เมื่อเย็นวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมกับครอบครัวแวะไปที่วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ที่อยู่บริเวณเชิงสะพานพุทธฯฝั่งธนบุรี ซึ่งอยู่ระหว่างสมโภช 191 ปีของวัดเป็นวันสุดท้าย
ตั้งใจว่าจะไปสักการะ “พระบรมธาตุเจดีย์” ที่เคยได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 ด้านการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรม จากยูเนสโกเมื่อหลายปีก่อน
ขณะเดียวกันก็จะได้ถือโอกาสเดินเที่ยว “งานวัด” เสียด้วยพร้อมๆ กัน เพราะตั้งแต่เข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ ตอนเป็นหนุ่มมาจนถึงแก่ปูนนี้แล้วก็แทบไม่มีโอกาสเที่ยวงานวัดอีกเลย
ปรากฏว่าเมื่อไปถึง แทนที่จะได้เที่ยวงานวัด กลับไปพบว่าวันอาทิตย์ที่ผ่านมาเป็นวันครบ 191 ปีของวัดประยุรวงศาวาสฯ พอดิบพอดี จึงมีพิธีสมโภชอย่างเป็นทางการ และมีการจัดเวทีเสวนาในหัวข้อเรื่อง “จิตอาสากับการพัฒนาย่านกะดีจีน” ขึ้นด้วย ก่อนที่จะจุดพลุไฟเฉลิมฉลอง
จัดโดย มูลนิธิสิริวัฒนภักดี โยมอุปัฏฐากสำคัญของวัดแห่งนี้
ผมมองไปบนเวทีเห็นพระภิกษุ 2 รูป บาทหลวง หรือพระในคริสต์ ศาสนา 1 ท่าน และอิหม่าม หรือผู้นำศาสนาอิสลาม 1 ท่าน นั่งเรียงกันอยู่ก็ตัดสินใจในเดี๋ยวนั้นเลยว่าปล่อยให้สมาชิกครอบครัวของผมไปเที่ยวงานวัดกันเถิด…ผมคงต้องนั่งฟังการเสวนาสักหน่อยหนึ่งแล้ว
เพราะโอกาสที่จะได้ฟังความคิดความเห็นของตัวแทนสำคัญของทั้ง 3 ศาสนา ที่จะขึ้นมาพูดบนเวทีเดียวกันนั้น คงจะหาไม่ได้ง่ายๆ นัก
ว่าแล้วผมก็นั่งฟังการเสวนาจนจบ ด้วยความปลาบปลื้มและปีติใจอย่างที่สุด จนต้องขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อในวันนี้
พร้อมทั้งขออนุญาตจารึกนามของแต่ละท่านแต่ละรูปไว้ด้วย ได้แก่ พระเดชพระคุณ พระพรหมบัณฑิต ท่านเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร พระเทพปฏิญาณกวี ผู้ช่วยเจ้าอาวาส มงซินญอร์ ดร.วิษณุ ธัญญอนันต์ รองเลขาธิการสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย และ อิหม่ามนาวิน สาสนกูล อิหม่ามมัสยิด กูวติล อิสลาม ตึกแดง ย่านคลองสาน
ประเด็นที่ผมบังเกิดความปลาบปลื้มที่สุดก็คือ ประเด็นที่ผู้นำศาสนาของชุมชนทุกๆ ท่านได้กล่าวถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขมาเป็นเวลาเกือบ 200 ปี ของชุมชนย่านนี้
อันได้แก่ชุมชน “กะดีจีน” และ “คลองสาน” บริเวณฝั่งเหนือฝั่งใต้ของสะพานพุทธฯ ย่านธนบุรีว่างั้นเถอะครับ
บริเวณนี้คือที่อยู่อาศัยอันอบอุ่นของผู้คน “3 ศาสนา และ 4 ความเชื่อ” ซึ่งร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อชุมชนมาโดยตลอด
“3 ศาสนา” ก็คือ พุทธ คริสต์ และอิสลาม ส่วน “4 ความเชื่อ” ผมฟังจากการอภิปรายน่าจะหมายถึงศาสนาพุทธของเรานี่แหละที่มีทั้ง เถรวาท และ มหายาน
ผู้คนในชุมชน “กะดีจีน–คลองสาน” ต่างใช้ชีวิตร่วมกัน มีวัฒนธรรมประเพณีบางประการที่ไม่เหมือนกันบ้างตามหลักการในศาสนาที่แต่ละคนนับถือ
แต่ในองค์รวมคือ ความเป็นคนไทย รักชาติไทย และยึดมั่นในสถาบันกษัตริย์นั้นมิได้แพ้คนไทยในชุมชนอื่นใด
ทุกครั้งที่วัดหรือโบสถ์ ซางตาครู้ส หรือมัสยิด กูวติล อิสลาม ตึกแดง มีงานสำคัญ เราจะเห็นผู้นำทางศาสนาทั้ง 3 ศาสนาไปอยู่ในงานร่วมกันและพี่น้องในชุมชนทั้ง 3 ศาสนาก็จะไปอยู่ในงานเดียวกัน
รวมทั้งในงานสมโภชวัดประยุรวงศาวาสฯ ปีนี้ก็มีพี่น้องทั้ง 3 ศาสนา และ 4 ความเชื่อมาร่วมกันออกร้านจำหน่ายสินค้าชุมชน และแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมชุมชนอันหลากหลายอย่างพร้อมเพรียงกัน
ผมขออนุญาตถ่ายทอดความประทับใจไว้เพียงเท่านี้ก่อนก็แล้วกันนะครับ เพราะถ้าจะว่าไปแล้วผมก็แทบจะจำคำอภิปรายอะไรมิได้มากนัก เพราะมัวแต่ปลาบปลื้มกับภาพที่ได้เห็นบนเวทีที่แสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิดสนิทสนมของผู้นำทางศาสนาทั้ง 3 จนลืมสาระในการเสวนาไปเสียแทบหมด
ก่อนกลับบ้านผมได้ตั้งจิตอธิษฐานขณะประนมมือสักการะพระบรมธาตุมหาเจดีย์ไว้หลายๆ ประการ รวมทั้งประการสำคัญที่สุดว่า…
ขอให้พลานุภาพของพระศาสดาแห่งทั้ง 3 ศาสนาจงดลบันดาลให้ประเทศไทยและชุมชนไทยจงมีแต่ความรักความสามัคคีอันจะนำไปสู่ความสุขความร่มเย็น และความเจริญก้าวหน้า ดังเช่นชุมชน “กะดีจีน+คลองสาน” ตลอดไปชั่วกาลนานเทอญ.
“ซูม”