กำนันเป๊าะที่เคยสัมผัส

เว็บข่าวของทุกสำนักรายงานตรงกันว่า “กำนันเป๊าะ” หรือสมชาย คุณปลื้ม อดีตกำนันผู้ทรงอิทธิพลของจังหวัดชลบุรี เจ้าของฉายา “เจ้าพ่อตะวันออก” เสียชีวิตแล้ว เมื่อเวลา 03.00 น. วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน 2562 สิริอายุ 81 ปี 9 เดือน

ถือเป็นการปิดตำนานชีวิตคนดังคนหนึ่งของประเทศไทย เพราะกิตติศัพท์ของกำนันเป๊าะมิใช่จะเป็นที่รู้กันเฉพาะจังหวัดชลบุรี หรือในภาคตะวันออกเท่านั้น แต่เป็นที่รู้จักอย่างดียิ่งของคนไทยทั่วประเทศ

ในฐานะผู้ทรงอิทธิพลที่คุมอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองทั้งบนดินและใต้ดินของชายฝั่งทะเลตะวันออกเอาไว้ในกำมือมาเป็นเวลายาวนาน ก่อนจะโดน “คดีทุจริตซื้อที่ดินเขาไม้แก้ว” และคดีจ้างวานฆ่านายประยูร สิทธิโชค ซึ่งศาลฎีกาอ่านคำพิพากษาให้จำคุกกำนันเป๊าะรวมกัน 2 คดี 28 ปี 4 เดือน แต่กำนันเป๊าะได้หลบหนีไปเสียก่อน

มีข่าวว่ากำนันไปหลบอยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้านและหายไปประมาณ 7-8 ปี จนถึง พ.ศ.2556 ก็ถูกจับกุมได้บนถนนมอเตอร์เวย์ขณะมารักษาตัว ใน กทม. ด้วยโรคเบาหวาน และถูกส่งตัวเข้าสู่เรือนจำชลบุรี เป็นข่าวใหญ่ของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ

จากนั้นก็มีข่าวว่ากำนันต้องเข้าๆ ออกๆ ระหว่างเรือนจำกับโรงพยาบาลหลายแห่ง โดยในระยะหลังข่าวจะบอกว่าเป็นโรคมะเร็ง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ปี 2560 จึงได้รับการพักโทษและเข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสมิติเวช ชลบุรี จนกระทั่งจบชีวิตที่โรงพยาบาลแห่งนี้

หากเราศึกษาชีวิตของเจ้าพ่อหรือผู้ทรงอิทธิพลทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นของต่างประเทศ หรือของไทยเราเอง จะพบว่า ย่อมมีทั้งมิตรและศัตรูทั้งคนชังและคนรัก

กำนันเป๊าะเองก็คงจะมีทั้งคนรักและคนไม่รัก ในทำนองเดียวกัน แต่เท่าที่ผมมีโอกาสลงหาข้อมูลด้วยตนเอง ในจังหวัดชลบุรี ทั้งในฐานะสื่อมวลชน และข้าราชการของสภาพัฒน์ ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลแผนพัฒนาจังหวัดอยู่ระยะหนึ่ง ทำให้ลงพื้นที่ชลบุรีบ่อยมาก

ผมพบว่าความรู้สึกของผู้คนส่วนใหญ่ในชลบุรีและจังหวัดใกล้เคียง มองกำนันเป๊าะในแง่ดี รวมถึงให้การยกย่องด้วยซํ้า

ข้าราชการฝ่ายปกครองเกือบทุกคนที่ผมคุยด้วย แม้ในระดับสูงของจังหวัด ก็จะเอ่ยถึงกำนันเป๊าะอย่างให้เกียรติและชื่นชม

ในฐานะสื่อมวลชนผมมีโอกาสสัมภาษณ์กำนันเป๊าะ 2 ครั้ง ครั้งแรกคุยกันต่อหน้าผู้ว่าราชการจังหวัดในยุคโน้น โดยทางฝ่ายผมมีอดีตหัวหน้ากองบรรณาธิการไทยรัฐ คุณสมิต มานัสฤดี เป็นหัวหน้าทีม และ คุณจุ่น บางระจัน อดีตหัวหน้าข่าวกีฬาไทยรัฐ เป็นเพื่อนร่วมทีม

ช่วงนั้น ไทยรัฐ ร่วมกับ “แสงโสม” จะแข่งขันหมากรุกไทยชิงแชมป์ ประเทศไทย และวางแผนให้แชมป์ ภาคตะวันออก ไปชิงกันที่ชลบุรี จึงขอพบท่านผู้ว่าราชการจังหวัดใน พ.ศ.นั้น ซึ่งท่านก็ขอให้กำนันเป๊าะมาร่วมด้วย

ผมพบว่ากำนันเป๊าะเป็นคนนอบน้อมถ่อมตน ให้เกียรติ พี่สมิต มานัสฤดี หัวหน้ากองบรรณาธิการอย่างมาก และยอมรับเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดการแข่งขันหมากรุกให้เรากับแสงโสมในที่สุด

ครั้งที่ 2 ผมไปคุยหลังจากผมเกษียณจากราชการแล้ว คุยกันตัวต่อตัวอยู่เป็นชั่วโมง แทบไม่เชื่อด้วยซํ้าไปว่า กำนันเป๊าะจะมีอิทธิพลอะไรมากมายอย่างที่เคยได้ยินกิติศัพท์ เพราะคุยสนุกมาก เป็นกันเองใช้คำว่าพี่ว่าน้องอย่างสนิทสนม

ผมจำไม่ได้แล้วว่าได้เขียนถึงกำนันเป๊าะเอาไว้อย่างไรบ้าง หลังการสัมภาษณ์ครั้งนั้น เพราะช่วงดังกล่าวไทยรัฐยังไม่เข้าสู่ระบบออนไลน์ จึงไม่สามารถค้นผ่านกูเกิลได้ ครั้นจะเข้าไปค้นในห้องสมุดไทยรัฐ ก็ไม่แน่ใจว่าปีไหน เดือนไหน คงใช้เวลานานพอสมควร

แต่ไม่ว่าผมจะเขียนเอาไว้อย่างไร กำนันเป๊าะก็ได้จบชีวิตลงแล้ว และก็ได้ชดใช้กรรมหรือการกระทำของกำนันในคดีที่ก่อขึ้น ตามคำพิพากษาของศาลไปแล้วตามขั้นตอนของกฎหมาย ผมก็ขออนุญาตใช้คำว่า RIP ซึ่งย่อมาจาก Rest In Peace หรือ “พักผ่อนให้สงบ” ของฝรั่ง ที่บ้านเรานิยมนำมาติดแฮชแท็กให้แก่ผู้เสียชีวิตทั้งหลาย มาใช้กับท่านกำนันด้วยก็แล้วกัน

เพื่อที่จะขอบคุณที่ครั้งหนึ่ง กำนันเป๊าะมีส่วนช่วยให้งานของพวกเราชาวไทยรัฐ (จัดแข่งหมากรุกชิงแชมป์ภาคตะวันออกที่ชลบุรี) ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง RIP นะครับท่านกำนัน.

“ซูม”