รพ.ธรรมศาสตร์ฯ วันนี้ ความภูมิใจของ “ลูกแม่โดม”

ทีมงานซอกแซกได้รับเอกสารข่าวเพื่อเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์จากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ฉบับหนึ่ง อ่านแล้วก็รู้สึกยินดีและปลาบปลื้มใจ ในฐานะที่เป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยแห่งนี้จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อในคอลัมน์ซอกแซกสัปดาห์นี้นะครับ

ประกอบกับหัวหน้าทีมซอกแซกได้ฝากเนื้อ ฝากตัวเป็นคนไข้ของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติด้วย เพิ่งจะแวะเวียนไปตรวจร่างกายเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้วนี่เอง ได้พบเห็นความเปลี่ยนแปลงอันน่าตื่นตาตื่นใจของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ จึงขอถือโอกาสนำมาเขียนผนวกไว้เสียด้วยในช่วงท้ายคอลัมน์

เรามาเริ่มด้วยข่าวประชาสัมพันธ์ที่น่าสนใจกันก่อนนะครับ สรุปข้อใหญ่ใจความได้ว่า เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีพิธีเปิด ห้องผ่าตัดอัจฉริยะ หรือ Hybrid Operation Room ชนิด Biplane ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพที่สุดในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ว่าได้

เพราะเป็นห้องผ่าตัดที่นำเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือด 2 ระนาบ ที่มีประสิทธิภาพสูงมาติดตั้งร่วมกับเตียงผ่าตัด และสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างสอดประสานกันและสมบูรณ์แบบ

จะช่วยให้การรักษาโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือด เช่น หลอดเลือดโป่งพอง หลอดเลือดอุดตัน หลอดเลือดขอด ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของสมอง หัวใจ หรือหลอดเลือดต่างๆ ทั่วร่างกาย ซึ่งอาจจะต้องมีการผ่าตัดด้วยนั้น สะดวกสบายและปลอดภัยมากขึ้น

มูลค่าการก่อสร้างห้องผ่าตัดระบบไฮบริด รวมทั้งมูลค่าเครื่องมือที่ทันสมัย รวมกันประมาณ 70 ล้านบาท ได้รับงบประมาณส่วนหนึ่งจากการรับบริจาคในงาน “คืนสู่เหย้าชาวเหลืองแดง” เนื่องในวันธรรมศาสตร์ 10 ธันวาคม 2560 อันเป็นวาระฉลอง 30 ปี โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ รวม 33 ล้านบาท ที่เหลือจากนั้นจะใช้งบประมาณของโรงพยาบาลประจำปี 2563 มาสมทบต่อไป

โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้รับการโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามจากในหลวงรัชกาลที่ 9 และเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2529 เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในมหามงคลสมัยที่ในหลวง ร.9 ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ

ต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์เพื่อทรงประกอบพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2531 และถือเป็นวันกำเนิดของโรงพยาบาลนับแต่นั้น

ด้วยระยะเวลาเพียง 32 ปีเศษ จากวันนั้นถึงวันนี้ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จากโรงพยาบาลเล็กๆ ที่มีวัตถุประสงค์เบื้องต้นจะรับรักษาพยาบาลนักศึกษาธรรมศาสตร์และประชาชนในเขตอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานีเท่านั้น แต่ในปัจจุบันได้กลายเป็น ที่พึ่งพาของชาว กทม.ด้านเหนือไปจนถึงจังหวัดปทุมธานีทั้งจังหวัด จนถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี สระบุรีอีกด้วย

จากอาคารเพียง 3-4 อาคารในปีแรกๆ ปรากฏว่าเมื่อหัวหน้าทีมซอกแซกไปตรวจร่างกายเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว ลองเดินไปรอบๆ และสอบถามเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลว่า เดี๋ยวนี้มีกี่ตึกหรือกี่อาคารแล้ว?…ได้รับคำตอบว่ามี 10 ตึก หรือ 10 อาคารพอดิบพอดี

