เกาะ Samso ของเดนมาร์ก ที่คณะสื่อมวลชนไทยมีโอกาสไปเรียนรู้เรื่องการใช้พลังหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาดนั้น อยู่ห่างจากโคเปนเฮเกนไม่มากนัก
ใช้เวลาเดินทางไปที่ท่าเรือประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อที่จะนั่งเรือเฟอร์รี่ข้ามฟากไปที่เกาะอีกชั่วโมง 20 นาที รวมแล้วจากโคเปนเฮเกนถึงเกาะแซมโซ่จะใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมงครึ่ง โดยประมาณ
เกาะแซมโซ่เป็นเกาะขนาด 114 ตารางเมตร เล็กกว่าเกาะสมุยเราสักครึ่งหนึ่ง แต่มีประชากรแค่ 3,800 คนเท่านั้นเอง
เมื่อครั้งที่รัฐบาลเดนมาร์กมีนโยบายจะใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียน เพื่อลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลที่ทำให้โลกร้อน เมื่อปี 1997 ได้ออกประกาศหา “ชุมชน” ตัวอย่างที่จะมาเป็นแม่แบบในการทดลองดำเนินการว่าจะทำได้หรือไม่? อย่างไร?
มีหลายชุมชนยื่นใบสมัครไปที่รัฐบาลกลางแต่ แซมโซ่ เสนอแผนงานได้โดนใจกว่าจึงได้รับเลือกโดยได้รับเงินสนับสนุนส่วนหนึ่ง
คณะของเราเดินทางไปถึงแซมโซ่ประมาณ 10 โมงเช้าเศษๆ จุดหมายแรก คือ Energy Academy หรือสถาบันเรียนรู้เรื่องพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการให้ความรู้และเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนให้ชุมชนแซมโซ่ก้าวไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้
ที่สถาบันนี้เองเรามีโอกาสได้พบกับคุณ Jesper RougKristensen ที่เปรียบเสมือนครูใหญ่หรือหัวหน้าสถาบัน ซึ่งจะทำหน้าที่บรรยายสรุปเรื่องราวทั้งที่มาและที่ไปให้พวกเรารับทราบ รวมทั้งจะนำเราออกมาดูชมสถานที่ต่างๆ ในภาคสนามอีกด้วย
สรุปข้อใหญ่ใจความจากการบรรยายขอครูเจสเปอร์ได้ว่า หลังจากได้รับเลือกจากรัฐบาลให้เป็นชุมชนตัวอย่างแล้วทางแซมโซ่ก็ดำเนินการเรื่อยมาอย่างแข็งขันจนถึงปัจจุบัน ประสบความสำเร็จและก้าวหน้าอย่างมากมายมีผู้สนใจจากประเทศต่างๆ ขอดูงานตลอดทั้งปี
ต่อมา เมื่อเดนมาร์กกำหนดไว้ว่าจะให้ประเทศปลอดจากการใช้พลังงานฟอสซิล 100 เปอร์เซ็นต์ ใน ค.ศ.2050 ดังนั้นแซมโซ่ต้องทำให้ได้เร็วกว่า จึงกำหนดไว้ที่ ค.ศ. 2030 หรือเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ 20 ปี
ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างก็เดินหน้าไปอย่างดียิ่ง โดยเฉพาะการใช้การผลิตพลังงานไฟฟ้าบนเกาะนี้ มาถึงขั้น 100 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นพลังงานทดแทนหมดแล้ว นั่นก็คือจาก กังหันลม ทั้งหมด
มีการใช้กังหันลมไฟฟ้าที่ท้องถิ่นลงทุนเอง โดยมีประชาชนส่วนใหญ่ถือหุ้นรวมทั้งหมด 21 ตัวอยู่บนบก 11 ตัว และในทะเล 10 ตัว ผลิตไฟฟ้าเกินใช้บนเกาะ จึงส่งไปจำหน่ายบนแผ่นดินใหญ่และมีแผนจะส่งไปขายที่เยอรมนีบางส่วน
ในขณะที่การผลิตน้ำอุ่นแจกจ่ายไปตามบ้านต่างๆ ก็ทำจากหม้อต้มยักษ์ 3 เตาใหญ่ที่ใช้พลังงานจากการเผาฟาง ซึ่งมีอย่างเหลือเฟือในเกาะแซมโซ่
มองในภาพรวมโอกาสที่เกาะนี้จะเป็นเกาะพลังงานสะอาดภายในปี 2030 น่าจะเป็นไปได้พอสมควร
เพราะการใช้พลังงานด้านไฟฟ้าก็ดี การทำความร้อนความเย็นก็ดี เขาใช้พลังงานหมุนเวียนได้เกือบหมดแล้ว เหลืออยู่ก็แต่ภาคขนส่ง ซึ่งรถส่วนใหญ่ที่มาจากนอกเกาะยังคงใช้น้ำมัน และพวกรถบรรทุก รถไถนา รถขนฟาง ตัดฟาง ก็ยังคงใช้ดีเซลเป็นส่วนมาก
ในทางปฏิบัติฝ่ายบริหารท้องถิ่นได้พยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้โดยเฉพาะรถเทศบาลทุกคัน หันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด ยกเว้นภาคเอกชนที่ยังใช้รถเติมน้ำมันกันอยู่
แต่คุณครูเจสเปอร์ ผู้บรรยายก็ยังเชื่อมั่นว่าคงทำได้และจะค่อยๆ ทำไป เพราะในอนาคตบริษัทผลิตรถยนต์ก็มุ่งไปในด้านผลิตรถใช้ไฟฟ้ากันอยู่แล้ว
ต้องขอขอบคุณคุณครูและชาวเกาะแซมโซ่ที่ให้ความรู้แก่พวกเราและสร้างความหวังให้เห็นว่าการใช้พลังงานสะอาด 100 เปอร์เซ็นต์มีโอกาสเป็นไปได้
สำหรับประเทศไทยของเราคงไม่ต้องทำให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์อย่างเขาหรอก ขอสัก 20 เปอร์เซ็นต์ 30 เปอร์เซ็นต์ ผมก็พอใจแล้วละ เพราะรู้ดีว่าการจะขับเคลื่อนอะไรสักอย่างไม่ใช่เรื่องง่ายๆ สำหรับประเทศไทย
เพราะฉะนั้นที่ประเทศไทยตั้งเป้าว่าในปี 2030 จะใช้พลังหมุนเวียน 30 เปอร์เซ็นต์ในการผลิตไฟฟ้า ผมจึงเห็นด้วย…ห่วงแต่ว่าแค่นี้ก็จะทำได้ไม่ถึงเท่านั้นละครับ หากนโยบายไปอย่าง ภาคปฏิบัติไปอย่าง ตามสไตล์ไทยแลนด์โอนลี่ของเรา.
ซูม