วันนี้ตรงกับวันที่ 13 เมษายน 2563 เป็น “วันสงกรานต์” หรือ วันขึ้นปีใหม่แบบไทยๆ ผมขออนุญาตกล่าวคำว่า สุขสันต์วันสงกรานต์และอวยพรให้ท่านผู้อ่านจงประสบแต่ความสุข ความสวัสดี อายุ วรรณะ สุขะ พละ ผ่านวิกฤติโควิด–19 โดยทั่วหน้ากันเทอญ
สำหรับเรื่องที่ผมจะเขียนถึงวันนี้ก็คือ เรื่องความวิตกกังวลและความห่วงใยในผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดอย่างหนักของไวรัสมหาภัยโควิด-19 โดย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อย่อว่า ไอเอ็มเอฟ นั่นแหละครับ
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมานี้เอง นาง คริสตาลินา จอร์จีวา กรรมการผู้จัดการใหญ่ของไอเอ็มเอฟ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ในสายตาของกองทุนการเงินระหว่างประเทศนั้น วิกฤติทางเศรษฐกิจครั้งนี้จะหนักหนาสาหัสที่สุดนับแต่การตกตํ่าทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของโลก (The Great Depression) เมื่อ ค.ศ.1930 หรือ พ.ศ.2473 เป็นต้นมา
เธอบอกนักข่าวด้วยว่า “เมื่อ 3 เดือนก่อน เรายังคาดหวังกันว่า รายได้ต่อหัวของประเทศสมาชิกของเราไม่น้อยกว่า 160 ประเทศ จะ เพิ่มขึ้นในอัตราบวกในปี 2020 แต่ ณ วันนี้ตัวเลขที่คาดใหม่จะออกมา ตรงข้าม คือคาดว่ากว่า 170 ประเทศจะมีรายได้ต่อหัวติดลบ”
สำหรับปีหน้า หรือปี 2021 เธอก็ยังไม่มั่นใจว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นขึ้นมาได้ทั้งหมด อย่างเก่งก็ฟื้นในบางส่วนและบางประเทศเท่านั้น
ขึ้นอยู่กับว่าโควิด-19 จะยุติการระบาดเมื่อใด ถ้ายุติได้สัก
กลางปีนี้…เราก็อาจจะได้เห็นการฟื้นตัวในบางส่วนที่ว่า
ถ้าท่านผู้อ่านจำได้ ผมเองก็หยิบคำว่า The Great Depression หรือเศรษฐกิจตกตํ่าทั่วโลกครั้งใหญ่ยุค ค.ศ.1930 (พ.ศ.2473) มาเขียนถึงไว้แล้วในคอลัมน์นี้
แม้ผมจะเห็นด้วยว่าการถดถอยครั้งนี้จะเป็นครั้งที่หนักที่สุด “นับแต่” 1930 เป็นต้นมา แต่ถ้าถามว่า มันจะหนักหนาสาหัส หรือร้ายแรง เท่ากับ 1930 หรือไม่? ผมยังคิดว่า “ไม่น่าจะ” หนักถึงขนาดนั้น
อย่างที่ผมเคยเขียนไว้ว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดระหว่างสิงหาคม 1929 (พ.ศ.2472) ถึงมีนาคม 1933 (พ.ศ.2476) รวม 43 เดือน อัตรา ว่างงานของสหรัฐฯสูงถึง 23% และบางประเทศก็สูงถึง 33%
แม้แต่ของไทยเรามีการดุลข้าราชการออกเป็นจำนวนมาก
ถามต่อว่า เหตุใดผมจึงไม่เชื่อว่าสถานการณ์ครั้งนี้จะไม่หนักเท่า1930 เหตุผลสำคัญก็มาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ในปี 1930 ท่าน จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ยังไม่ได้พิมพ์ตำราซึ่งเปรียบเสมือน วัคซีน แก้ โรคเศรษฐกิจตกตํ่า ที่ต่อมาได้มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลาย
คือยังไม่มีใครออกมาแนะนำว่า “รัฐบาล” หรือในสูตรของลอร์ด เคนส์ ก็คือตัว G นี่แหละที่สามารถจะเข้ามาแทรกแซงไม่ให้เศรษฐกิจตกตํ่าลงไปถึงที่สุดได้ และขณะเดียวกันก็สามารถจะปั๊มให้กระดกขึ้นมาได้
ถ้าผมจำไม่ผิด ลอร์ด เคนส์ ท่านพิมพ์ตำราแนะนำบทบาท ตัว G เมื่อ ค.ศ.1936 หลังเศรษฐกิจตกตํ่าคลี่คลายปี 1933 ถึง 3 ปี
จนหลังจากมีตำรานี้แล้ว รัฐบาลทั่วโลกก็หันมาใช้บทบาทของตัว G ทั้งด้านการเงิน การคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจมาตลอด ทำให้การตกตํ่าแม้จะยังมีอยู่ แต่จะไม่หนักเท่ายุค 1930 อีกเลย
รวมทั้งครั้งนี้เราจะเห็นว่า รัฐบาลทั่วโลกล้วนมีแผนกู้ หรือกระตุ้น เศรษฐกิจหลังโควิดทั้งสิ้น ใช้เงินประเทศละมหาศาล
สหรัฐฯ อัดไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้วอีกก้อน โดยธนาคารกลางเตรียมเงินไว้ถึง 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ ส่งผลให้หุ้นสหรัฐฯ ยังคงกระดี๊กระด๊า ทั้งๆ ที่รอบๆ ตลาดหุ้นในนิวยอร์กนั้นเอง มีคนล้มตายเป็นเบือ
ของเราก็อัดไปถึง 1.9 ล้านล้านบาท และอาจจะมีมาอีกถ้าจำเป็น ขึ้นอยู่กับว่าโควิดจะอยู่กับเรานานแค่ไหน
ผมก็ได้แต่หวังว่า ด้วยบทบาทของรัฐบาล หรือตัว G ในสูตรอมตะทางเศรษฐศาสตร์ยุคใหม่ของลอร์ด เคนส์ โดยรัฐบาลทั่วโลกจะช่วยพยุงไม่ให้เศรษฐกิจตกตํ่าครั้งนี้รุนแรงเหมือน 1930
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นรัฐบาล (โดยเฉพาะรัฐบาลไทย) ก็จะต้องใช้ให้ถูกทาง ถูกจุด ไม่โกง ไม่กิน ไม่รั่วไหลด้วยนะครับ ตัวยาตัวนี้ถึงจะเกิดผลสัมฤทธิ์ตามที่ลอร์ด เคนส์ สอนไว้.
“ซูม”