หมอดู “ธีรยุทธ” ฟันธง! แม่นหรือไม่? ต้องติดตาม

ผมตัดหน้า 11 ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐกรอบประจำวันที่ 11 ธันวาคม 2561 เอาไว้ครึ่งหน้าเลยครับ ตั้งใจไว้ว่าจะเก็บใส่แฟ้มเอาไว้ให้ดีที่สุด

เพื่อที่จะหยิบมาอ่านอีกครั้งในอนาคตว่า ประเทศไทยของเราจะเป็นไปตามคำพยากรณ์ของบุคคลในข่าวที่ไทยรัฐถอดคำบรรยายของเขาเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ มาลงเอาไว้จนเกือบครึ่งหน้าดังกล่าวหรือไม่

รวมทั้งได้ตัดคอลัมน์ขนาดกว้างนิ้วครึ่งว่าด้วย “ดวงดาวของท่าน” ของ “อาจารย์นพ” ซึ่งพยากรณ์โดย พ.พาทินี ศิษย์เอกของท่านอาจารย์ที่เรียงล้อมกรอบอยู่ข้างๆ ไว้ด้วย

ถือเป็นการเปรียบเทียบว่างั้นเถอะว่าคำพยากรณ์ของคนดังรายนี้ กับคำพยากรณ์ของ พ.พาทินี ใครจะแม่นกว่ากัน

คนดังรายที่ว่า จะใครเสียที่ไหนล่ะ…ถ้าไม่ใช่ท่านอาจารย์ ธีรยุทธ บุญมี คนเดือนตุลา ที่ใช้จังหวะครบรอบ 45 ปี 14 ตุลาฯ สวมเสื้อกั๊ก ออกมาแสดงปาฐกถาวิเคราะห์ประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคม ถนนราชดำเนิน เมื่อวันรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา

แน่นอนแม้จะมีบางประเด็นที่ผมยังไม่ค่อยเห็นด้วย แต่กว่าครึ่งอาจจะถึง 2 ใน 3 กระมัง ผมเห็นด้วยอย่างมากและชอบมากกับการยกอุทาหรณ์เปรียบเปรย และการใช้คำ “ตอกย้ำ” ในหลายๆ คำ

โดยเฉพาะวลีที่ว่า “รวยกระจุก จนกระจาย กลางกระจ้อน” ผมยกนิ้วให้เลย นึกไปถึงอดีตเลขาธิการสภาพัฒน์ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ผู้ประดิษฐ์คำว่า “รวยกระจุก จนกระจาย” ถ้าผมจำไม่ผิด

วลีนี้ฮิตมากและใช้กันมาหลายปี ทุกวันนี้ก็ยังฮิตอยู่และต่อไปจะฮิตมากขึ้น เมื่อมีคำว่า “กลางกระจ้อน” ที่อาจารย์ธีรยุทธช่วยแปลให้ด้วยว่า หมายถึงคนชั้นกลาง ที่แคระแกร็นมาต่อยอดเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ผมยังชอบการเปรียบเทียบที่สะท้อนระบบผูกขาดตัดตอนของนายทุนใหญ่ ที่บอกว่าชีวิตคนไทยทุกวันนี้เหมือน “ไก่ซีพี” เพราะถูกป้อนอาหารให้กินอย่างเดียว จนเป็นสูตร

กินในร้านสะดวกซื้อ จ่ายค่าโทรศัพท์ บัตรเครดิต ซื้อตั๋วรถไฟ ฯลฯ ในร้านสะดวกซื้ออุตลุดไปหมด

อาจารย์ธีรยุทธไม่ได้บอกว่ากลุ่มทุนอิทธิพลผูกขาดคือกลุ่มไหน

เพียงแค่หยิบยืมวิธี “เลี้ยงไก่” ในสไตล์ซีพี มาเปรียบเทียบให้เห็นถึงวิถีชีวิตคนไทยในยุคนี้ที่ถูกป้อนอาหารเข้าปากเหมือนไก่ซีพี เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น

ส่วนจะเป็นการบอกใบ้อะไรบางอย่างตามสไตล์อาจารย์ธีรยุทธ หรือไม่คงต้องตีความกันเอาเอง

สำหรับกรณี 4.0 อาจารย์ธีรยุทธติงได้ถูกใจผมมากเพราะผมก็ติงเอาไว้หลายครั้ง ตามประสาคนที่เติบโตมากับยุค 2.0+3.0 ว่าจะเร็วเกินไปและจะมีคนได้ประโยชน์จากนโยบายนี้เพียงกระหยิบมือเดียวเท่านั้น

ในประเด็นทางการเมืองหลังเลือกตั้ง ผมก็เห็นด้วยว่าคงจะยุ่งแน่แม้จะมองความยุ่งไปคนละแบบ แต่ลงท้ายผลจะคล้ายๆกัน

อาจารย์พยากรณ์ว่า “การเมืองไทยในอนาคต จะเป็นประชาธิปไตยใต้อิทธิพลของทหาร, ข้าราชการ, ชนชั้นนำทางความคิด และกลุ่มทุนใหญ่ที่มีโอกาสพัฒนาเป็นการเมืองใต้เงื้อมมือ “ทุนอิทธิพล” ในที่สุด”

อาจารย์ธีรยุทธทิ้งท้ายปาฐกถาไว้ว่า การแตกตัวของพรรคเพื่อไทยเป็นปรากฏการณ์ที่ควรศึกษา เพราะมีฐานเสียงที่หนักแน่นกว้างขวางกว่าพรรคอื่นมาเกือบ 2 ทศวรรษ ทำไมถึงแตกตัว?

“แตกออกเป็นหลายพรรคย่อย เป็นกลุ่มการเมืองที่การตัดสินเป็นอิสระมากขึ้น การขึ้นอยู่กับตัวบุคคล หรือบางครอบครัวลดลง

ถ้าพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และทุกพรรค พัฒนานโยบายให้สร้างสรรค์ที่คนส่วนใหญ่เห็นพ้องด้วย และเว้นวาทกรรมเกลียดชังสุดขั้วเสีย จะทำให้การเลือกตั้งเดินไปด้วยดี มีโอกาสร่วมมือกันแก้รัฐธรรมนูญ แก้กฎหมายให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

ถ้าทำโดยร่วมกัน และแสดงเหตุผลที่เหนือกว่า ก็อาจจะทำให้ (การแก้ไขรัฐธรรมนูญ) สำเร็จได้ โดยไม่ต้องเผชิญหน้าแบบปะทะรุนแรงกับฝ่ายทหารอีก”

ประโยคทิ้งท้ายเนี่ยผมก็ชอบมากครับ เพราะเป็นการชี้ให้เห็นถึงโอกาสที่จะแก้ไขได้โดยสันติสำหรับรัฐธรรมนูญฉบับ “ขี้เหร่เนะ” (ภาษาไทยนะครับ ไม่ใช่ภาษาญี่ปุ่น) ที่ผมเขียนเอาไว้เมื่อวันก่อนว่าขี้เหร่ที่สุดเท่าที่ผมเคยผ่านรัฐธรรมนูญของประเทศไทยมาตั้งแต่เด็กจนเป็น ส.ว.หง่อมเต็มที่แล้วในปัจจุบันนี้.

“ซูม”