เมื่อวานนี้ผมเขียนเกริ่นไว้แล้วว่า รัฐบาลอย่าเพิ่งไปตัดสินใจ ล่วงหน้าว่าจะทำโน่น ทำนี่ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย อันสืบเนื่องมาจากผลกระทบโควิด-19 ที่กำลังอาละวาดอย่างหนักทั่วโลก
รอให้สถานการณ์โรคระบาด “นิ่ง” เสียก่อน ค่อยมาว่ากันรวดเดียว
ระหว่างนี้ก็จดข้อมูล บันทึกผลเสียหายต่างๆ ให้ละเอียด หรือจะทดลองเข้าสูตรโน้นสูตรนี้ไปก่อนก็ไม่ว่ากัน
แต่ในที่สุดแล้วก็จะต้องรอ “โลก” หรือรอสถานการณ์ หรือรออาการของ “โลก” ว่าเป็นอย่างไร เพราะอย่างที่เราทราบประเทศเศรษฐกิจระดับ “ขาใหญ่” ของโลก ล้วนเจอพิษไวรัสกันอย่างหนัก
จริงๆ แล้ว ผมเขียนไปถึงว่า มีนักเศรษฐศาสตร์บางราย ชักเริ่มห่วงใยกันแล้วว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจครั้งนี้จะหนักกว่าเมื่อครั้งวิกฤติการเงินของสหรัฐฯ ปี 2550-2551 หรือวิกฤติการเงินของเอเชียปี 2540 อันเริ่มจากวิกฤติต้มยำกุ้งจากประเทศไทย
บางรายห่วงถึงกับว่ามันจะเหมือนยุค 1930 หรือ พ.ศ.2473 ที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลก (The Great Depression) เสียด้วยซ้ำ
แต่พอเขียนไปแล้วก็เกรงว่าจะไปสร้างความตระหนกตกใจล่วงหน้าเสียเปล่าๆ จึงได้ตัดออกไป
มาวันนี้ต้องขออนุญาตหยิบมาเขียนละครับ เพราะชักจะมีเสียงพูดถึง The Great Depression กันมากขึ้น
ล่าสุด บทความของ “ลงทุนแมน” ที่เผยแพร่ใน เฟซบุ๊ก ก็ตั้งประเด็นไว้อย่างน่าสนใจว่า “ถ้าโรคระบาดไม่จบในปีนี้ เราจะเจอ Great Depression” (www.longtunman.com)
ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของโลก เมื่อ ค.ศ.1930 หรือ พ.ศ.2473 นั้น ผมยังไม่เกิดครับ จึงไม่ทราบว่าสถานการณ์หนักหนาเพียงใด?
แต่จากที่อ่านจากตำราสมัยเรียนเศรษฐกิจปีที่ 1 ก็พอจะรับรู้ได้ว่า ชาวโลกในยุคนั้นยากลำบากจริงๆ ระหว่างสิงหาคมปี 1929-มี.ค.1933 เป็นเวลา 43 เดือนเต็มๆ
ทุกอย่างเริ่มจากการร่วงกราวอย่างหนักของตลาดหุ้นที่สหรัฐฯ ตั้งแต่สิงหาคมของปี 1929 แล้วก็พังครืนลงในวันอังคารที่ 29 ตุลาคมของปีเดียวกัน ส่งผลให้โรงงานและบริษัทห้างร้านในสหรัฐฯ ล้มลงไปเหมือนตัวโดมิโน ทำให้อัตราการว่างงานสูงถึง 23 เปอร์เซ็นต์
ประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็พลอยล้มตามไปด้วย บางประเทศหนักกว่าสหรัฐฯ เสียอีก อัตราว่างงานสูงถึง 33 เปอร์เซ็นต์
เหตุที่หลายคนแว่บไปนึกถึงปี 1930 ก็เพราะความตกต่ำครั้งนั้น เริ่มขึ้นที่สหรัฐอเมริกาก่อนแล้วส่งผลกระทบกระจายไปทั่วโลก
มีสาเหตุหลักมาจากทฤษฎีเศรษฐกิจโดยตรงที่ว่า วัฏจักรเศรษฐกิจ มันจะมีขึ้นมีลงอยู่เสมอ…ขึ้นไปถึงจุดสูงสุดแล้วก็จะทิ้งดิ่งลงไปต่ำสุด จากนั้นก็จะขึ้นมาใหม่ด้วยสาเหตุทางเศรษฐกิจต่างๆ
พอดีกับว่าใน ค.ศ.นั้น เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขึ้นมาถึงจุดสูงสุดแล้ว จู่ๆ อุปสงค์หรือดีมานด์รวมก็หดตัวลง ทำให้ดิ่งลงมาอย่างรวดเร็ว
สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันนี้ สาเหตุหลักๆ ไม่ใช่มาจากเศรษฐกิจโดยตรง แม้จะมีอาการบ้างแล้วจากสงครามการค้า แต่มาโดนซ้ำด้วยการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งหนักหนาสาหัสมาก ทำให้เศรษฐกิจโลกซึ่งเฉื่อยอยู่แล้ว อาจจะถึงขั้นติดลบหนัก
และถ้าเหตุการณ์ยังยืดเยื้อ อาจจะหนักกว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยธรรมดา (Recession) เข้าไปใกล้ๆกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือ depression อย่างที่ว่า
ผมขอเรียนย้ำว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะเขียนให้เกิดความวิตกกังวล แต่เขียนให้นักเศรษฐศาสตร์ของรัฐบาลเตรียมตัวไว้
ถ้าสถานการณ์เกิดขึ้นจริง เราก็จะสามารถรับมือได้อย่างมีสติ
จึงขอฝากไว้แต่เพียงว่า อย่าประมาทและขอให้มองทุกอย่างให้รอบคอบและอย่าด่วนตัดสินใจวางมาตรการสำคัญโน่นนี่เร็วเกินไป เดี๋ยวเงินไม่ว่าจะเป็นของรัฐเอง หรือที่จะกู้ใครเขามาจะหมดเสียก่อน
รอดูสถานการณ์โลกให้ชัดกว่านี้อีกนิดนะครับ และลุ้นเอาใจช่วยสหรัฐฯ, อิตาลี, สเปน, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, อังกฤษ และ ฯลฯ ให้สามารถจัดการกับเจ้าโควิด-19 ได้สำเร็จในระยะเวลาที่ไม่นานเกินรอกันด้วย
พูดง่ายๆ ว่างานนี้ไม่ใช่ลุ้นเฉพาะในประเทศเราเท่านั้น แต่ต้องลุ้นข้ามโลกกันเลยทีเดียว.
“ซูม”