คิดถึง “ชัยอนันต์” เมื่อใด คิดถึง “ประชารัฐ” เมื่อนั้น

สัปดาห์ที่ผ่านมาประเทศไทยได้สูญเสียทรัพยากรบุคคลอันทรงคุณค่าอย่างยิ่งไปอีกท่านหนึ่ง ได้แก่ ท่านศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปด้านการเมือง อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน และ ฯลฯ

หนังสือพิมพ์ทุกฉบับรายงานข่าวว่า ท่านอาจารย์ชัยอนันต์ถึงแก่กรรมด้วยอาการสงบ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 14 กันยายน ด้วยวัย 74 ปี

ผมกับท่านอาจารย์ชัยอนันต์รู้จักกันมาร่วมๆ 50 ปีเห็นจะได้ ตั้งแต่ท่านยังเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมวิเทศสหการ และผมยังเป็นลูกจ้างชั่วคราวของสภาพัฒน์ เพราะสำนักงานของเราทั้ง 2 อยู่ในรั้วเดียวกันที่สะพานขาว และต้องใช้โรงอาหารร่วมกัน ทำให้เราเจอะเจอกันบ่อยๆ

จากนั้นผมก็ไปเจอท่านที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมื่อปี 1969 หรือ 2512 ช่วงที่ท่านไปเรียนปริญญาเอก และผมซึ่งเรียนอยู่อีกรัฐหนึ่งถูกส่งไปเข้าคอร์สสัมมนาสั้นๆ ที่วิสคอนซินประมาณ 1 สัปดาห์

นั่งคุยกันถูกคออยู่หลายคืน จึงคบค้ากันเรื่อยมาหลังจากนั้น

จนกระทั่งหลัง 14 ตุลาคม 2516 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประเทศไทย เมื่อรัฐบาลทหารที่ปกครองประเทศมานานถูกนิสิตนักศึกษาประชาชนลุกฮือขึ้นขับไล่ ทำให้ประเทศไทยกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอีกวาระหนึ่ง

มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และมีรายชื่ออาจารย์ชัยอนันต์ ซึ่งมีบทบาทไม่น้อย ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม อยู่ในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวด้วย

บ่ายวันหนึ่งอาจารย์ชัยอนันต์แวะไปหาผมที่สภาพัฒน์ชวนผมไปร่วมเป็นอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นประชาชน ทำให้ผมมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับอาจารย์เป็นครั้งแรก

ต่อมาแม้จะผ่านยุค 14 ตุลาคม 2516 ไปแล้ว ผมกับอาจารย์ชัยอนันต์ก็ยังมีโอกาสได้ร่วมงานกันอยู่ตลอด โดยเฉพาะงานด้านพัฒนาประเทศชาติที่ท่านอาจารย์ชัยอนันต์มักได้รับเชิญให้มาแสดงความคิดความเห็นต่างๆ ให้แก่สภาพัฒน์เจ้าสังกัดเก่าของผมเป็นระยะๆ

ครั้งล่าสุดที่ผมทำงานกับท่านอย่างใกล้ชิดมาก ก็คือช่วงประมาณ พ.ศ.2538 ระหว่างเตรียมร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 พ.ศ.2540-2544 ซึ่งมีท่านเลขาธิการ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เป็นหัวเรือหลัก และจัดให้มีการระดมความคิดอย่างกว้างขวางที่สุด นับตั้งแต่มีการวางแผนพัฒนาเป็นต้นมา

ดร.ชัยอนันต์ มาร่วมสัมมนากับพวกเราทุกครั้งและมีบทบาทอย่างมากในการให้คำชี้แนะว่าควรจะดำเนินการในด้านใดบ้าง

ท่านเป็นหนึ่งในเจ้าของความคิดที่ตกผลึกแล้วว่า ประเทศไทยเราจะต้องเริ่ม “พัฒนาคน” หรือทรัพยากรมนุษย์กันอย่างจริงจัง และให้บรรจุแนวความคิดนี้เป็นวัตถุประสงค์หลักของแผน 8

ท่านเป็นหนึ่งในเจ้าของความคิดที่ต่อมาได้กลายเป็นปรัชญาหลักของการพัฒนาคน หรือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่ว่าจะต้องใช้ “คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา”

รวมทั้งเมื่อไปสู่ระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนก็ต้องให้ “นักเรียน” เป็น “ศูนย์กลาง” ของการเรียนรู้

ในแผน 8 นั้นเอง ได้พูดถึงวิธีการทำงานที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งก็คือจะต้องให้ภาครัฐกับประชาชนทำงานร่วมกันไปอย่างเคียงข้างกัน

ผมจำได้ว่า อาจารย์ชัยอนันต์เป็นคนเสนอให้ใช้คำว่า “ประชารัฐ” สำหรับอธิบายถึงการทำงานร่วมกันดังกล่าว พร้อมกับให้เหตุผลว่า เป็นคำที่มีมานานแล้ว อยู่ในเนื้อเพลงชาติไทยนั่นเอง

ทุกวันนี้คำว่า “ประชารัฐ” ฮิตมาก รัฐบาลนี้หยิบคำนี้มาใช้อย่างแพร่หลาย จนถึงขั้นจะมีการตั้งพรรคที่มีชื่อว่า “ประชารัฐ” ด้วยซ้ำไป

จะมีใครทราบไหมหนอว่า ผู้ที่ทำให้คำว่า “ประชารัฐ” ก้าวออกจาก เนื้อร้องเพลงชาติไทยมาปรากฏในแผนพัฒนาฉบับที่ 8 พ.ศ.2540-2544 ก็คือ ท่านอาจารย์ ดร.ชัยอนันต์ นี่เอง

เป็นสุขเป็นสุขเถอะ อาจารย์ ชัยอนันต์ สมุทวนิช หรือที่ผมมักเรียกอย่างกันเองว่า “อาจารย์ปิ๋ง” ซึ่งเป็นชื่อเล่นของท่านมาโดยตลอด

เพื่อนทำงานที่เป็นประโยชน์แก่ชาติและแผ่นดินมามากแล้ว ถึงเวลาที่จะพักผ่อนได้ละเพื่อนเอ๋ย

ป.ล.ครอบครัวท่านอาจารย์แจ้งว่า จะมีพิธีสวดพระอภิธรรม เวลา 19.00 น. ณ ศาลา 15 วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร จนถึงวันศุกร์ที่ 21 กันยายนนี้.

“ซูม”