คำถามถึงกองทุนหมู่บ้านฯ ถึงเวลายกเครื่องหรือยัง?

เมื่อวานนี้เอง หน้าข่าวเศรษฐกิจของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ รายงานข่าวตรงกันว่า รัฐบาลเตรียมพิจารณาพักชำระหนี้ให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เป็นเวลา 3 ปี

เพื่อช่วยเหลือสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเป็นหนี้นอกระบบ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา สมาชิกของกองทุนส่วนใหญ่ ที่กู้เงินไปและไม่สามารถหาเงินมาจ่ายคืนได้

จึงต้องไปกู้หนี้นอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงมาจ่าย จนทำให้เกิดหนี้สะสม ซึ่งสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) จะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาพักการชำระหนี้ในเร็วๆ นี้

หนังสือพิมพ์หลายฉบับให้ข้อมูลเพิ่มเติมประกอบข่าวนี้ไว้ด้วยว่า ปัจจุบันการดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านฯ มีเครือข่ายครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ

โดยมี กองทุนหมู่บ้านฯ รวมทั้งหมด 79,595 กองทุน และมีสมาชิกประมาณ 13 ล้านคน ปัจจุบันสามารถยกระดับขึ้นเป็นสถาบันการเงินชุมชนได้ 2,560 แห่ง และในปี 2560 ที่ผ่านมา การดำเนินการของกองทุนมีเงินหมุนเวียนมากถึง 300,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ใช้กลไกของกองทุนหมู่บ้านฯ เข้าไปช่วยเหลือประชาชนในระดับฐานรากผ่านโครงการสำคัญหลายครั้ง โดยเฉพาะ “โครงการประชารัฐ” ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559-2561 โดยส่งเงินลงไป เพิ่มอีกถึง 130,000 ล้านบาท ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

จากข่าวที่ผมคัดลอกมานี้ แสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่ามีปัญหาเกิดขึ้นในระบบกองทุนหมู่บ้านฯ อย่างแน่นอน แม้ตัวเลขจะไม่ชัดเจนว่าสมาชิกจำนวนมากน้อยเพียงใดที่ประสบปัญหาจากการต้องไปกู้เงินนอกระบบมาชำระหนี้ จนถึงขนาดจะต้องมาขออนุมัติ “พักชำระหนี้”

แต่แสดงว่ามีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว ขออย่าได้นิ่งนอนใจโปรดลงไปสำรวจและลงไปประเมินผลถึงความรุนแรงของปัญหาโดยด่วนเถิด

รวมทั้งลงไปดูเสียพร้อมๆ กันว่ายังมีปัญหาอะไรอื่นอีกหรือไม่? และหนักเบาเพียงไร?

การที่บอกว่ามีกองทุนหมู่บ้านฯ เกือบ 8 หมื่นแห่ง สามารถยกระดับเป็นสถาบันการเงินชุมชนได้ 2,560 แห่งนั้น แม้จะเป็นตัวเลขที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงผลสำเร็จอยู่บ้าง

แต่ความสำเร็จประมาณ 3.2 เปอร์เซ็นต์เช่นนี้ ควรแก่การยอมรับหรือไม่ และคุ้มหรือไม่กับงบประมาณจำนวนมากที่รัฐบาลทุ่มลงไป ตัวเลขทั้งหมดเท่าไรไม่ทราบได้ แต่ตัวเลขล่าสุด 3 ปีที่เป็นข่าวก็ตก 130,000 ล้านบาทเข้าไปแล้ว

จะลงไปสร้างความสำเร็จหรือไปก่อปัญหาให้หนักขึ้น ควรจะได้มีการประเมินผลกันอย่างละเอียดถี่ถ้วนโดยรีบด่วนที่สุด

ถ้าท่านผู้อ่านจำได้ผมได้เคยเขียนเสนอให้มีการประเมินผลกองทุนหมู่บ้านฯ อย่างละเอียดถี่ถ้วน หรือแบบเข้มข้นผ่านคอลัมน์นี้หลายครั้ง

ผมมิได้มีอะไรอคติต่อสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองฯ ทั้งสิ้น แท้ที่จริงแล้วเคยมีส่วนในการเสนอร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งกองทุนนี้ในฉบับแรกๆ ด้วยซํ้าไป

ผมเห็นความจำเป็นของการมีแหล่งเงินสำหรับกู้ยืมในระดับล่าง และเชื่อว่าถ้าบริหารดีๆ จะช่วยอย่างมากในการสนับสนุนหมู่บ้านต่างๆให้ลืมตาอ้าปากได้

แต่โชคร้ายที่ภาพที่ผมเห็นล่าสุดก่อนอำลาจากวงการพัฒนาชนบทก็คือการบริหารกองทุนหมู่บ้านฯ ที่มีอยู่ในขณะนั้น “ไม่ดี” อย่างที่คิดไว้

จะบอกว่า “แย่” ก็ได้ครับ ขออนุญาตไม่ใช้ถ้อยคำที่แรงไปกว่านี้

จึงเป็นความหลังฝังใจผมมาตลอดว่าขณะที่ยังมีอยู่ไม่มากยังแย่ขนาดนั้น แล้วจู่ๆ ก็มีการบันดาลให้มีกองทุนหมู่บ้านฯ ถึง 70,000-80,000 แห่งทั่วราชอาณาจักรอย่างรวดเร็วเราจะหวังให้มีกองทุนดีๆ ขึ้นมาได้อย่างไร

เวลาใครมาบอกว่าดีๆๆ ผมก็มักไม่ค่อยเชื่อสนิทใจ และอยากให้มีการลงไปสำรวจตรวจสอบมาโดยตลอด

บัดนี้ได้เกิดปัญหาที่สำคัญขึ้นมาประการหนึ่งแล้ว คือเรื่องมาขอพักชำระหนี้ 3 ปี อันเป็นผลจากไปกู้เงินนอกระบบมาใช้เงินกู้ในระบบ

ผมก็เห็นเป็นโอกาสดีที่จะมีการสำรวจตรวจสอบอย่างขนานใหญ่ ของนักวิชาการที่มีฝีมือและเชื่อถือได้ช่วยลงไปสุ่มประเมินผลด้วยเถิด

ว่ากองทุนหมู่บ้านฯ ประสบความสำเร็จอย่างที่หลายๆ คนเชื่อ–หรือว่ามีปัญหาไม่น้อยอย่างที่ผมแอบสังหรณ์? ช่วยลงไปพิสูจน์ด้วยเถิด เราทุ่มเงินไปหลายๆ แสนล้านบาทแล้วนะครับ น้อยซะเมื่อไรล่ะ.

“ซูม”