เมื่อวานนี้ผมได้รับ “บัตรเชิญ” ไปร่วมงานฉลองงานหนึ่งที่จะเริ่มขึ้นในค่ำวันนี้ (9 พฤศจิกายน) ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากที่ผมไม่สามารถไปร่วมงานดังกล่าวได้
เหตุเพราะไปรับปากเอาไว้เสียก่อนแล้วกับคณะผู้บริหาร ไอคอนสยาม โครงการลงทุนใหญ่ยักษ์ ที่จะเปิดตัวในค่ำวันนี้เช่นกัน
งาน “1 ศตวรรษแห่งความภาคภูมิใจ ปักธงข้าวไทยบนเวทีโลก” ของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยน่ะครับ
เป็นงานเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่มีการก่อตั้งสมาคมมาครบ 100 ปีนั่นเอง โดยจะเริ่มตั้งแต่เวลา 18.00 น.ของวันนี้ ที่ ห้องนภาลัย โรงแรม ดุสิตธานี กรุงเทพฯ
จากโปรแกรมงานที่ท่านกรุณาส่งมาให้ ระบุว่างานจะเริ่มด้วยการเชิญแขกเหรื่อเดินชมนิทรรศการในชุด “1 ศตวรรษแห่งความภาคภูมิใจ ปักธงข้าวไทยบนเวทีโลก” ซึ่งจะมีการเสิร์ฟค็อกเทลด้วยระหว่างเดินชมแผ่นนิทรรศการต่างๆ
จากนั้นจะเป็นพิธีเฉลิมฉลองอย่างเป็นทางการ พร้อมคำกล่าวในโอกาสครบ 100 ปี ของการสถาปนาสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย โดย ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมฯ ตามมาด้วยพิธีมอบโล่เชิดชูเกียรติผู้มีคุณูปการแก่วงการข้าวไทย แล้วก็จะเข้าสู่ภาคบันเทิงไปจนจบงาน
โดยเฉพาะภาคบันเทิงจะเป็นการแสดงของนักร้องคนโปรดของผมเสียด้วย “คุณตู่” นันทิดา แก้วบัวสาย ไงครับ ตามโปรแกรมบอกว่าเธอจะปล่อยของนานถึง 45 นาทีเลยทีเดียว
ต้องขออภัยด้วยนะครับที่ไม่สามารถไปร่วมฉลองกับท่านได้ (อดชมอดฟังน้องตู่เลยไหมล่ะ)
จากการนั่งเขียนหนังสืออยู่ตรงนี้มายาวนาน ผมตระหนักดีว่า สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยมีส่วนอย่างสำคัญในการนำผลผลิตข้าวของพี่น้องชาวชนบทที่เหลือกินเหลือใช้ในประเทศออกไปขายต่างประเทศ
ทำให้ราคาข้าวเปลือกภายในประเทศอยู่ในเกณฑ์สูงขึ้น และมีผลไปถึงรายได้ที่ดีขึ้นของชาวนา
แต่เผอิญว่าข้าวนั้นเป็นพืชที่อาภัพ และต้องขึ้นอยู่กับผลผลิตโลกเป็นสำคัญ ปีใดที่เกิดภาวะฝนแล้งในประเทศปลูกข้าวต่างๆ ทำให้ผลผลิตน้อยราคาก็จะสูง แต่ถ้าปีใดอุดมสมบูรณ์ผลผลิตของทุกประเทศดีมาก ราคาข้าวก็จะตกต่ำแบบเรี่ยดิน
ที่ผ่านมาราคามักจะเรี่ยดินเสียเป็นส่วนมาก ในขณะที่ต้นทุนการเพาะปลูกก็สูงขึ้นเรื่อยๆ พี่น้องชาวนาของเราจึงยากจนอยู่ตลอด
หลายๆ คนโทษพ่อค้าข้าว…โทษทั้งพ่อค้าคนกลางในประเทศ และพ่อค้าส่งออกว่าทำมาหากินเอาเปรียบชาวนา ซื้อในราคาถูกๆ ไปขายในราคาแพงๆ ชาวนาจึงมีแต่จน ในขณะที่คนกลางมีแต่รวยขึ้น
แต่ในฐานะคนเรียนเศรษฐศาสตร์พวกเราเชื่อว่าในระบบเศรษฐกิจเสรีนั้น อย่างไรเสียก็ต้องมี “คนกลาง” เพราะถ้าไม่มี…ใครเล่าจะเป็นคนลงไปซื้อจากชาวนา แล้วส่งต่อเป็นทอดๆ ไปขายตลาดนอกได้
สิ่งที่เราจะต้องทำก็คือ สร้างคนกลางให้เยอะๆ ให้คนกลางแข่งขันกันซื้อ อย่าให้คนกลางคนไหนสร้างอิทธิพลจนมีอำนาจผูกขาดตัดตอนได้
แม้แต่พ่อค้าส่งออกก็ต้องมีหลายๆ คน หลายๆ บริษัท ซึ่งที่ผ่านมาก็มีหลากหลายจนไม่มีใครจะมาผูกขาดอะไรได้เช่นกัน
การรวมตัวเป็นสมาคม ดังเช่นสมาคมที่ผมกำลังพูดถึงอยู่นี้ ก็มิใช่มาสร้างอำนาจผูกขาดแต่อย่างใด แต่เป็นการรวมตัวเพื่อปรึกษาหารือกัน คอยช่วยเหลือกันเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ
โดยเฉพาะการรวมตัวที่จะช่วยกันผลักดันให้ข้าวไทยยังคงเป็นข้าวที่มีคุณภาพที่สุดของโลกอยู่เสมอ ดังที่หลายปีมานี้ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยมีส่วนอย่างยิ่งในการเข้าร่วมในการประกวดข้าวหอมมะลิไทยจนได้รางวัลแชมป์โลกมาหลายครั้ง
เพิ่งจะแพ้เสียตำแหน่งให้กัมพูชาเขาไปบ้างในปีนี้ ในการประกวด เมื่อเดือนตุลาคม ที่กรุงฮานอย ก็ไม่เป็นไร ถือว่าสมบัติผลัดกันชม
กล่าวโดยสรุป ผมขอแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสที่มีการรวมตัวมาครบ 100 ปี ของ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ในวันนี้
ผมเชื่อว่าต่อให้ประเทศไทยพัฒนาเจริญก้าวหน้าต่อไปอย่างไร เป็น 4.0, 5.0 หรือ 10.0 เราก็คงต้องปลูกข้าว ซึ่งเป็นพืชวัฒนธรรมของเราไปตลอด ดังนั้น สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยก็ยังจะมีบทบาทเคียงคู่ชาวนาไทยไปอีกนานแสนนาน…อาจจะมีโอกาสได้ฉลองครบ 200 ปี หรือ 300 ปี ด้วยซ้ำไปนะครับในอนาคต.
“ซูม”