แม้จะตระหนักดีในคำสอนขององค์พระ สัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “เกิด แก่ เจ็บ ตาย” นั้น เป็นธรรมดาของมนุษย์ ไม่มีผู้ใดจะหลบลี้ หนีพ้นไปได้ แต่ทุกครั้งที่ได้ยินข่าวว่าคนที่เรารัก เราชอบ เราเคารพ หรือใกล้ชิดสนิทสนม อำลาจากไปอย่างไม่มีวันกลับ ผมก็อดที่จะใจหายจนทำอะไรไม่ถูกเสียมิได้ ต้องนั่งนิ่งๆ สงบสติอารมณ์อยู่พักใหญ่ๆ เสมอๆ
ความรู้สึกที่ว่านี้ กลับมาเกิดขึ้นแก่ผมอีกครั้งหนึ่ง เมื่อช่วงบ่ายๆ ของวันอังคารที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา เมื่อเฟซบุ๊กของเพื่อนสนิทมิตรสหายหลายๆ คนแชร์ข่าวมาให้ทราบว่า “พนมเทียน” นักเขียนยิ่งใหญ่คนหนึ่งของประเทศไทยเสียชีวิตแล้วอย่างสงบด้วยโรคชรา ที่โรงพยาบาลรามคำแหง สิริอายุ 89 ปี
แม้ผมจะไม่มีโอกาสได้พบปะพูดจาโดยตรงกับ “พนมเทียน” หรือพี่ ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ เลยสักครั้งเดียวในชีวิตนี้ แต่ผมก็รู้สึกเหมือนกับว่าตัวผมเองใกล้ชิดสนิทสนมกับท่านมาก อาจเป็นเพราะผมติดตามอ่านผลงานของท่านมานานมาก ตั้งแต่ยังเป็นเด็กหนุ่ม นุ่งกางเกงขาสั้น เรียนมัธยมปลายอยู่ที่นครสวรรค์ เมื่อ 60 กว่าปีก่อนโน้น
อ่านกันมาหลายสิบเรื่อง แถมแต่ละเรื่องล้วนยาวเหยียด หลายเล่มจบ จะไม่ให้รู้สึกสนิทสนมกันได้อย่างไร
ผมติดตามอ่านผลงานท่านอยู่ข้างเดียว แอบหลงแอบชอบมานานมากดังที่กล่าวไว้แล้ว จู่ๆ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี่เอง ก็ได้รับหนังสือพ็อกเกตบุ๊กรวบรวมข้อเขียนในลักษณะบทความ หรือคอลัมน์สั้นๆ ของท่านเล่มหนึ่ง
ซึ่งผมก็เขียนแนะนำไปตามหน้าที่ แสดงความคิดความเห็นเล็กๆ น้อยๆ ตามสไตล์ของผม จากนั้นไม่นานนักก็ได้รับจดหมายน้อยจากท่านเขียนมาขอบคุณ พร้อมกับบอกว่า ท่านติดตามอ่านข้อเขียนของผมมาตั้งแต่พิมพ์ไทย
นับเป็นความปลาบปลื้มและเป็นมงคลยิ่งของผมที่ได้ทราบว่านักเขียนที่เราอ่านผลงานของท่านด้วยความหลงใหลยกย่องมาตลอดชีวิตนั้นก็อ่านข้อเขียนและบทความที่อาจจะมีสาระบ้าง ไม่มีสาระบ้างของเราด้วยเหมือนกัน
ผมจำได้เป็นอย่างดีว่า หนังสือเรื่องแรกที่ทำให้ผมรู้จักนามปากกา “พนมเทียน” และ ต้องไปเข้าคิวรอที่ร้านเช่าหนังสือที่ปากนํ้าโพ เมื่อ พ.ศ.2498-2499 ก็คือเรื่อง “เล็บครุฑ” นั่นเอง
ช่วงนั้นผมเพิ่งอายุ 14-15 ขวบ กำลังวัยรุ่นเต็มที่ ถูกโฉลกกับพระเอกของเรื่อง ร้อยตรี คมน์ สรคุปต์ แห่งกรมสืบราชการลับ ที่ปลอมตัวมาเป็นจอมโจร ชีพ ชูชัย เพราะใบหน้าเหมือนกัน เพื่อลุยเข้าสู่ดงโจร และเพื่อเป็นบันไดไปสู่สมาคม ใต้ดินที่มีความปรารถนาที่ จะล้มล้างประเทศไทยภายใต้ ตราสัญลักษณ์ “เล็บครุฑ” อันเป็นที่มาของชื่อหนังสือ อาชญนิยายสืบสวนสอบสวนบู๊สะบั้นเรื่องนี้
