แก้ปัญหา “เหลื่อมล้ำ” 36ปี “เข็นครกขึ้นเขา”

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีการโพสต์และแชร์ข่าวที่ว่า “ประเทศไทยเป็นแชมป์โลกด้านเหลื่อมล้ำ” อย่างแพร่หลายในโลกโซเชียล

มีการ “เม้นต์” ซ้ำเติมรัฐบาลบิ๊กตู่ อย่างเมามันเสมือนหนึ่งว่า เป็นตัวการที่ทำให้เราได้ตำแหน่งแชมป์โลก อันไม่พึงปรารถนาตำแหน่งนี้

ร้อนถึงหน่วยงานหลักของประเทศอย่าง “สภาพัฒน์” ต้องออกมาชี้แจงว่าความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยมีจริง แต่ไทยไม่ใช่แชมป์โลก มองจากข้อมูลมาตรฐานที่กำหนดโดย ธนาคารโลก สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของเราก็ใกล้เคียงกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา หรืออังกฤษด้วยซ้ำ

ส่วนข้อมูลที่บอกว่าไทยเป็นแชมป์โลกนั้น สภาพัฒน์บอกว่าเอามาจากดัชนีกระจายความมั่งคั่ง ซึ่งต้องใช้ข้อมูลการถือครองความมั่งคั่ง เป็นหลักซึ่งประเทศไทยไม่ได้จัดเก็บข้อมูลนี้

ผู้จัดทำจึงนำข้อมูลด้านรายได้ไปคำนวณการถือครองความมั่งคั่ง ตามสมมติฐานที่ว่า ความมั่งคั่งมีความสัมพันธ์กับรายได้…เสร็จแล้วก็เอาไปเข้าสูตรทางเศรษฐกิจมิติ คำนวณออกมาอีกทอดหนึ่ง

ที่สำคัญข้อมูลรายได้ของประเทศไทยที่ใช้ในการคำนวณเป็นข้อมูลเก่าตั้งแต่ปี 2549 ทุกวันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปค่อนข้างมาก จึงไม่สามารถอ้างอิงหรือสะท้อนสถานการณ์ของประเทศได้ทั้งหมด

ประเทศที่จัดเก็บข้อมูลนี้ได้อย่างสมบูรณ์สามารถนำมาใช้ในการคำนวณได้ มีเพียง 35 ประเทศเท่านั้น และส่วนใหญ่ก็เป็นประเทศพัฒนาแล้ว

ผมต้องขอขอบคุณท่านรองเลขาธิการสภาพัฒน์ คุณดนุชา พิชยนันท์ ในฐานะโฆษกสภาพัฒน์ ที่ออกมาชี้แจงในประเด็นนี้ ก่อนที่จะมีความเข้าใจผิดกันไปยกใหญ่

แม้ในรายละเอียดจะเข้าใจยากสักหน่อย เพราะเป็นเรื่องของสูตร เรื่องของข้อมูล เรื่องของทฤษฎี ที่แม้ผมซึ่งเคยเรียนมา เคยทำงานด้านนี้มา แต่พอเกษียณตัวเองไป 20 กว่าปี โยนตำรากลับคืนไปหาอาจารย์หมดทุกเล่มยังฟังท่านไม่ค่อยรู้เรื่องในตอนแรกๆ

ต้องอ่านข่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่หลายหนกว่าจะเข้าใจได้

สรุปก็คือ ผมเห็นด้วยกับถ้อยแถลงของท่านรองฯ ครับ ว่าประเทศเราใช้ตัววัดตามมาตรฐานของธนาคารโลกมาโดยตลอด เพราะเป็นมาตรฐานที่มีการเก็บข้อมูลมายาวนานและเป็นที่ยอมรับของประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ส่วนข้อมูลของ “ซีเอส โกลบอล เวลท์รีพอร์ต 2018” ที่ระบุว่า เราเป็นแชมป์โลกด้านความเหลื่อมล้ำนั้น แม้จะไม่น่าเชื่อถือ แต่ผมก็ต้องขอขอบคุณที่เขาจัดทำข้อมูลนี้ขึ้น จนเป็นเหตุให้เรื่องของความเหลื่อมล้ำกลับมาเป็นข่าวใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

ทำให้หลายๆ ฝ่ายที่ไม่เคย “ตระหนัก” เริ่ม “ตระหนัก” ซึ่งผมถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี จะได้หาทางร่วมมือกันแก้ไขปัญหาต่อไปในอนาคต

ในฐานะคนที่เคยมีประสบการณ์ในการแก้ปัญหาเรื่องนี้อยู่บ้าง… ผมยืนยันได้เลยครับว่า การ “เข็นครกขึ้นภูเขา” ยากลำบากเพียงใด การ “แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ” ของประเทศ ก็ยากพอๆ กันเพียงนั้น

บุคคลแรกในประวัติศาสตร์ การทำแผนพัฒนาของประเทศไทยที่หยิบประเด็นเรื่องนี้มา พูด-เขียน-ลงมือร่างแผน และ ลงมือปฏิบัติ ตามแผนอย่างจริงจังก็คือ คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ อดีตประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ ผู้ล่วงลับนั่นเอง

คุณโฆสิตเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสภาพัฒน์ เป็นผู้บุกเบิกการศึกษาปัญหาชนบทไทยอย่างจริงจัง

ทำให้ประเทศไทยมีแผน “พัฒนาชนบทยากจน” เพื่อแก้ปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำของรายได้เป็นครั้งแรก บรรจุไว้เป็นส่วนหนึ่งของ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5” พ.ศ.2525–2529 ตรงกับยุคสมัยที่ป๋าเปรมเป็นนายกรัฐมนตรี

จากนั้นขบวนการเข็นครกขึ้นภูเขาก็เริ่มขึ้น ถ้านับจากปีแรกของแผน 5 มาถึงบัดนี้ก็ประมาณ 36 ปีเป็นอย่างน้อย

ท่านรองเลขาสภาพัฒน์ปัจจุบันแถลงว่า จำนวนคนจนลดลงและความแตกต่างระหว่างกลุ่มประชากรรายได้สูงสุด และกลุ่มรายได้ต่ำสุดก็ลดลงไปมาก–แสดงว่าเราคงเข็นครกขึ้นมาเชิงเขาได้บ้างแล้ว

ขอให้ร่วมมือกันเข็นต่อไปเถอะ เพราะยังอีกไกลมากกว่าจะไปถึงยอดเขา–ที่สำคัญครกใบนี้มันหนักมากอย่างที่ว่า…หยุดเข็นเมื่อไร หรือเข็นผิดท่าเมื่อไร มันจะกลิ้งกลับไปสู่ตีนเขาในทันที.

“ซูม”