ปลุกสำนึก “คนรวย” ให้มาช่วยลด “ช่องว่าง”

ผมเคยเขียนไว้ในคอลัมน์นี้เมื่อสักปีหรือ 2 ปีที่แล้วว่า ถ้าเรายังพัฒนาประเทศกันต่อไปด้วยวิธีที่เรากำลังดำเนินการกันอยู่นี้ช่องว่างของรายได้ตลอดจนความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย จะไม่มีวันลดลงอย่างแน่นอน มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หรือถ่างออกไปเรื่อยๆ

เพราะเป็นระบบเศรษฐกิจเสรีแบบคนมือยาวสาวได้สาวเอา ในขณะที่คนมือสั้นนานๆ จะสาวได้สักชิ้นสองชิ้นเท่านั้น

สืบเนื่องมาจากผู้ควบคุมกติกาการสาวอันได้แก่ รัฐนั้น จะโดยเจตนา หรือไม่เจตนาก็ตาม มักจะเอื้อประโยชน์แก่คนมือยาวเสียมากกว่า

ทำให้คนมือยาว หรือคนที่รวยอยู่แล้วประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ของคนในประเทศ โกยไปได้เป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่คนยากจนประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ ได้ส่วนแบ่งไปเพียงนิดเดียว

แบบนี้ เราจะไปหวังให้การลดช่องว่าง หรือการลดความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นได้อย่างไร

ผมจึงฝากข้อคิดเอาไว้ว่า เนื่องจากยุคนี้จะไปทำอะไรรุนแรงแบบปฏิวัติประชาชนอย่างสมัย มาร์ก-เลนิม หรือท่านเหมา คงไม่ได้อีกแล้ว

คงไม่มีใครคิดอยากจะทำด้วย เพราะพิสูจน์มาแล้วว่า พอลงมือทำจนกลายเป็นคอมมิวนิสต์ไปแล้วกลับลำบากยากจนเสียยิ่งกว่า

จนต้องเลิกระบอบสังคมนิยมหันมาใช้ระบอบนายทุนตามเดิมดังที่เกิดทั่วโลกในปัจจุบัน

แต่ถ้าไม่แก้ปัญหาช่องว่างเลยความขัดแย้งความวุ่นวายในสังคมก็จะยังมีอยู่ และประเทศใดก็ตามที่ปล่อยให้ความขัดแย้งเหล่านี้ซ่อนซุกอยู่มากๆ วันหนึ่งอาจจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน ที่แม้จะไม่ใช่ปฏิวัติ ประชาชนแต่ก็จะเป็นความรุนแรงที่อาจหนักกว่าหรือพอๆ กัน

ผมจึงเสนอว่า “คนรวย” หรือ “คนมือยาว” นั่นแหละ จะต้องเกิดความสำนึกที่จะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ขึ้นมาด้วยตนเอง

จะต้องแบ่งปันความรวยของตนมาช่วยเหลือคนจน หรือคนมือสั้นด้วยอีกแรงหนึ่ง จะหวังให้รัฐบาลเป็นฝ่ายแก้ปัญหาหรือช่วยคนจนเพียงลำพังฝ่ายเดียวคงไม่พอเพียงเสียแล้ว

ดังตัวอย่างประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลกที่บรรดาเศรษฐีต่างๆ บริษัทใหญ่โตต่างๆ ได้หันมาก่อตั้งกองทุน ก่อตั้งมูลนิธิในการช่วยเหลือคนจนขึ้นมากมาย ได้รับความชื่นชมจากนักวิชาการที่จับตาดูการพัฒนาทั่วโลก

ของบ้านเราก็มีมูลนิธิคนรวย แต่มักจะทำอย่างหน่อมแน้มและทำแบบประชาสัมพันธ์พอให้ได้ชื่อว่าฉันทำแล้วเป็นส่วนใหญ่

พอดีผมมีโอกาสไปเที่ยวเชียงรายเมื่อ 2-3 ปีก่อน ไปเห็น บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ เขาไปทำ สิงห์ปาร์ค ที่เชียงราย และไปสนับสนุนกิจการหลายๆ อย่างของเชียงราย ทั้งทีมฟุตบอลและการเรียนการสอนภาคธุรกิจในมหาวิทยาลัย ฯลฯ

ประกอบกับผมมีโอกาสสัมภาษณ์ คุณ บัณฑูร ล่ำซำ ในยุคที่ท่านเป็นประธานใหญ่ของธนาคารกสิกรไทย และลงไปช่วยพัฒนาจังหวัดน่านขนานใหญ่ หลังจากที่พบว่าป่าจังหวัดน่านถูกทำลายอย่างยับเยิน

ท่านจึงไปสนับสนุนโครงการ “รักษ์ป่าน่าน” ในพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

โดยเริ่มต้นจากโครงการ “น่านแซนด์ บ็อกซ์” เลือกตำบลหมู่บ้านที่จะทดลองเพื่อหารูปแบบในการพัฒนา เพื่อฟื้นฟูป่าน่านอยู่ในขณะนี้

จาก 2 ตัวอย่างนี้ผมก็กลับมาเขียนเสนอให้คนรวยอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในอันดับ 1-50 ของนิตยสารฟอร์บส์ ลงไปทำบ้าง

เลือกจังหวัดต่างๆ ไปคนละจังหวัดแล้วก็ลงมือทำแข่งกัน เอาสัก 50 จังหวัด จาก 77 จังหวัด ก็คงจะช่วยแก้ปัญหาช่องว่างลงไปได้เยอะ

ผมไม่แน่ใจว่าท่านเศรษฐีทั้ง 50 ท่าน จะมีใครที่ไหนไปเลือกจังหวัดใด หรือท้องที่ใดกันแล้วบ้าง? ท่านอาจจะไปเงียบๆ เพราะต้องการทำบุญแบบปิดทองหลังพระแล้วก็ได้

ยังไงๆ ก็อย่าลืมส่งข่าวมาที่ผมด้วยนะครับ ผมยินดีจะนำมาช่วยเขียนให้ เพื่อเป็นกำลังใจและขอบคุณท่านเศรษฐีทุกท่านที่จะลงมาช่วยพัฒนาแก้ปัญหาช่องว่างของประเทศไทย

พอดีเมื่อวันก่อนผมอ่านข่าวเจอคนรวยอีกท่านหนึ่ง จะลงไปช่วยพัฒนาชุมชนหนึ่ง แม้จะไม่ถึงระดับจังหวัดหรืออำเภอ แต่ก็เป็นชุมชนที่ใหญ่มาก เข้าข่ายคนรวยช่วยคนจนตามโมเดลที่ผมเสนอพอดิบพอดี

พรุ่งนี้ค่อยเฉลยนะครับว่าคนรวย (และสวยด้วย) คนนี้คือใคร?

“ซูม”