ช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา คุณปู่ชวนเที่ยวใกล้กรุงเทพแบบเที่ยงไป-เย็นกลับ อยุธยาเลยอยู่ในใจของเราค่ะ ไม่ใกล้ไม่ไกลจนเกินไป และเราก็ไม่ได้ไปทัวร์วัดแต่อย่างใด แต่เราไปกันที่ “เกาะเกิด” เพื่อชมงานศิลปะชิ้นสำคัญของแผ่นดิน และเป็นการเที่ยวแบบนิวนอร์มอลคือต้องใส่แมสตลอดเวลา
เกาะเกิดที่กล่าวถึงเป็นที่ตั้งของ “พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน” และ “ศูนย์เรียนรู้เรื่องโขน” โดยสถาบันสิริกิติ์ได้คัดสรรผลงานบางส่วนที่เคยจัดแสดงที่พระที่นั่งอนันตสมาคมมาจัดแสดงไว้

พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน
ที่นี่พื้นที่กว้างขวางราว 2,000 ไร่ จึงมีรถรางรับส่งจากลานจอดรถไปยังอาคารต่างๆ ซึ่งสองข้างทางเขียวขจีด้วยพันธุ์ไม้และทุ่งนาเกษตรผสมผสานตามแบบฉบับเศรษฐกิจพอเพียง
จุดแรกที่ไปคือ “ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว” เพื่อซื้อบัตรเข้าชม หลังจากผ่านจุดคัดกรองโควิดแล้ว เราจะเห็นผลงานไม้แกะสลักฉากจำหลักไม้ตำนานเพชรรัตน์เด่นเป็นตระหง่าน ด้านหลังฉากเป็นเคาน์เตอร์จำหน่ายบัตรเข้าชมค่ะ
ถ้าจะเข้าชม “พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน” ต้องฝากสิ่งของต้องห้ามไว้ในตู้อะคริลิกใสบริเวณหลังเคาน์เตอร์ก่อน โดยห้ามนำสิ่งของใดๆ เข้าไป ไมว่าจะเป็น กระเป๋าขนาดใหญ่ โทรศัพท์มือถือ กล้องถ่ายรูป กล้องวีดีโอ หมวก อาหาร เครื่องดื่ม หรือพูดง่ายๆ ก็คือนำเข้าไปได้แต่กระเป๋าสตางค์ค่ะ เพราะฉะนั้นไม่สามารถถ่ายรูปได้ค่ะ
พิพิธภัณฑ์จะเป็นอาคาร 2 ชั้น ติดกับศูนย์บริการฯ พอไปถึงก็แสดงบัตรเข้าชม พร้อมรับอุปกรณ์บรรยายด้วยนะคะ เป็นเครื่องคล้ายๆ โทรศัพท์ พอกดเลขที่บอกอยู่ข้างชิ้นงานใส่เข้าไปก็จะมีข้อมูลเล่าให้ฟัง มีให้เลือกได้หลายภาษา หรือหากมีข้อสงสัยซักถาม ก็มีเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังคอยบรรยายเพิ่มเติมค่ะ ซึ่งข้อมูลแน่นมากๆ
ผลงานที่เด่นๆ ที่จัดแสดงอยู่ชั้นล่าง ได้แก่ ผลงานจากปีกแมลงทับ การลงยาสีเรือพระที่นั่งจำลอง งานแกะสลักไม้เรื่อง สังข์ทอง และ ป่าหิมพานต์ ส่วนชั้นบนจัดแสดงฉากปักไหมน้อยเรื่อง อิเหนา บุษบกต่างๆ จักสานย่านลิเภา เครื่องเงินเครื่องทองขนาดใหญ่ ที่มีลายละเอียดสูง
หลังจากเดินชมงานศิลป์แผ่นดินเสร็จ ก็มาจบที่ร้านขายของที่ระลึก สามารถเลือกซื้อของที่ระลึก หรือแวะพักที่คาเฟ่ด้านล่าง มีเครื่องดื่ม ไอศกรีม เบเกอรี่ และขนมไทยจำหน่ายค่ะ
