ปลอบใจสู้เศรษฐกิจถดถอย ปี “เผาจริง” ไม่เคยมีในโลก

เป็นที่คาดหมายกันว่าผลกระทบจากโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอยลงอย่างหนักหนาสาหัสนับตั้งแต่เศรษฐกิจตกตํ่าครั้งใหญ่ที่สุดของโลก เมื่อ ค.ศ.1930 หรือ พ.ศ.2473 เป็นต้นมา


ธนาคารโลกเคยคาดไว้ว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวประมาณร้อยละ 5.2 และล่าสุดไอเอ็มเอฟคาดว่าจะหดประมาณ 4.9 ดูเหมือนจะน้อยลงหน่อย แต่ก็ยังน่ากลัวอยู่นั่นเอง

ของไทยเรา สภาพัฒน์ คาดว่าจะลดลงร้อยละ 6.5 แต่ล่าสุดเมื่อ ไม่กี่วันมานี้ คณะกรรมการการเงินธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะติดลบถึง 8.1 เปอร์เซ็นต์

ทำให้คำอุปมาอุปไมยที่ว่า “ปีกลายเผาหลอก…ปีนี้เผาจริง” กลับมาฮิตอีกครั้งหนึ่ง

วาทกรรมนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2539 ต่อมาจนถึงปี 2540 เมื่อครั้งเศรษฐกิจไทยประสบภาวะต้มยำกุ้ง

โดยนำมาจากธรรมเนียมปฏิบัติในการฌาปนกิจผู้วายชนม์ของสังคมไทยที่จะมีการ “เผาหลอก” ให้ญาติมิตรทั่วๆ ไปขึ้นวางดอกไม้จันทน์เสียครั้งหนึ่ง จากนั้นจึงมีการจุดไฟ “เผาจริง”

กลายเป็นวาทกรรมที่โดนใจประชาชนชาวไทยอย่างมาก เป็นเหตุให้ยังคงฮิตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ผมเองก็พลอยเคลิ้มไปด้วย และเผลอหยิบมาใช้อยู่บ้าง แต่มีอยู่วันหนึ่งลองมานั่งนึกๆ ดูประสานักเรียนเศรษฐศาสตร์ก็พบว่า สำนวนนี้ ไม่สะท้อนความเป็นจริงของวิชาเศรษฐศาสตร์ที่เราเคยเรียนนี่นา

เพราะในทฤษฎี “วัฏจักรเศรษฐกิจ” สอนไว้ว่า เศรษฐกิจจะมีทั้งขาขึ้นและขาลงหมุนเวียนกันอยู่ตลอด…เวลาขึ้นมันก็จะขึ้นขึ้นและขึ้นไปจนถึงจุดสูงสุด เสร็จแล้วมันก็จะค่อยๆ ร่วงลงมา ลง ลง ลงไปจนถึงจุดตํ่าที่สุด แล้วก็หยุดอยู่ตรงนั้น

เดือดเนื้อร้อนใจสาหัสสากรรจ์ ณ จุดตํ่าสุดนั้นเป็นเวลาหนึ่ง แล้ว ก็จะค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมาใหม่

จะยาวนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละรัฐบาล หรือแม้แต่รัฐบาลที่ทำอะไรไม่เป็นเลย เศรษฐกิจก็จะฟื้นขึ้นมาได้เองอยู่ดีด้วยกลไกและคุณสมบัติที่อยู่ในตัวของมนุษย์โดยธรรมชาติ

มันจะค่อยๆ ฟื้นขึ้นฟื้นขึ้นกลับมาสู่ขาขึ้นอีกครั้ง แล้วก็ขึ้นไปจนถึงจุดสูงสุดรอบใหม่แล้วก็จะตกลงมาใหม่…เวียนวนเช่นนี้เป็นนิรันดร

เมื่อเศรษฐกิจไม่เคย “ตาย” ก็ไม่จำเป็นต้องมีการ “เผา” ไม่ว่าจะเป็น “เผาหลอก” หรือ “เผาจริง”

ข้อเท็จจริงนี้พิสูจน์ได้จากประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ รวมทั้งเมื่อครั้งเศรษฐกิจตกตํ่าครั้งใหญ่ ค.ศ.1930 (พ.ศ.2473) ก็พิสูจน์แล้ว เศรษฐกิจโลกมิได้ตาย เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ก็ไม่ตาย ค่อยๆ กลับมาเจริญรุ่งเรือง แล้วก็ตกตํ่าอีกหลายครั้งหลายหนรวมทั้งหนนี้

ข้อสำคัญในการรับมือกับมันก็คือ เมื่อเรารู้ว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้น เราก็เตรียมตัวเตรียมใจเอาไว้ แล้วก็สู้กับมันอย่างทรหดอดทนและไม่ย่อท้อ

รัฐบาลท่านทำหน้าที่ของท่านแล้ว จะถูกบ้าง ผิดบ้าง ตรงเป้าบ้าง ไม่ตรงบ้าง แต่ก็พยายามทำหน้าที่

ขอให้ภาคเอกชนและประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มที่ตุนสะเบียงกรัง ทางเศรษฐกิจไว้ได้มากที่สุดในช่วงที่ยังไม่วิกฤติ ออกมาช่วยเหลือเจือจานอีกแรงหนึ่ง ก็จะช่วยให้ผ่อนหนักเป็นเบาได้

ใครที่รวยและมีเงินเหลืออยู่เยอะเพราะมือยาวกว่า สาวเอา GDP ไปเป็นของตนเองได้มากกว่า ก็ให้เอาออกมาใช้

จะลงทุนใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หรืออย่างไม่ทำอะไรเลยก็ขอให้ออกมาแจกข้าว แจกนํ้าต่อชีวิตคนจน ต่อชีวิตคนตกงาน ดังที่ทำอยู่ทุกวันนี้ก็ยังดี…ขอขอบพระคุณล่วงหน้า

อดทน อดกลั้นทุกๆ ฝ่าย และอย่าอายหากจะต้องไปกินอาหารตามโรงทานของวัด หรือตามสถานที่ที่รัฐบาลจัดไว้เพื่อความอยู่รอด

แต่จงอายที่จะทำอกุศล โดยเฉพาะการก่ออาชญากรรมปล้นจี้ชิงทรัพย์ หรือหลอกลวงเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์ด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมาย

อย่าท้อ อย่าถอย และอย่าไปตระหนกกับคำว่า “ปีนี้เผาจริง” เพราะอย่างไรเสียก็ไม่มีการเผาจริง แม้จะสาหัสแค่ไหนก็ตาม

เนื่องจากในตำราเศรษฐศาสตร์สอนไว้และพิสูจน์แล้วว่า “เศรษฐกิจโลก” หรือ “เศรษฐกิจประเทศไหน” ก็ตาม ไม่เคยตายครับ มันแค่สลบหรือซบเซาลงไปเท่านั้น พอถึงที่สุดแล้วก็จะฟื้นขึ้นมาเอง.

“ซูม”