ปิดตำนาน “ซีอุย” “60 ปี” คดีกินตับเด็ก

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ท่านคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ศ.นพ.ประสิทธิ วัฒนาภา เปิดเผยแก่ผู้สื่อข่าวว่า คณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นเพื่อพิจารณากรณีของ “นายซีอุย แซ่อึ้ง” ได้มีมติเห็นชอบให้ฌาปนกิจร่างของนายซีอุย และกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะฌาปนกิจได้ในเร็วๆ นี้

ถ้อยแถลงของท่านคณบดีฯ เป็นข่าวในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ และโทรทัศน์หลายช่อง รวมทั้งในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ แม้จะมิใช่ข่าวพาดหัวใหญ่ แต่ก็มีการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง

ท่านผู้อ่านที่มีอายุตํ่ากว่า 60 ปีลงมาอาจจะเคยได้ยินชื่อเสียงของนายซีอุยอยู่บ้าง แต่ก็คงไม่คุ้นเคย หรือรู้สึกว่ามีส่วนร่วมเท่าไรนัก

ตรงข้ามกับคนอายุ 70 กว่าๆ ซึ่งยังเป็นเด็กในช่วงที่นายซีอุยเป็นข่าวใหญ่พาดหัวหนังสือพิมพ์ เมื่อประมาณ พ.ศ.2501-2502 ที่ยังจดจำเรื่องราวของชายชาวจีนชื่อนี้ได้เป็นอย่างดี

ในฐานะฆาตกรโหดที่สังหารเด็กแล้วควักตับไปรับประทานจนได้รับฉายาว่า “ซีอุยกินตับ” และกลายเป็นถ้อยคำที่ผู้ใหญ่มักจะนำมาขู่เด็กๆ ว่า “ระวังนะเดี๋ยวซีอุยจะมากินตับ” ในยุคโน้น

ช่วงนั้นผมเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนที่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา อายุประมาณ 17-18 ปี ไม่ใช่เด็กๆแล้วละ จึงจดจำเรื่องนี้ได้อย่างละเอียด และสามารถเล่าให้ลูกๆ ฟังได้ตอนที่ไปเยี่ยม พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ สงกรานต์ นิยมเสน ของศิริราช เมื่อหลายๆ ปีก่อน

นายซีอุยถูกกล่าวหาว่าสังหารเด็ก ถึง 7 ราย ในพื้นที่ 4 จังหวัด มากที่สุดคือ 4 ราย ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยรายสุดท้ายเหตุเกิดที่จังหวัดระยอง และถูกจับได้ที่จังหวัดนี้

ข่าวคราวการจับกุมและการดำเนินคดีนายซีอุย แซ่อึ้ง ขึ้นหัวยักษ์หนังสือพิมพ์ทุกฉบับติดต่อกันหลายวัน และลงท้ายด้วยข่าวการพิพากษาของศาลอุทธรณ์ว่า นายซีอุยมีความผิดโทษถึงขั้นประหารชีวิต

เมื่อไม่มีการฎีกาก็ถือว่าคดีจบและต่อมาก็มีการประหารชีวิตนายซีอุย เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2502 ที่เรือนจำบางขวาง จากนั้นก็นำศพมาไว้ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อการศึกษาของนักศึกษาแพทย์ และนำมาจัดแสดงให้ประชาชนชมที่ พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ สงกรานต์ นิยมเสน จนถึงบัดนี้

จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้เอง ได้มีการโพสต์ตั้งประเด็นเป็นเชิงสงสัยว่า นายซีอุยจะเป็นแพะรับบาปของสังคมในยุคนั้นหรือไม่

เพราะอาจไม่ใช่ฆาตกรตัวจริง และอาจไม่ใช่เป็นมนุษย์กินคนที่โหดเหี้ยมอย่างที่กล่าวอ้างด้วยเหตุผลต่างๆ ที่มีการค้นพบในภายหลัง

จึงได้มีการเรียกร้องเข้าชื่อขอให้พิพิธภัณฑ์ยุติการจัดแสดงร่างของนายซีอุย เพื่อคืนศักดิ์ศรีและความยุติธรรมให้แก่เขา โดยการนำร่างของเขาไปประกอบพิธีทางศาสนาลบล้างตราบาปมนุษย์กินคน และเผยแพร่ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับคดีซีอุยเสียใหม่

แม้ในการแถลงข่าวเมื่อวันศุกร์ท่านคณบดีฯ คุณหมอประสิทธิ์จะยืนยันว่าการที่ศิริราชตัดสินใจจะนำร่างของนายซีอุยไปฌาปนกิจไม่ใช่เพราะ “แรงกดดัน” จากสังคม แต่ก็ “ขอขอบคุณ” ที่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมา ทำให้ชาวศิริราชได้มีการทบทวนด้วยหลักเหตุและผล

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการฌาปนกิจร่างของนายซีอุยในอีกไม่นานแต่เรื่องราวและการเรียนรู้เกี่ยวกับสมองของนายซีอุยจะยังอยู่ต่อไป เพียงแต่จะใช้หุ่นจำลองแทนตัวจริง ปรับปรุงคำบรรยายใหม่ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง แต่จะไม่เอ่ยชื่อบุคคลใดๆ ทั้งสิ้น

ท่านคณบดีกล่าวถึงซีอุยด้วยความเคารพและยกย่องว่า “ผมยืนยันว่า 60 ปีที่ผ่านมา เห็นร่างนายซีอุยเป็นเหมือนครู และมีคุณูปการต่อกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์อย่างยิ่ง โดยมีอาจารย์แพทย์ได้ทำการศึกษาเนื้องอกในสมองที่ทำให้พบว่ามีผลทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงได้”

สำหรับผมแม้จะอยู่ในเหตุการณ์นี้และเคยเชื่อโดยสนิทใจตามกระแสข่าวในยุคนั้น รวมถึงคำพิพากษาของศาลในยุคนั้น ว่านายซีอุยน่าจะผิดจริง แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปผมก็ชักลังเลเหมือนกัน

ดังนั้น เมื่อคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ตัดสินใจฌาปนกิจร่างนายซีอุยจะด้วยเหตุผลใดก็ตามผมจึงเห็นด้วยทุกประการ

60 ปีที่ซีอุยเป็นครูสอนนักเรียนแพทย์และคนไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ถ้าเป็นข้าราชการก็ได้เวลาเกษียณแล้วละอายุ 60 เนี่ย ให้เขาไปพักผ่อนและใช้หุ่นสอนแทน ก็ถูกต้องแล้วละครับท่านคณบดี.

“ซูม”