พอแวะทานน้ำให้ชื่นใจสักประเดี๋ยวพวกเราก็นั่งรถรางไปเที่ยวกันต่อที่ “อาคารเรียนรู้เรื่องโขน” ก่อนเข้าก็ต้องผ่านจุดคัดกรองอีกเช่นเคย แล้วก็ขึ้นลิฟต์ไปส่วนแสดงชั้นบนได้เลยค่ะ ซึ่งเมื่อลิฟต์ขึ้นถึงชั้นบน ประตูลิฟต์เปิดออกมาก็จะพบกับมีรูปปั้นพระนารายณ์ทรงครุฑตั้งตระหง่านสวยงามมาก ซึ่งที่อาคารนี้สามารถถ่ายรูปได้ค่ะ
เราแวะชมวีดีทัศน์เรื่องโขนก่อนเดินชมนิทรรศการ ภายในห้องแรกได้จัดแสดงสำเภาหลวงลงกาและนางผีเสื้อสมุทร
ถัดไปเป็นห้องพัสตราภรณ์ จัดแสดงเครื่องแต่งกายโขน ชมการสาธิตปักสะดึงเพื่อใช้ประกอบชุดโขน ซึ่งผ้า 1 ชิ้นใช้เวลาปักประมาณ 2-3 เดือน 1 ชุดใช้ผ้ามาประกอบกัน 10 ชิ้น นั่นหมายความว่า ถ้าให้ช่างปัก 1 คน ต้องใช้เวลาปักผ้าชุดโขนขั้นต่ำชุดละ 2 ปีเลยทีเดียวค่ะ
เดินต่อไปอีกหน่อยก็จะเจอเจ้าหน้าที่กำลังทอผ้ากันอยู่ ออนเซนปีนขั้นบันไดไม้ไปชมการทอผ้ายกเนินธัมมัง ซึ่งต้องใช้ถึง 5 คนในการทอผ้าสำหรับเครื่องแต่งกายโขน สูงถึงเกือบตึก 2 ชั้นเลยค่ะ โดย 1 วันจะทอได้แค่ 3 ซม. เท่านั้นเองค่ะ พิถีพิถันทุกขั้นตอนจริงๆ
นอกจากนี้ยังมีการสาธิตการลงสีและปิดทองหัวโขน ซึ่งออนเซนชอบมาก เจ้าหน้าที่ใจดีอนุญาตให้จับชิ้นงานที่กำลังทำได้ค่ะ และยังไปเอาก้อนหินที่สำหรับมาบดเพื่อใช้เป็นสีในการระบายหัวโขนให้ดูด้วยค่ะ ออนเซนตื่นเต้นมากๆ ตรงบริเวณนี้
ใกล้ๆ กันมีสาธิตการทำกระดาษข่อย วิธีทำก็คล้ายๆ กับทำกระดาษสาค่ะ แต่ใช้เป็นต้นข่อยแทน เพราะเป็นวิธีการทำสมุดแบบโบราณ แต่ตากแค่ 2-3 ชั่วโมงก็แห้งแล้ว
ห้องถัดไปจะเป็นส่วนจัดแสดงฉากที่ใช้ในการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ในตอนต่างๆ ซึ่งไฮไลต์อยู่ที่ฉากหนุมานเนรมิตกาย ตอน สืบมรรคา และหนุมานอมพลับพลา ตอน ศึกมัยราพณ์ ซึ่งทั้ง 2 ฉากจะมีเจ้าหน้าที่คอยควบคุมการเคลื่อนไหวของหนุมานอยู่ค่ะ
เป็นครึ่งวันที่คุ้มจริงๆ ค่ะ ออนเซนชอบที่ได้เห็นสมบัติทางศิลปะชั้นสูงของไทย และได้เรียนรู้เบื้องหลังของการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ สนุกและได้ความรู้มากๆ เลยทีเดียวค่ะ
ป.ล. การเดินทางไป “ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด” สามารถขึ้นรถบัสจากถนนหน้าพระลานมายังเกาะเกิดได้ โดยมีรอบเดินรถเวลา 10:30 น. และ 12:00 น. (แต่ช่วงโควิดงดบริการรถบัสค่ะ)
พิกัด: เกาะเกิด อยุธยา
ค่าเข้าชม: แต่ละอาคาร 150 บาท, นักเรียน และผู้สูงอายุ 75 บาท, พระสงฆ์ คนพิการ และเด็กสูงน้อยกว่า 110 ซม. เข้าชมฟรี
เวลาทำการ: 10:00 – 15:30 น. (เปิดจำหน่ายบัตร 9:45 – 15:00 น.) *ปิดวันจันทร์ อังคาร เทศกาลปีใหม่ และสงกรานต์
รายละเอียดเพิ่มเติม: www.artsoftthekingdom.com และ FB page: อาคารเรียน-รู้-เรื่องโขน All-About-Khon