สำหรับคนไข้ก็เพิ่มขึ้นอย่างเหลือเชื่อ จากวันละไม่กี่ร้อยคน กลายเป็นวันละ 2,000-3,000 คน ในปัจจุบันแน่นขนัดไปหมด

ในเอกสารรายงานประจำปี 2562 ซึ่งเป็นเอกสารชิ้นล่าสุดเท่าที่ทีมงานซอกแซกค้นหาได้รายงานว่า โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ตั้งเป้าว่าจะให้บริการเต็มที่ 820 เตียง ปัจจุบันให้บริการได้แล้ว 742 เตียง และมีอัตราครองเตียงร้อยละ 72.62 นับว่าสูงพอสมควรทีเดียว

ในแง่บุคลากรทางการแพทย์นั้น ตัวเลขในปี 2562 รวมทั้งสิ้น 666 คน แยกเป็นอาจารย์แพทย์ 265 คน แพทย์ใช้ทุน 89 คน แพทย์ประจำบ้าน 261 คน แพทย์ประจำบ้านต่อยอด 51 คน และพยาบาลรวมทั้งสิ้น 1,639 คน แยกเป็นพยาบาล 1,098 คน และผู้ช่วยพยาบาล 541 คน

เอกสารฉบับดังกล่าวระบุด้วยว่า โรงพยาบาล ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติในปัจจุบัน (ปี 2562) มีศูนย์ เป็นเลิศ ทางคลินิก หรือ Center of Excellence ถึง 5 ศูนย์

ได้แก่ ศูนย์ความเป็นเลิศโรคหลอดเลือดสมอง, ศูนย์ความเป็นเลิศเท้าเบาหวาน, ความ เป็นเลิศโรคภูมิแพ้ โรคหืดและโรคระบบหายใจ, ศูนย์หัวใจธรรมศาสตร์และศูนย์จอตา

รวมทั้ง Service Excellence อีก 4 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์ความเป็นเลิศโรคไต, ศูนย์ความเป็นเลิศข้อเข่าและสะโพกเสื่อม, TU Sport Medicine and Shoulder Center และศูนย์ระบบทางเดินหายใจแบบครบวงจร

ต่อมาในปี 2563 เมื่อประเทศไทยของเราต้องเผชิญกับการคุกคามของโควิด-19 โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติก็ระดมสรรพกำลังร่วมกับโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการให้บริการรักษาอย่างเข้มแข็ง และได้ปรับสภาพใช้พื้นที่บางส่วนเป็น โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ จนสามารถสกัดกั้นการระบาดของโควิด-19 ลงได้ดังผลงานโดยรวมของประเทศไทย อันเป็นที่ประจักษ์ของชาวโลกในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม หน้าที่ที่สำคัญที่สุดของโรงพยาบาลแห่งนี้ก็คือ การเป็นสถาบันเพื่อการเรียนการสอน การวิจัยและฝึกปฏิบัติของนักศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์และของแพทย์ใช้ทุน แพทย์ประจำบ้านทุกสาขา รวมทั้งนักศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพอื่นๆ อาทิ พยาบาลศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ รวมทั้งวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติ จุฬาภรณ์

นี่คือส่วนหนึ่งของความก้าวหน้าของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติในรอบ 32 ปีที่ผ่านมา…นับเป็นความ “ก้าวหน้า” ที่นำมาซึ่งความภาคภูมิใจของลูกโดมทุกๆคน

หมายเหตุ ขอแก้การพิมพ์ผิดในคอลัมน์นี้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม 2563 ที่ว่าอนุสาวรีย์ เสด็จเตี่ย ที่จังหวัดสมุทรสาคร เริ่มสร้างในปี พ.ศ.2459 นั้น ที่ถูกต้องคือ พ.ศ.2559 นะครับ ขออภัยในความผิดพลาดครั้งนี้ด้วย.

“ซูม”

โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ, ซูมซอกแซก