ขอบคุณละคร “กรงกรรม” ทำให้ “ชุมแสง” ดังสนั่น

ละครโทรทัศน์เรื่อง “กรงกรรม” ของช่อง 3 หรือ 33HD จบไปเรียบร้อยแล้วเมื่อค่ำคืนวันอังคารที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา แต่จะจบแบบไหนผมต้องเขียนต้นฉบับล่วงหน้า 1 วัน คาดเดาไม่ถูก ก็ได้แต่ลุ้นว่าขอให้จบแบบแฮปปี้เอนดิ้งเถอะ จะได้มีแก่ใจตามดูภาคต่อๆ ไป (ถ้าเผื่อจะมี)

เรตติ้งจะออกมาเท่าไรขณะที่ผมเขียนต้นฉบับวันนี้ยังไม่ทราบเช่นกัน แต่เท่าที่ระบุไว้ใน วิกิพีเดีย ทำได้ถึง 8.85 เมื่อวันที่ 23 เมษายน ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดของละครช่อง 3 ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2562 หรือปีนี้เลยทีเดียว

โดยปกติเรตติ้งวันสุดท้าย หรือตอนจบจะพุ่งพรวดขึ้นไปอีกพอสมควร ทำให้คาดกันว่าในคืนวันที่ 30 เมษายน เรตติ้งน่าจะทะลุหลัก 9 ไป 10 กว่าๆ เอาด้วยซ้ำ

แม้ผมจะไม่ได้ดูละครเรื่องนี้อย่างจริงจังทุกตอน แต่ก็จะดูทุกครั้งเมื่อมีโอกาส และจะติดตามกระแสและข่าวคราวมาโดยตลอด ในฐานะคน นครสวรรค์ ที่มี อำเภอชุมแสง เป็นฉากหลักของเรื่องนี้

แอบยิ้มด้วยความดีใจที่ทราบข่าวว่าตลอดเดือนมีนาคมมาจนถึงเมษายนที่ผ่านมา มีแฟนๆ ละครนั่งรถไฟไปลง สถานีชุมแสง ไปเดินเที่ยว ไปเช็กอิน และไปกินของอร่อยที่ชุมแสงอย่างคึกคัก

ต้องขอขอบคุณ คุณ “จุฬามณี” ผู้ประพันธ์นวนิยายเรื่อง “กรงกรรม” ไว้ ณ ที่นี้ ที่เรื่องดังๆ ทุกเรื่องของเขาจะใช้ตำบล หรืออำเภอของนครสวรรค์เป็นฉากอยู่เสมอๆ

เรื่อง “ชิงชัง” เคยทำให้ตำบล ท่าน้ำอ้อย อำเภอ พยุหะคีรี ดังยิ่งกว่าพลุแตกมาแล้ว และเรื่อง “สุดแค้นแสนรัก” หรือเรื่องของอีแย้ม น้องสาวย้อยในเรื่องนี้ ก็ทำให้ตำบล หนองนมวัว อำเภอลาดยาว ดังสนั่นพอๆ กัน ในช่วงที่ออกอากาศใครๆ ก็พูดถึงแต่หนองนมวัว

แต่ช่วงนั้นเรื่องการไปเที่ยวเมืองรอง หรือการตามรอยละครยังไม่ค่อยฮิตเท่าไรนัก ผู้คนจึงได้แต่พูดถึงเฉยๆ ไม่ได้แวะไปเที่ยว 2 ตำบลที่ว่าเท่าไรนัก

จนกระทั่งกระแสตามรอยละครเริ่มมาฮิตในเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” มีผู้คนแห่ไปอยุธยา ไปลพบุรีกันมาก…จึงพลอยส่งผลมาถึง “กรงกรรม” ด้วยที่คนดูละครแล้วอิน จนอยากไปเที่ยว อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ในขณะนี้

สมัยผมเด็กๆ เมื่อ 50-60 ปีก่อน ชุมแสง ถือเป็นอำเภอชั้นเอกของนครสวรรค์อำเภอหนึ่ง มีฐานะทางเศรษฐกิจอยู่ในอันดับเทียบเคียงกับ อำเภอตาคลี ซึ่งเป็นอันดับ 2 อันดับ 3 รองไปจาก อำเภอเมือง ซึ่งมีปากน้ำโพเป็นตัวชูโรง

ทุกวันนี้ความรุ่งเรืองของชุมแสงอาจจะลดน้อยลงไปบ้าง เหมือนๆ กับหลายๆ อำเภอของนครสวรรค์ แต่ก็ยังคงความขลังและความเก่าแก่อยู่ไม่น้อยเลย

ขอบคุณ คุณ “จุฬามณี” อีกครั้งสำหรับความเป็นคนรักบ้านเกิด

…นามปากกานี่ก็บอกชัดว่าเป็นคนนครสวรรค์ เพราะมีถนนอยู่สายหนึ่งเรียกว่า ถนน จุฬามณี ผมเคยอยู่กับร้านเถ้าแก่ซื้อขายถั่วงา ที่ถนนสายนี้ตอนเรียนหนังสือที่ปากน้ำโพ นอกจากนี้ ก็ยังเป็นชื่อของ พระเจดีย์จุฬามณี บนยอดเขา วัดคีรีวงศ์ อันโด่งดังของนครสวรรค์อีกด้วย

สำหรับละครเรื่องนี้หลายๆ คนชอบ เรณู ที่แสดงโดย ราณี แคมเปน บ้างก็ชอบ อาซา ที่แสดงโดย เจมส์ จิ…แต่ที่ทุกคนชอบมากอย่างเป็นเอกฉันท์ได้แก่ ใหม่ เจริญปุระ หรือ “ย้อย” ตัวหลักของเรื่องนั่นเอง

ผมก็ชอบ ย้อย ครับ ดูทีไรนึกถึง “แม่” ผมที่ล่วงลับไปแล้วทีนั้น เพราะสไตล์การเปิดร้านขายของของแม่ผมกับย้อยเหมือนกันเด๊ะเลย

แม้จะอยู่คนละอำเภอ แต่ร้านค้าในตลาดนครสวรรค์ยุคโน้นจะตกแต่งเหมือนกัน…จัดหน้าร้านเหมือนกัน โดยมีกระป๋องหรือถังใส่เศษสตางค์และแบงก์ย่อยห้อยอยู่กลางร้าน

ต้องปรบมือให้ แอค–อาร์ต เจเนอเรชั่น และ พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ไว้ ณ ที่นี้ที่เก็บรายละเอียดมาได้อย่างดีเยี่ยม

สรุปใครจะไปเที่ยวชุมแสงช่วงนี้ก็เชิญนะครับ ละครเพิ่งจบใหม่ๆ กระแสคงจะยังไม่จาง ไปเที่ยวไปเช็กอินเอาไว้เป็นที่ระลึกได้เลย เข้าใจว่าป้ายร้าน อัศวรุ่งเรืองพานิช พร้อมชื่อภาษาจีนจะยังคงอยู่

ไปกันเองจ่ายเงินของเราเอง โดยไม่ต้องรอรับแจกเงิน 1,500 บาท เพื่อไปเที่ยวเมืองรองของรัฐบาลนะครับ…ได้ข่าวว่าโครงการนั้นน่ะ กระทรวงการคลังเขาเลิกไปแล้วจ้า.

“ซูม”