แด่ “อสม.” นักรบภาคสนาม สู้ “โควิด” จน WHO ปรบมือ

ถ้าจะมีใครถามผมว่าข้อเขียนชิ้นไหน? หรือประจำวันไหน? ที่ผมภูมิใจและดีใจที่สุด นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์โรคระบาดโควิด-19 ขึ้นในโลกนี้ และในประเทศไทยเราเป็นต้นมาละก็

ผมคงต้องตอบว่า จำวันที่แน่นอนไม่ได้แล้วละ แต่จำได้แม่นว่าเขียนหลังจากที่รัฐบาลใช้มาตรการเข้มขั้นแรก มีการปิดห้างปิดร้านอาหาร ปิดผับปิดบาร์ ฯลฯ จนเกิดเหตุการณ์โกลาหลอลหม่านขึ้นทั่ว กทม.

โดยเฉพาะที่สถานีขนส่งทุกสถานี ผู้คนแห่แหนไปขึ้นรถ บขส.กลับบ้านแน่นเอี้ยด น้องๆ เทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่เลยทีเดียว

ทั้งนักการเมืองฝ่ายค้านและการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ออกมาสับรัฐบาลเละตุ้มเป๊ะว่า ทำงานแบบไม่มีแผนล่วงหน้า

ทั้งๆ ที่ต้องการให้ประชาชนอยู่กับที่ไม่เคลื่อนไหว ไม่เคลื่อนย้ายไปไหน ขนาดวันหยุดสงกรานต์ 3 วัน ยังยกเลิก แต่มาตายน้ำตื้น เพราะสั่งปิดโน่นนี่นั่นขนานใหญ่นี่เอง ทำให้คนตกงาน หรือไม่ก็หยุดงาน ต้องกลับไปอยู่บ้านต่างจังหวัด กลายเป็นผึ้งแตกรังในชั่วพริบตา

น่าจะเป็นผลให้ “โควิด-19” ระบาดกระจายไปทั่วประเทศไทย แทนที่จะอยู่แต่ในกรุงเทพมหานครเท่านั้นอย่างในตอนแรกๆ

มีเสียงของคนกลุ่มน้อยอยู่ 2 เสียงในช่วงนั้นที่ออกมาบอกว่า การที่เกิดภาวะผึ้งแตกรัง พี่น้องกลับต่างจังหวัดเช่นนี้อาจจะเป็นผลดีก็ได้ โดยเฉพาะพี่น้องที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่างๆ

เพราะเมื่อกลับไปต่างจังหวัดแล้วจะได้รับการควบคุมดูแลอย่างทั่วถึงจากเครือข่ายของกระทรวงสาธารณสุขในระดับพื้นที่ ที่เรียกว่า “อสม.” (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน)

ท่านแรกก็คือ รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข “หมอหนู” นั่นเอง

คนที่สอง ก็ผมนี่แหละครับ ที่เขียนไว้เต็มคอลัมน์ว่า การให้ผู้คนจำนวนมากกลับไปอยู่ต่างจังหวัดน่ะดีแล้ว โดยอ้างประสบการณ์ส่วนตัวของผมที่เคยรับราชการและประสานกับกระทรวงใหญ่ๆ มาหลายๆ กระทรวง…พบว่า

กระทรวงสาธารณสุข เป็นกระทรวงที่มีประสิทธิภาพสูงสุดไล่เป็นลูกระนาดไปตั้งแต่ปลัดกระทรวง อธิบดีในส่วนกลางจนถึงสาธารณสุขจังหวัด อำเภอ ตำบล และ อสม. หรืออาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน

ผมเขียนไว้ด้วยว่า หากนำเครือข่ายของกระทรวงสาธารณสุขที่ว่านี้มาทำงานร่วมกับฝ่ายปกครอง โดยเฉพาะผู้ว่าฯ นายอำเภอ ที่นายกรัฐมนตรีให้อำนาจอย่างเต็มที่ ทุกอย่างน่าจะดีกว่าปล่อยให้พี่น้องทั้งหลายอยู่ใน กทม. ซึ่งไม่มีระบบดูแลใกล้ชิดแบบต่างจังหวัด

ดังนั้น เมื่อมาถึงวันนี้ วันซึ่งเราเริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์…เมื่อ จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ของเราอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ เพราะเพิ่มขึ้นในทิศทางที่เรามีโอกาสจะควบคุมไว้ได้นั้น ส่วนหนึ่งเพราะการทำงานแบบทุ่มเทของ อสม.

ผมจึงรู้สึกดีใจและภูมิใจที่ความเชื่อมั่นต่อกระทรวงสาธารณสุขโดยเฉพาะต่อเหล่านักรบในระดับหมู่บ้าน ที่เรียกกันว่า “อสม.” ของผมเป็นเรื่องที่ถูกต้องทุกประการ

ต้องขอกราบขอบพระคุณย้อนหลังไปถึงบุรุษผู้เปรียบเสมือน “ตำนาน” ในการสร้างเครือข่ายสาธารณสุขมูลฐานให้แก่กระทรวงสาธารณสุข…คุณหมอ อมร นนทสุต อดีตปลัดกระทรวงนั้น ไว้ ณ ที่นี้

ท่านเติบโตมาจากอนามัยจังหวัดแล้วมาสู่ส่วนกลางได้เป็นทั้งอธิบดีกรมอนามัยและปลัดกระทรวง จึงเข้าใจปัญหาและความต้องการด้านสุขภาพอนามัยของพี่น้องประชาชนในชนบทอย่างดียิ่ง รวมทั้งตระหนักด้วยว่าลำพังกำลังของข้าราชการกะหยิบมือเดียวไม่มีทางที่จะรับมือกับปัญหาและความต้องการต่างๆ ในพื้นที่ได้

จำเป็นที่จะต้องมี อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ให้มาเป็นผู้ช่วยเหลือกระทรวงสาธารณสุขในระดับพื้นที่อีกจำนวนหนึ่ง และได้นำความคิดนี้เข้าสู่ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2520-2524) เมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว

ต่อมาใน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2525-2529) ยุคป๋าเปรมเป็นนายกฯ พวกเราที่สภาพัฒน์ก็ได้อาศัยเครือข่าย อสม. ของท่านผลักดันนโยบายพัฒนาชนบทในเขตยากจน จนประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง

ขอบคุณพี่หมออมรนะครับ ที่สร้างกองทัพ อสม.เอาไว้จนกลายเป็น 1 ในทัพหน้าของไทยที่ต่อสู้และยับยั้งการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างดียิ่ง จน WHO ชูนิ้วยกย่องเมื่อ 2 วันที่ผ่านมา.

“ซูม”