อาลัย “สุเทพ วงศ์กำแหง” หนึ่งในตำนาน “ลูกกรุง”

เมื่อเช้าวันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีข่าวแพร่สะพัดไปตามสื่อออนไลน์ต่างๆ ว่า สุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) เสียชีวิตแล้วอย่างสงบ ที่บ้านพักแขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา

แว่บแรกที่เห็นหัวข่าวผมภาวนาขอให้เป็น “เฟกนิวส์” หรือ “ข่าวปลอม” แต่เมื่อโทรศัพท์เข้ามาเช็กกับน้องๆ ที่โต๊ะข่าวก็ได้รับคำยืนยันว่า เป็นข่าวจริงแท้แน่นอน เพราะได้ตรวจสอบกับตำรวจ สน.คลองตัน แล้ว

ผมนิ่งอึ้งไปครู่ใหญ่ ทำใจให้สงบ พร้อมสวดมนต์ขอให้ สุเทพ วงศ์กำแหง ที่ผมเรียกขานอย่างติดปากว่า “พี่เทพ” จงไปสู่สุคติและสถิตย์ ณ สรวงสวรรค์ตราบกาลนิรันดร์

ผมก็เหมือนคนที่เกิดในช่วงปลายของสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งหลายที่เติบใหญ่มาพร้อมกับเสียงเพลงของพี่สุเทพ

เพราะช่วงที่ผมอายุ 16-17 ปี กำลังเรียนมัธยม 5 มัธยม 6 เป็นหนุ่มรุ่นกระทงอยู่ที่ต่างจังหวัดนั้น เสียงเพลง “รักคุณเข้าแล้ว” และอีกหลายๆ เพลงของพี่สุเทพกำลังเป็นเพลงฮิตที่โด่งดังไปทั่วทั้งประเทศไทย

เป็นเพลงที่เด็กหนุ่มรุ่นเราใช้ร้องอย่างมีเลศนัย เวลาเดินผ่านกลุ่มเด็กสาวๆ จากโรงเรียนสตรีรุ่นราวคราวเดียวกับเราในสมัยโน้น

มีทั้งเวอร์ชันเสียงนุ่ม สไตล์ “เสียงขยี้แพรในฟองเบียร์” ของพี่สุเทพ และเวอร์ชันของ มิสคูมี่ นางเอกหนังจากฮ่องกงร้องออกสำเนียงจีนๆ ว่า “ลักคุงเข่าเลี้ยว” ซึ่งก็ฮิตไม่น้อยในยุคเดียวกัน

ก่อน พ.ศ.2500 ตลาดเพลงเมืองไทยยังแบ่งออกเป็น 3 ตลาดใหญ่ๆ ได้แก่ เพลง “สุนทราภรณ์” ซึ่งผู้นิยมชมชอบมักจะเป็นข้าราชการ หรือบุคคลที่มีการศึกษา รํ่าเรียนสูงๆ ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ

ตลาดที่ 2 ซึ่งเรียกกันภายหลังว่าเพลง “ลูกกรุง” จะมี ชรินทร์ งามเมือง (ต่อมาได้รับพระราชทานนามสกุลว่า นันทนาคร) นริศ อารีย์, สุเทพ วงศ์กำแหง และ สวลี ผกาพันธุ์ ฯลฯ เป็นนักร้องหลักๆ

ลงไปถึงตลาดที่สาม ที่ภายหลังเรียกว่าเพลง ลูกทุ่ง มี คำรณ สัมบุญณานนท์, ชาญ เย็นแข และ สมยศ ทัศนะพันธุ์ ฯลฯ เป็นนักร้องขวัญใจของตลาดนี้

