจะประคองให้เศรษฐกิจไทยทั้งปีติดลบที่ค่ากลาง 7.5 ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไปที่สำคัญถึง 5 ข้อ ได้แก่ ข้อแรก การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก จะสามารถจำกัดวงได้ภายในไตรมาส 4 ของปีนี้

ข้อสอง ความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐฯ ต้องไม่บานปลายมากกว่านี้ ข้อสาม วิกฤติเศรษฐกิจต้องไม่ก่อให้เกิดวิกฤติเอ็นพีแอลนำไปสู่วิกฤติการเงิน ข้อสี่ เศรษฐกิจโลกหดตัวร้อยละ 4.5

รวมถึง ข้อห้า สถานการณ์ภัยแล้งในประเทศต้องไม่รุนแรงจนเกินไป จนกระทบกับภาคการผลิตในภาคเกษตร

ล้วนแต่เป็นเงื่อนไขที่อยู่เหนือการควบคุมของประเทศไทย รัฐบาลไทย หรือคนไทยแทบทุกข้อ เพราะฉะนั้นก็ต้องลุ้นกันต่อไปว่า อะไรจะผิดไปจากที่สภาพัฒน์วางไว้เป็นเงื่อนไขบ้าง

ถ้าผิดในทางที่ดี การติดลบอาจไม่ถึง 7.5 แต่ถ้าผิดในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ประเทศละก็ จีดีพีของเราอาจจะลบมากกว่า 7.5 ทันที

นอกจากเงื่อนไขเหล่านี้แล้วท่านเลขาธิการทศพรยังเสนอแนะรัฐบาลว่าต้องให้ความสำคัญแก่การบริหารเศรษฐกิจใน 8 ประเด็นหลักเช่น การขับเคลื่อนการส่งออก การดูแลภาคการเกษตร การขับเคลื่อน การใช้จ่ายภาครัฐ ฯลฯ เป็นต้น

แต่ประเด็นที่ผมติดใจ ขอแยกออกมาแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมในวันนี้ก็คือ ประเด็นบรรยากาศการเมืองในประเทศ ที่ท่านเลขาธิการกล่าวว่า

“จำเป็นต้องรักษาบรรยากาศทางการเมืองในประเทศเพื่อมิให้กระทบซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจและเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังเป็นไปอย่างช้าๆ และไม่แน่นอนสูง”

เป็นข้อเสนอแนะที่ยากต่อการปฏิบัติเช่นกัน แต่ก็ถูกต้องแล้วที่ต้องเสนอไว้ และขอบคุณหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่หยิบประเด็นนี้ขึ้นมาพาดหัวติงนักการเมืองทุกๆฝ่าย

ในฐานะคนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนาน ผมเห็นด้วยกับท่านเลขาธิการสภาพัฒน์ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า ถ้าการเมืองไม่นิ่งและเดินหน้าไปสู่ความวุ่นวายแล้วละก็ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจจะทำได้ยากมาก

จะผลักดันโครงการอะไรก็ตาม ทางภาครัฐก็ยากที่จะสำเร็จ ขณะเดียวกันทางภาคเอกชน หรือนักลงทุนเองก็ขาดความเชื่อถือเชื่อมั่นในสถานการณ์ ไม่กล้าควักเงินออกมาลงทุน

ที่สำคัญในข้อเท็จจริง ทุกครั้งที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ผู้คนตกงานจำนวนมาก ย่อมนำไปสู่ความอดอยาก ความขาดแคลน ความหิวโหย ทำให้อารมณ์พลุ่งพล่านพร้อมที่จะโกรธทุกสิ่งทุกอย่างอยู่แล้ว

หากนักการเมืองบางกลุ่ม บางเหล่าไร้จริยธรรมทางการเมือง หวังเอาชนะคะคานอย่างเดียว หันมาใช้ประชาชนที่ว่างงาน ตกงาน เป็นเครื่องมือ ก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้นไปอีก

คำเตือนให้นักการเมืองระมัดระวังไม่ให้เกิดความวุ่นวายทางการเมือง ของสภาพัฒน์ ที่แถมมาด้วยนั้นจึงเป็นเรื่องที่ถูกต้อง

ก็ขอฝากให้นักการเมืองทั้งหลายรับฟังข้อเสนอแนะข้อนี้และกรุณารับไปปฏิบัติกันด้วยจะขอบคุณอย่างยิ่ง

สรุปเงื่อนไขที่ท่านเลขาฯ สภาพัฒน์แถลงไว้เยอะจริงๆ แล้วก็ยากเสียด้วย ผมละห่วงว่าที่บอกจะหด 7.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็เยอะอยู่แล้วนั้น เอาเข้าจริงๆ จะหดมากกว่าน่ะซีครับ…จะไหวไหมเนี่ย บิ๊กตู่?

“ซูม”

เศรษฐกิจไทย, การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ, ภาวะเศรษฐกิจถดถอย, ซูมซอกแซก