เปิดหน้ากาก “ผู้ร้าย” ซ้ำเติม “หนี้ครัวเรือนไทย”

เมื่อวานนี้ผมทิ้งทายว่าจะขอเขียนถึงเรื่องหนี้ครัวเรือนต่อจากเอกสารที่สภาพัฒน์วิเคราะห์ไว้อีกหนึ่งวัน เพราะติดใจในการทุ่มเท เอาใจใส่ เรื่องหนี้ครัวเรือนของท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ท่านพูดถึงเรื่องนี้มานาน ชี้ให้เห็นปัญหามาอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดก็ได้ไปแสดงปาฐกถาในงาน National Director Conference 2019 ที่โรงแรมดิแอทธินี แบงค็อก เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ดร.วิรไท สันติประภพ เริ่มด้วยการให้ข้อมูลทั่วๆ ไป เพิ่มเติมจากรายงานของสภาพัฒน์ สรุปข้อใหญ่ใจความได้ว่า…คนไทยยุคนี้ “เป็นหนี้” เร็วขึ้น นานขึ้นและมากขึ้น เมื่อเทียบกับ 6-7 ปีก่อน

โดยเฉพาะค่ากลางของหนี้ต่อหัวเพิ่มขึ้นถึงกว่าเท่าตัว จากเฉลี่ยประมาณ 70,000 บาท ในปี 2553 มาอยู่ที่ประมาณ 150,000 บาท ในปี 2560 จากข้อมูลงานวิจัยของ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่เกาะติดเรื่องนี้มาโดยตลอดอีกสถาบันหนึ่ง

ค่าเฉลี่ยหนี้ต่อครัวเรือนที่เพิ่มกว่าเท่าตัวนี้ ยังมิได้นับรวมหนี้นอกระบบ หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์และหนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาด้วยซ้ำ…ถ้าเอามารวมได้ ยอดหนี้สินจะยิ่งสูงขึ้นไปอีก

ดร.วิรไทกล่าวด้วยว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นรวดเร็วมาก เป็นเพราะภาคธุรกิจพยายามกระตุ้นลูกค้าให้ซื้อของฟุ่มเฟือย หรือก่อหนี้จนเกินความจำเป็น

ยกตัวอย่างในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีการแข่งขันสูงมาก มีการส่งเสริมการขาย ส่งเสริมให้ลงทุนซื้อโดยไม่ได้อยู่อาศัยจริงเพิ่มขึ้นอย่างน่าสังเกต

ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์ก็แข่งขันกันปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยผ่อนปรนหลักเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อ รวมทั้งมีการให้ “สินเชื่อเงินทอน” ด้วย ส่งผลให้สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น

คำว่า “สินเชื่อเงินทอน” ดูจะเป็นศัพท์ใหม่ที่ท่านผู้ว่าการ ธปท.หยิบยกมาใช้ในการบรรยายครั้งนี้ ซึ่งท่านก็อธิบายเพิ่มเติมว่า…

สินเชื่อเงินทอน หมายถึง การปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในวงเงินที่สูงกว่ามูลค่าที่ลูกค้าซื้อจริงๆ ทำให้ลูกค้าที่กู้เงินซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้เงินสดก้อนโตไปใช้จ่ายเพื่อการอื่นๆ ด้วย

“มีลูกค้าที่กู้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 3 สัญญาขึ้นไปพร้อมกันเพิ่มขึ้นมาก เพียงเพื่อหวังเงินทอนก้อนโตและมิได้อยู่อาศัยจริง”

ท่านผู้ว่าการวิรไทย้ำด้วยว่า “การกระทำดังกล่าวเป็นการสนับสนุนให้เกิดการก่อหนี้ที่เกินความจำเป็นซ้ำเติมปัญหาหนี้สินครัวเรือนไทยให้รุนแรงมากขึ้น”

ในช่วงสุดท้าย ท่านกล่าวเตือนภาคธุรกิจเอกชนไว้ว่า “การทำธุรกิจโดยคำนึงแต่ผลประโยชน์ระยะสั้นเป็นหลัก มุ่งแสวงหากำไรที่เกินพอดี โดยไม่คำนึงถึงผลข้างเคียงที่จะมีต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อม จะไม่ยั่งยืนในระยะยาว”

“ภาคธุรกิจ จึงควรดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนใส่ใจในธรรมาภิบาล ที่ดีทั้งภายในองค์กรเองและธรรมาภิบาลในความหมายกว้าง ที่คำนึงถึงผลกระทบเชิงลบที่ธุรกิจนั้นๆ จะมีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม”

ผมเชื่อว่าแบงก์ชาติคงจะได้มีการตักเตือนอย่างเป็นทางการ สำหรับนักธุรกิจหรือสถาบันการเงิน ที่ใช้นโยบายที่ไร้ธรรมาภิบาล จนเกิดผลกระทบซ้ำเติมทำให้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนรุนแรงขึ้น ก่อนที่ท่านจะนำมาบอกเล่าเพื่อเป็นตัวอย่าง

เท่าที่ติดตามผลงานของท่านมาพอสมควร ต้องขอชื่นชมที่ท่านให้ความสนใจต่อปัญหาหนี้สินครัวเรือนไทยอย่างชนิดกัดไม่ปล่อยมาโดยตลอด

จะพูดจะย้ำจะชี้ให้เห็นปัญหาหลายต่อหลายครั้งจนบางครั้งถึงกับโดนอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังท่านที่แล้ว ออกมาเบรก

แต่ท่านผู้ว่าการ ธปท.ก็มิได้หยุดยั้งที่จะพูด หรือแสดงความเห็น รวมทั้ง ตักเตือนให้ทุกฝ่ายในสังคมไทยตระหนักถึงปัญหาหนี้สินครัวเรือนแต่อย่างใด

ผมหวังว่าท่านจะพูดต่อไป รวมทั้งลงมือทำต่อไปในส่วนที่ท่านมีอำนาจที่จะทำได้ เพื่อกำราบหรือป้องปราม หรือแม้แต่จะปราบปรามภาคธุรกิจเอกชน โดยเฉพาะสถาบันการเงิน (ถ้ามี) ที่มุ่งหวังจะสร้างกำไรให้แก่บริษัทหรือสถาบันของตนเองโดยไม่คำนึงแม้แต่น้อยว่าจะเกิดผลเสียอย่างไรบ้างแก่สังคมไทยโดยรวม

มีไม่น้อยนะครับบริษัทที่มุ่งหวังกำไรเป็นใหญ่จนลืมธรรมาภิบาลกันไปหมดในยุคนี้.

“ซูม”