“นิตยสาร” ยังไม่ตาย แต่ต้องรู้วิธีเอาตัวรอด

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อนรุ่นน้องในแวดวงสื่อมวลชนของผมคนหนึ่งที่ห่างหายไม่เจอกันเสียนาน แวะมาเยี่ยมพวกเราที่โรงพิมพ์

หอบนิตยสารรูปเล่มสวยงามมามอบให้พวกเราคนละ 1 เล่ม ชื่อนิตยสาร “อุ่นใจใกล้หมอ” ฉบับพิเศษ “Fit For Life”ประจำ เดือนมีนาคมที่เพิ่งผ่านไป

เขาบอกผมว่าที่หายหน้าหายตาไปนาน ไม่เจอผมเป็นเวลา 5-6 ปี ก็เพราะไปทุ่มเวลาให้กับนิตยสารเล่มนี้อย่างเต็มที่ ตั้งแต่ปี 2555 โน่น

เริ่มตั้งแต่ยอดพิมพ์ 1,000 เล่มต่อเดือน เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึง 5,000 เล่มต่อเดือน จำหน่ายเกลี้ยงทุกเล่ม ได้โฆษณาจุนเจือเต็มที่ ทำให้ยืนหยัดมาได้โดยตลอด

เนื่องจากเรื่องราวทั้งหมดในนิตยสารของเขาเป็นเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย และความรู้เรื่องโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ จึงใช้วิธีเจาะตลาดไปตามโรงพยาบาล และหลักๆ ก็คือโรงพยาบาลรามคำแหง โรงพยาบาลสินแพทย์ ที่ยอมเปิดให้เขาเข้าไปวางจำหน่ายในโรงพยาบาลได้

จริงๆ แล้วโรงพยาบาลนั่นแหละที่เป็นลูกค้าสำคัญ สามารถที่จะซื้อครั้งละหลายๆ ร้อยเล่ม เพื่อให้บริการคนไข้หรือลูกค้าของเขาได้โดยตรง

“ผมไม่วางแผงเลยนะ” เพื่อนรุ่นน้องย้ำ “วางเฉพาะตามโรงพยาบาล แล้วก็หาสมาชิกอย่างเดียว”

สมาชิกก็ไปหาจากคนไข้ในโรงพยาบาลนั่นแหละ เขาเห็นหนังสือ เขาสนใจว่ามีเรื่องที่เป็นประโยชน์แก่เขา…เขาก็บอกรับเป็นสมาชิก

จากนั้นเขาก็บอกถึงวัตถุประสงค์ที่แวะมาหาพวกเราว่า “แต่สำหรับฉบับนี้ผมพิมพ์ถึงแสนเล่ม ผลตอบรับดีมาก ก็เลยอยากจะมาบอกเพื่อนๆ และพี่ๆ ว่านิตยสารที่ขายได้แสนเล่มก็มีเหมือนกัน ในยุคที่นิตยสารกำลัง ล้มหายตายจากไปทีละฉบับ 2 ฉบับ อย่างทุกวันนี้”

เพื่อนรุ่นน้องของผมรายนี้จบนิเทศฯ จุฬาฯ เมื่อปี 2516 ก่อนจะไปต่อโทด้านโสตทัศนศึกษา ที่ครุศาสตร์ จุฬาฯ ผ่านประสบการณ์ด้านการผลิตข้อมูลข่าวสาร เขียนบทความ จัดวิทยุ ทำหนังสือพิมพ์ ทำนิตยสาร ทำโทรทัศน์ ฯลฯ มาตลอด 45 ปี

เอ่ยชื่อ สัมโพธิ เทียนทอง ชาวนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ รุ่นเก๋าจะร้องอ๋อ ทันที รวมไปถึงนิสิตจุฬาฯ รุ่นน้องใหม่ “ปี 2512” ที่เขาขันอาสาเป็นประธานประชาสัมพันธ์ให้แก่รุ่นมาตั้งแต่ต้นปีนี้ ก็น่าจะเคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของเขามาบ้าง

เหตุที่ สัมโพธิ มั่นใจว่านิตยสารของเขาจะขายได้ต่อไปอีกนาน ในอนาคต ก็เพราะกลุ่มประชากรวัย 40-50 ปีขึ้นไปยังเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทยเรา และคนกลุ่มนี้อย่างไรเสียก็ยังถนัดในการที่จะอ่านอะไรที่เป็นกระดาษเป็นรูปเป็นเล่มมีขนาดกว้างขวางพอสมควร มิใช่เล็กกระจิ๋วแบบโทรศัพท์มือถือ

ประกอบกับเรื่องราวและความรู้ด้านการแพทย์เป็นเรื่องที่อาจจำเป็นต้องอธิบายด้วยรูป ด้วยภาพ ด้วยกราฟิก ตัวโตหน่อยเพื่อให้อ่านเข้าใจง่าย นิตยสารจึงได้เปรียบโทรศัพท์มือถือในประเด็นนี้

ขณะเดียวกันเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องที่คนทุกคนต้องเอาใจใส่ โดยเฉพาะคนอายุกลางคนขึ้นไป ซึ่งเป็นตลาดสำคัญของนิตยสารฉบับนี้

“ทุกวันนี้คนเข้าออกโรงพยาบาลเป็นหมื่นๆ แสนๆ คนในแต่ละวัน โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนล้วนแต่เป็นบุคคลที่มีกำลังซื้อ ผมทดสอบตลาดมา 5 ปีว่าพิมพ์ดี พิมพ์สวย เขาซื้อแน่นอน”

“พอดีเล่มนี้ Fit For Life เป็นเรื่องเกี่ยวกับโรคหัวใจเรื่องของการออกกำลัง เพื่อหลีกเลี่ยงโรคหัวใจ รวมไปถึงความรู้เรื่องเครื่องทดสอบหัวใจแบบใหม่ด้วย ผมลองทดสอบตลาดแล้ว มั่นใจว่าคนต้องการอ่านแน่นอนก็ตัดสินใจสั่งพิมพ์ 1 แสนเล่มทันที”

ผมจับมือแสดงความยินดีกับเพื่อนรุ่นน้องไปเรียบร้อย

แต่วิธีคิดของเขา จะนำมาใช้กับนิตยสารทั่วๆ ไปได้หรือไม่ คงต้องหาข้อเท็จจริงไปอีกระยะหนึ่ง

เรื่องแพทย์ เรื่องสุขภาพ ซึ่งมีโรงพยาบาลต่างๆเป็นฐานรองรับ อาจทำได้…แต่สำหรับนิตยสารทั่วไปที่กลุ่มเป้าหมายกระจัดกระจายกว้างขวางและไม่มีฐานที่ชัดเจนจะทำได้อย่างไร?

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องขอบคุณที่เขานำนิตยสารเล่มนี้มามอบให้พวกเรา พร้อมบอกเล่าประสบการณ์ “แสนฉบับ” ให้ทราบจะพอเป็นกำลังใจสำหรับนิตยสารอื่นๆ หรือเป็นช่องทางต่อสู้ของนิตยสารแนวอื่นๆ ได้อย่างไร หรือไม่ โปรดนำไปต่อยอด ไปตีความ ไปขยายความหาช่องทางเอาเองก็แล้วกันครับ.

“ซูม”