เริ่มแล้ว “ศาล” ยุค 4.0 ตัวอย่างจากศาลปกครอง

เมื่อวานนี้ผมนำข้อมูลจากจดหมายข่าวของศาลปกครองมาลงทั้งคอลัมน์เพื่อให้ทราบถึงกิจกรรม เนื่องในโอกาสครบรอบ 18 ปี แห่งการเปิดทำการศาลปกครอง ซึ่งบางกิจกรรมเริ่มไปแล้วตั้งแต่เมื่อวาน และบางกิจกรรมจะเริ่มขึ้นในวันนี้ (พุธที่ 6 มีนาคม)

วันนี้ผมขออนุญาตเขียนถึงศาลปกครองต่อนะครับ เพราะจากแฟ้มเอกสารที่แนบมากับจดหมายข่าวนั้นเอง มีเรื่องราวที่เกี่ยวกับความก้าวหน้า และผลงานใหม่ๆ ที่น่าสนใจของศาลปกครองหลายต่อหลายเรื่อง

เรื่องที่โดนใจผมมากที่สุดจนอดมิได้ที่จะเขียนถึงอย่างต่อเนื่องในวันนี้ก็คือ ประเด็นของการเดินหน้าไปสู่การเป็น “ศาลอิเล็กทรอนิกส์” หรือ (e-Court) ตามแนวนโยบายการเข้าสู่ยุค 4.0 ของประเทศไทย

มีการกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ของศาลปกครอง รวมทั้งมีการดำเนินการติดตั้งและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ พ.ศ.2558

จากเอกสารที่ผมได้รับ…ศาลปกครองอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวนี้

จะเริ่มขบวนการตั้งแต่การ ยื่นฟ้อง ทางอิเล็กทรอนิกส์เลยทีเดียว ซึ่งหมายความว่า ในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างพร้อม ประชาชนสามารถที่จะยื่นฟ้องการดำเนินงานของภาครัฐ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้อีกหนทางหนึ่ง

ในขณะเดียวกัน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้องในแต่ละคดี ไม่ว่าจะเป็นคณะตุลาการ ศาลปกครอง พนักงานเจ้าหน้าที่ต่างๆ รวมถึงคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย ฯลฯ

ก็จะมีการจัดทำสำนวนคดี ตลอดจนรายละเอียดประกอบทุกอย่างเข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ทุกๆ ฝ่ายสามารถเข้าไปอ่านหรือศึกษารายละเอียดได้ โดยที่แต่ละคนจะอยู่ที่ใดก็ได้ ในระหว่างอ่านหรือพิจารณาสำนวนเหล่านั้น

รวมทั้งยังมีการเตรียมการที่จะออกแบบห้องพิจารณาคดี และไต่สวนอิเล็กทรอนิกส์ (e-Court rooms) ขึ้นด้วย โดยจะติดตั้งคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ตุลาการศาลปกครองและคู่กรณีสามารถเรียกดู และแสดงเอกสารในสำนวนอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ได้อย่างสะดวก

อีกทั้งเพื่อให้ผู้เข้ารับฟังการพิจารณาคดี สามารถเห็นเอกสารพยานหลักฐานที่ใช้ประกอบในการพิจารณาคดี และไต่สวนคดีโดยตลอด ก็จะมีการแสดงผลต่างๆ ผ่านเครื่องโปรเจกเตอร์และคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งอยู่โดยรอบห้องพิจารณาคดีไปด้วยพร้อมๆ กัน

ในระหว่างนี้ก็จะมีการบันทึกภาพและเสียงทั้งหมดไว้เพื่อให้สามารถเรียกดูย้อนหลังได้ อันจะนำมาซึ่งความโปร่งใสในการพิจารณาคดีต่างๆ

นี่คือภาพตัวอย่างของห้องพิจารณาคดีอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-Court rooms ที่จะเกิดขึ้นที่ศาลปกครองในอีกไม่นานนัก

เสียดายที่ผมยังเป็นคนรุ่นเก่าที่แม้จะไม่ตกรุ่นไปเสียทีเดียว แต่ก็ไม่สามารถที่จะก้าวทันเทคโนโลยีได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง รวมทั้งยังมีปัญหาในการทำความเข้าใจกับศัพท์สแลงเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอยู่มากพอสมควร ทำให้ไม่สามารถอ่านรายงานว่าด้วยการเข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ของศาลปกครองได้อย่างเข้าใจแบบทะลุปรุโปร่ง

แต่กระนั้นก็สามารถที่จะคาดเดาและนึกภาพได้อย่างลางๆ ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นที่ศาลปกครองของเราตามแผนยุทธศาสตร์ที่ท่านประธานศาลปกครองสูงสุดท่านปัจจุบัน ปิยะ ปะตังทา ได้ให้นโยบายไว้

ขอแสดงความชื่นชมในการพัฒนาที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการฟ้องร้องดำเนินคดีทางปกครองกับภาครัฐในทุกรูปแบบ รวมทั้งรูปแบบที่ทันสมัยที่สุดคือ การเข้าสู่ระบบศาลอิเล็กทรอนิกส์ดังที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น

จากวันที่ 9 มีนาคม 2544 วันเปิดทำการศาลปกครองครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งจะครบ 18 ปี ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า นับว่าศาลปกครองไทยเราเดินทางมาไกลพอสมควรทีเดียว

ต้องขอขอบพระคุณ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 อีกครั้ง ที่เป็นต้นกำเนิดของการก่อตั้งศาลปกครองขึ้น หลังจากที่ใช้ความพยายามมายาวนานมากแต่ไม่บรรลุผลในอดีตก่อนหน้านี้

แม้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวที่ประชาชนชาวไทยมีส่วนร่วมในการร่างมากที่สุดจะโดนฉีกทิ้งไปเรียบร้อย แต่เรื่องดีๆ และใหม่ๆ หลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นแก่ประเทศชาติ รวมทั้งศาลปกครองด้วย

จะทำให้เรารำลึกถึงรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ตลอดไป.

“ซูม”