ภาพยนตร์เรื่องนี้เลือกที่จะเล่นกับประสบการณ์ของปัจเจกบุคคล ทว่าตั้งคำถามกับทุกความสัมพันธ์ของเราทุกคน กระตุ้นให้เราไปรื้อค้นข้าวของในสมองอีกครั้ง มันจึงตอบไม่ได้ว่าหนังแย่หรือไม่แย่ มันมีแค่คุณรู้สึกไปกับหนังด้วยความรู้สึกเดียวกันมากขนาดไหน
ความแสบของหนังคือ การพูดเรื่องการเมืองในเรื่องบ้าน (และครอบครัว) ตอนช่วงจีน (ออกแบบ – ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง) วางแผนจะจัดบ้านคงจะทำให้ใครหลายคนถึงกับตบเข่าฉาดว่า นี่มันหนังการเมืองชัดๆ !
ทีนี้มาถึงคำถามสำคัญของเรื่อง คือ ใครกันแน่ (วะ) ที่เห็นแก่ตัว ? ระหว่างคนที่จากไปแล้วไม่บอกลา กับคนที่กลับมาบอกเพื่อจบการจากลาอย่างดีที่สุด เนื่องด้วยส่วนผสมของความสัมพันธ์หนึ่งมันยุ่งยาก จะตัดทิ้งไร้หัวใจก็คงได้แหละ แต่ “เราต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ตัวเรา” ดังนั้นความสัมพันธ์มันก็ยังสำคัญสำหรับเราอยู่ดี ในฐานะที่เรายังเป็นมนุษย์ แล้วก็ไอ้เพราะความที่เราต่างต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ตัวเอง ทุกคนจึงอยากให้เรื่องของเราลงเอยด้วยดีทั้งนั้นแหละ แต่ก็ไม่ใช่ทุกครั้งที่ “เรื่องของเรา” จะเป็น “เรื่องของเขา” ด้วย ในอีกแง่ การสิ้นเรื่องของเรา กลับเป็นการเขี่ยแผล ขุดเชื้อให้ “เรื่องของเขา” เสียด้วยซ้ำ
การทิ้งจึงเป็นสงคราม ทั้งต่อตัวเองและอีกฝ่าย เป็นสงครามที่ไม่มีวันจบสิ้น เป็นสงครามที่เราต้องเผชิญและผ่านไปกันทุกคน เราต่างสร้างรอยแผลไว้ซึ่งกันและมันไม่มีวันย้อนคืนมาดีเหมือนเดิมได้ ซึ่งถ้าเป็นการละเล่นรอบกองไฟหรือนิทานอีสปก็คงจบแบบเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า จงทำดี จงทำดี จงทำดี เฮ่ ! แต่นี่ชีวิตจริงไง ! ดังนั้นก็ต้องเจ็บช้ำ Heal ตัวเอง และ Move On กันไปทางใดทางหนึ่งอยู่ดี จนกว่าจะหลุดพ้นสังสารวัฏกันไปข้างหนึ่งนั่นแหละ
ที่สุดแล้ว Move On ≠ Continue เสมอไป…
ตัวละครที่พิสูจน์ความคิดนี้ในเรื่องได้ดีที่สุดก็คงจะเป็น(อา)ม้า (พี่อุ๋ม – อาภาศิริ นิติพน) ผู้มาพร้อมดนตรี “…ปลูกกุหลาบแดงไว้เพื่อเธอ เก้าพันเก้าร้อยเก้าสิบเก้าดอก บ่งบอกความจริงที่ยิ่งใหญ่ บ่งบอกว่าใจฉันยังคงมั่น…” จังหวะเพลงนี้หลังประโยค “ฉันเล่น !” ของม้า ในเรื่องมันช่างลงตัวดีจริงๆ
สำหรับด้านการแสดง “น้อยแต่มาก” ยังไง พี่อุ๋ม อาภาศิริ ก็ยังคงยืนหนึ่งอยู่ดี เข้าใจเลยว่าทำไมบทม้าต้องเป็นพี่อุ๋ม เพราะตัวละครนี้มันช่างถูกจริตกับวิถีและวิธีการแสดงของเธอ และนี่คงเป็นหนังเรื่องแรกแหกขนบไทยเลยทีเดียว ด้วยScene คนเป็นพ่อเป็นแม่ พูดกับลูกว่า “เลิกยุ่งกับชีวิตคนอื่นซะที !” ส่วนฉากการพูดคุยกันของสามแม่ลูกบนโต๊ะกินข้าว (?) ทำคะแนนบวกในส่วนนักแสดงขึ้นพรวดพราด เพราะฉากนี้ฉากเดียว เรียกว่า Damage แบบติด Critical เลยจริงๆ
และถ้าพี่อุ๋ม Damage แบบติด Critical เฮียซันนี่ – ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ กับบทของพี่เอ็ม ก็คือหมัด Knock Out ที่ทำให้ฉากสุดท้ายของจีนและเอ็มมันเป็นความปล่อยว่าง (ไม่ใช่ปล่อยวาง) ที่โคตรกระอักกระอ่วนเลย การเดินออกไปจากฉากนั้นของจีนมันกระทบความรู้สึกบางอย่างที่เราหลายคนเคยมี เพื่อพยายามจบความสัมพันธ์ใดๆ ในชีวิตให้ดีที่สุด และหนังเรื่องนี้คือเรื่องแรกที่ชวนเรากลับมาเจอ (เข้าใจ) ความรู้สึกนั้นผ่านตัวละคร
แท้จริงเป็นเราที่ต้องทิ้งของเหล่านั้น หรือต้องเลือกให้ของเหล่านั้นมันทิ้งเรากันแน่วะ มันก็อยู่ที่เราว่าจะเลือกแบบไหนกับสถานการณ์อะไร ที่สุด อาจจะเป็นเราเองที่ต้องทิ้งตัวเองออกมาจากทุกอย่างตรงนั้นต่างหาก ซึ่งนับว่าผู้กำกับ เต๋อ – นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ เล่าเรื่องราวได้จริงอย่างไม่ต้อง Feel Good ไร้ความประนีประนอมใดๆ อย่างขนบคุ้นชินของ gdh (หรือ GTH ในอดีต)
แต่สิ่งที่นับว่าเป็นปัญหาสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ คือความที่ผู้กำกับใส่ลายเซ็นหรือกระทั่งความเป็นตัวของตัวเองไว้มาก มากจนเกิดบางบทสนทนาที่เกือบคิดว่าเรากำลังอ่านข้อความจาก Twitter ที่ต้องปะทะอารมณ์เราให้ได้ ภาพใต้ตัวอักษรที่จำกัด อีกประการที่ทำให้เสียแต้มไปก็คือ ความเป็น “Monotone” ของหนัง ที่ไม่ใช่ประเด็นของการคุมโทนสีใดๆ แต่มันคือแรงกระเพื่อมจากหนังที่เดินไปเรื่อยๆ ของทุกตัวละคร เนิบช้า นิ่ง จนรู้สึกว่านี่เราจะเจอ “คนเซอร์” เบอร์นี้ในชีวิตจริงได้หรือไร
สุดท้ายสำหรับเรา ฮาวทูทิ้ง เป็นหนังที่พาเรา “Move On” ไปกับเรื่องตลกร้าย ล้อเล่นกับความทรงจำ การบอกลา และความเห็นแก่ตัวของคนทิ้ง – คนถูกทิ้ง ได้อย่างเป็นมนุษย์ที่สุดเรื่องหนึ่ง
“…จะเก็บและทิ้งวันดีๆ เอาไว้…”
ให้คะแนนเลย 8/10
Pitirach Joochoy