ไม่ใช่ผมคนเดียวเท่านั้น เพื่อนรุ่นเดียวกันอีก 3-4 คน ก็อ่าน…อ่านแล้วก็จะจำรายละเอียดมานั่งถกกัน หลังเลิกเรียนจนจำตัวละครได้เกือบทั้งเรื่อง จอมวายร้าย “จางซูเหลียง” เอย, สารวัตร กริช กำจร เอย, มรกต กำจร (นางเอก) เอย, เจ้าหญิง ปรีดะ ฮนัม เอย ฯลฯ
พอปี 2500 ขณะผมเรียนมัธยม 6 อันเป็นระดับสูงสุดของจังหวัดนครสวรรค์ใน พ.ศ.ดังกล่าว บริษัท สหนาวีไทยภาพยนตร์ ของ สุพรรณ พราหมณ์พันธุ์ ก็นำนวนิยาย “เล็บครุฑ” ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ขนาด 16 มม. ถือว่าเป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ของปีกึ่งพุทธกาลเลยทีเดียวได้ ลือชัย นฤนาท มารับบท ชีพ ชูชัย ได้ จรัสศรี สายะศิลปี มาเป็นนางเอก มรกต กำจร และได้นี่เลย รองนางสาวไทยปี 2496 อมรา อัศวนนท์ มาเป็น เจ้าหญิงปรีดะ ฮนัม
กลายเป็นภาพยนตร์เงินล้านโกยเงินก้อนใหญ่ไปจากศาลา เฉลิมกรุง เฉลิมบุรี ในกรุงเทพฯ และไปทำให้วิก เฉลิมชาติ ที่ปากนํ้าโพแทบแตก โกยเงินไปหลายแสน ทำสถิติของจังหวัดเอาไว้เช่นกัน
นี่คือผลงานแรกของ พนมเทียน ที่ผมอ่าน
จริงๆ แล้วผลงานก่อนหน้านี้ที่ทำให้ท่านดังก้องประเทศไทย น่าจะเป็นเรื่อง “จุฬาตรีคูณ” (พ.ศ.2491) มากกว่า เพราะเป็นทั้งละครวิทยุ ละครเวที และมีการแต่งเพลงโดย คณะสุนทราภรณ์ ฮิตอยู่ในกรุงเทพฯ และธนบุรี (ยังไม่ได้รวมเป็นเมืองเดียวกัน) หลายเพลง
แต่เผอิญจังหวัดนครสวรรค์รู้จักแต่เพลงลูกทุ่ง ไม่เคยฟังเพลงสุนทราภรณ์ เลยทำให้ผมไม่รู้จักเพลงชุด “จุฬาตรีคูณ” ไปด้วย
เพิ่งจะมารู้ก็ตอนเข้าเรียนในกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ.2501 พอรู้ปุ๊บก็รีบไปหาหนังสือ “จุฬาตรีคูณ” มาอ่านเลย เป็นพ็อกเกตบุ๊กเล่มไม่หนา มากนัก อ่านรวดเดียวจบแบบประทับใจ
จากนั้นผมไม่แน่ใจว่าปีไหน ท่านก็เขียนเรื่อง “ศิวาราตรี” ขึ้นเป็นมหากาพย์ยิ่งใหญ่มากในทรรศนะของผม ผมชอบเรื่องนี้มากที่สุด และชอบมากกว่า “เพชรพระอุมา” เล็กน้อย ประมาณเส้นยาแดงผ่าแปดก็แล้วกัน
เพื่อให้บทความชิ้นนี้จบลงได้ตามเนื้อที่คอลัมน์ที่กำหนดไว้ ผมขออนุญาตสรุปว่า จากหนังสือ 38 เรื่องที่ท่านเขียน ผมน่าจะอ่านสัก 30 เรื่องเห็นจะได้ ถือเป็นแฟนพันธุ์แท้ของ “พนมเทียน” คนหนึ่ง
แม้จะรู้สึกใจหายและเสียใจอย่างยิ่งต่อการจากไปของท่าน แต่ผมก็มั่นใจอย่างยิ่งว่าท่านจะจากไปก็แต่เรือนร่างเท่านั้น…ในขณะที่ผลงานอันยิ่งใหญ่ของท่านจะยังคงอยู่เคียงคู่ประเทศไทยไปตราบนานเท่านาน
ท่านเคยให้สัมภาษณ์ว่า ตอนเป็นเด็กเรียนเคมี ครูสอนว่า พนมเทียน คือ เปลวไฟที่ติดอยู่บนปลายเทียน ปลายมันเรียวแหลม ตรงกลางมันป่อง และตรงที่ติดกับไส้ก็เรียวลงมาอีก…เมื่อมันป่องอย่างนั้นจึงเป็นสัญลักษณ์ของเปลวเทียนและเรียกกันว่า “พนมเทียน”…ผมชอบคำนี้เลยเอามาเป็นนามปากกา
เปลวเทียนเล่มอื่น อาจดับลงได้เมื่อเผชิญกระแสลม หรือเมื่อมอดไหม้ลงจนเทียนหมดเล่ม แต่ “พนมเทียน” หรือเปลวเทียน ของพี่ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ จะไม่มีวันดับตลอดกาลนาน.
“ซูม”