หนี้ครัวเรือนไทยสูง ปัญหาที่ไม่ควรประมาท

ข่าวฮิตข่าวหนึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่มีการหยิบยกมาพูดถึงและมีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางได้แก่ข่าวว่าด้วย “หนี้สินครัวเรือน” ของคนไทย

สภาพัฒน์เป็นฝ่ายจุดพลุขึ้นมาก่อนด้วยการนำเสนอในเอกสารทางวิชาการราย 3 เดือน ของสำนักงาน “ภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ปี 2561” ระบุว่า หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าล่าสุดในไตรมาส 2 ของปีนี้อยู่ที่ 12.34 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.7 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่าไตรมาสที่แล้ว ซึ่งสูง 5.2 เปอร์เซ็นต์

ตามมาด้วยการแถลงข่าวของ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่สรุปได้ว่าค่าเฉลี่ยของหนี้สินครัวเรือนไทยในปี 2561 สูงเป็นประวัติการณ์ ที่ 3.16 แสนบาทต่อครัวเรือน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ส่งผลให้หนังสือพิมพ์และสำนักข่าวออนไลน์ต่างๆ นำมาพาดหัวข่าวแสดงความวิตกกังวลหลายๆ ฉบับและหลายๆ สำนัก

ซึ่งต่อมาท่านรองเลขาธิการสภาพัฒน์ ชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ ได้ออกมาชี้แจงเพิ่มเติมว่า แม้ตัวเลขจะสูงขึ้น แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นน่าวิตก หรือน่าเป็นห่วงมากนัก เพียงแต่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเท่านั้น

“การที่หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นนั้นไม่น่ากังวล เพียงแต่ต้องเฝ้าระวัง เพราะการก่อหนี้เกินกว่าครึ่งหนึ่งเป็นการกู้เพื่อซื้อสินทรัพย์ถาวร ซึ่งก่อให้เกิดการสะสมสินทรัพย์เพิ่มขึ้นไปในอนาคต”

“ในขณะที่หนี้เพื่อการอุปโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ก็มีการชะลอตัวลงจากร้อยละ 10.3 มาอยู่ที่ 7.8 อีกทั้งภาครัฐเองก็มีมาตรการในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนทั้งในระบบและนอกระบบอย่างต่อเนื่อง จึงมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจในภาพรวม”

ท่านรองเลขาธิการฯ ยังกล่าวถึงสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ว่า มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากสัดส่วนที่สูงถึง 80.8% ในปี 2558 ลดลงเป็น 79.3% ในปี 2559 และ 78.85% ในปี 2560 และลงมาที่ 77.5% ในไตรมาส 2 ของปีนี้

ในขณะที่ ดร.ธนวรรธน์เองก็แสดงความเห็นสอดคล้องกับรองเลขาธิการสภาพัฒน์ โดยยืนยันว่าแม้ค่าเฉลี่ยหนี้สินจะเพิ่มขึ้น แต่โครงสร้างหนี้ยังไม่น่าวิตก เพราะจากการสำรวจพบว่าส่วนใหญ่เป็นภาระหนี้เพื่อซื้อสินทรัพย์ เช่น รถยนต์ บ้าน และการลงทุน ฯลฯ

นอกจากนี้เมื่อไปดูถึงความสามารถในการชำระหนี้ ผลการสำรวจพบว่าความสามารถในการผ่อนชำระสูงขึ้น

ผมต้องขออนุญาตคัดลอกตัวเลขและคำสัมภาษณ์ของทั้ง 2 ท่านมาลงอย่างละเอียด เพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์ล่าสุดของปัญหาหนี้สินครัวเรือนไทยที่หลายๆ คนแสดงความห่วงใย

แม้ทั้ง 2 ท่านจะแสดงความเห็นว่าสถานการณ์ยังไม่น่ากังวล แต่ก็ยํ้าว่าจะต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง

จะต้องระวังอย่างมากๆ ด้วย ไม่ใช่เพียงแต่ระวังอย่างผิวๆ เผินๆ เท่านั้น

แม้ภาพรวมจะดูเหมือนดีขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่อย่าลืมว่าสัดส่วนต่อจีดีพี ก็ยังสูงเกินร้อยละ 70 ซึ่งแสดงว่าคนส่วนใหญ่ยังมีชีวิตอยู่ด้วยการเป็นหนี้สิน

ผมห่างเหินตำราไปนานจนจำไม่ได้แล้วว่าสัดส่วนที่เหมาะสมของหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีควรเป็นเท่าไร? แต่ด้วยสามัญสำนึกผมเห็นว่าร้อยละ 77.5 ตามตัวเลขล่าสุดก็ยังสูงอยู่

โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่น่าห่วงที่สุดก็คือ ครัวเรือนในชนบทซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่มักต้องเผชิญกับปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวจนแทบไม่มีความสามารถชำระ

ผมเข้าใจดีว่าการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนไม่ใช่ง่ายๆ แต่ก็จะต้องพยายามแก้ต่อไป

ไม่ใช่รัฐบาลฝ่ายเดียวเท่านั้น ประชาชนเจ้าของครัวเรือนก็จะต้องร่วมมือในการแก้ไขปัญหาด้วย…ด้วยการรู้จักประหยัด อดออม และรู้ถึงคุณค่าของเงินด้วยการใช้จ่ายอย่างมีประโยชน์ มิใช่ฟุ้งเฟ้อ

ต่อให้รัฐบาลหาเงินกู้ดอกเบี้ยถูกๆ มาให้ชาวบ้านเข้าถึงหรือกู้ง่ายแค่ไหนก็ไลฟ์บอยครับ และรังแต่จะทำให้ชาวบ้านเป็นหนี้เพิ่มขึ้นไปอีก หากผู้กู้กู้เงินไปใช้ในทางที่ไม่เป็นประโยชน์เท่าไรนักอย่างที่เป็นมาเนิ่นนานและยังเป็นอยู่ทั่วประเทศไทยในปัจจุบันนี้

เจ้าของครัวเรือนทั้งหลายจะต้องร่วมมือด้วยครับ ถึงจะแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนจากหนักให้เป็นเบาได้ในที่สุด!

“ซูม”