เด็กหนุ่มต่างจังหวัดรุ่นผม แทบไม่มีใครรู้จัก “สุนทราภรณ์” เพราะเราจะเริ่มฟังเพลง และหัดร้องเพลงลูกทุ่งของคำรณ หรือสมยศกันก่อนตอนเด็กๆ และพอเริ่มเป็นหนุ่มกระทงจะหันมาเป็นแฟนเพลง ของ ชรินทร์, สุเทพ และ นริศ อารีย์ เป็นส่วนใหญ่

เพลงโปรดของพวกเรารุ่นนั้น ของชรินทร์ก็คือ “ทาษเทวี” ของนริศ ได้แก่ “ผู้แพ้” และของพี่เทพ นอกจาก “รักคุณเข้าแล้ว” ยังมี “หรีดรัก” และ “บทเรียนก่อนวิวาห์” ที่พี่ร้องคู่กับ สวลี ผกาพันธุ์ เป็นต้น

ต้องยอมรับว่าเพลงของชรินทร์ค่อนข้างร้องยากกว่า เพราะต้องใช้เสียงสูง เพลงของนริศร้องไม่ยากนัก แต่มีดังๆ ไม่กี่เพลง ต่างกับเพลงของพี่เทพที่ร้องตามได้ง่าย และเสียงไม่สูงไปไม่ตํ่าไป

ดังนั้นแม้เราจะชอบเพลงของทั้ง 3 ท่าน พอๆ กัน แต่เราจะร้องเพลงของพี่เทพมากกว่า เหตุเพราะร้องง่ายกว่านั่นเอง

สำหรับผมในยุคที่เสียงยังไม่แตก (เพราะสูบบุหรี่และดื่มจัดดังที่เคยเขียนสารภาพไว้บ้างแล้ว) ก็ได้อาศัยเพลงของพี่เทพเป็นเพลงหากิน ที่ใช้ร้องในงานเลี้ยงรุ่นหลายเพลง เช่น “จงรัก” (ชอบเหมือนป๋าเปรมเลยนะเนี่ย)

บางครั้งก็จะร้อง “เท่านี้ก็ตรม” “สุดที่รัก” และ “ลาก่อนสำหรับวันนี้” (ร้องหมู่ตอนเลิกงาน)

ล่าสุดผมชอบเพลง “บ้านเรา” มากที่สุด เพราะเคยร้องคนเดียวในห้องนอน วันหิมะตกแล้วออกไปไหนไม่ได้ ตอนไปเรียนหนังสือที่โคโลราโด ทำให้คิดถึงบ้านมากๆ

ยอมรับว่าเพลงที่พี่เทพบันทึกแผ่นเสียง ตอนพี่กลับจากเรียนหนังสือแบบลี้ภัยการเมืองที่ญี่ปุ่น เพลงนี้เป็นเพลงซึ้งที่สุดเพลงหนึ่ง และจะซึ่งมากๆ เวลาร้องขณะไปเรียนหนังสือ หรือไปทำงานหาเงินเลี้ยงชีพในต่างแดน

วันนี้พี่เทพไม่อยู่แล้ว แต่เพลงหลายๆ เพลงของพี่ยังอยู่ โดยเฉพาะเพลง “บ้านเรา” ที่เริ่มท่อนแรกว่า “บ้านเราแสนสุขใจ แม้จะอยู่ที่ไหน ไม่สุขใจเหมือนบ้านเรา คำว่าไทซึ้งใจเพราะใช่ทาสเขา ด้วยพระบารมีล้นเกล้า คุ้มเราร่มเย็นสุขสันต์” จะยังอยู่กับเราตลอดไป

ขอบคุณ “พี่เทพ” สุเทพ วงค์กำแหง สำหรับเพลงกว่า 3,000 เพลง ที่ร้องไว้ (บางคนว่า 5,000 ด้วยซํ้า) พี่จากไปก็เพียงวิญญาณ และเรือนร่างเท่านั้น แต่เสียงเพลงอันทรงคุณค่าของพี่จะอยู่กับคนไทยและประเทศไทยไปตราบกาลนิรันดร์ครับ.

“ซูม”