เป็นที่ชัดเจนแล้วนะครับว่า ม.44 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ท่านประกาศออกมาคลายล็อกทางการเมืองเพื่อให้มีการเตรียมการในด้านต่างๆ ที่จำเป็นต่อการเลือกตั้งได้ ก่อนที่ พ.ร.ป.เลือกตั้งจะมีผลบังคับใช้นั้น ได้พูดถึงการใช้สื่อออนไลน์ของพรรคการเมืองเอาไว้ด้วย
ข้อ 6 ของ ม.44 ฉบับนี้ระบุว่า “พรรคการเมืองจะดำเนินการประชาสัมพันธ์หรือติดต่อสื่อสารกับผู้ดำรงตำแหน่งใดๆ ภายในพรรคการเมืองของตน ผ่านทางเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ แต่การดำเนินการนั้นต้องไม่มีลักษณะเป็นการหาเสียง”
“ทั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อาจกำหนดลักษณะต้องห้ามของการประชาสัมพันธ์ หรือการติดต่อสื่อสารที่จะมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือสั่งให้มีการระงับการดำเนินการดังกล่าวได้” ข้อ 6 ของ ม.44 ขยายความส่งท้าย
ซึ่งก็คงจะต้องติดตามกันต่อไปว่า จะมีการกำหนดลักษณะต้องห้ามในเรื่องใดๆ ประเด็นไหน? หรือการกระทำอย่างใด? ฯลฯ
เพราะลักษณะต้องห้ามที่ว่านี้ น่าจะมีผลบังคับใช้ยาวนานต่อไปจนถึงการหาเสียงในช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้ง เพราะใน พ.ร.ป.ก็ระบุเรื่องนี้ไว้เช่นกันว่าใช้สื่อออนไลน์ได้แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ กลต.จะกำหนดขึ้น
เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทุกวันนี้มีอิทธิพลทั้งในทางบวกและทางลบแก่มนุษย์ทั่วโลกอย่างมหาศาล
แม้ในทางบวกจะมีมากกว่าจนเป็นที่ยอมรับของทุกประเทศ ในการที่จะใช้และพัฒนาสื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้เจริญก้าวหน้า อย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้าน
แต่ทุกประเทศก็เป็นห่วงผลในทางลบ และได้มีมาตรการต่างๆ ในการที่จะระมัดระวังผลทางลบนั้นๆ มากบ้างน้อยบ้าง
บ้านเราเองก็มีโครงการ Healthy Digital Family โครงการใน พระดำริ ของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กำลังดำเนินการดังที่ผมเขียนถึงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
เพื่อที่จะสร้างความแข็งแกร่งของสถาบันครอบครัว ในการปลูกฝังสร้างภูมิคุ้มกันในการเสพสื่อดิจิทัลแก่เยาวชน โดยเน้นการใช้สติ ความระมัดระวัง และเลือกเสพอย่างถูกต้องเหมาะสมเท่านั้น
สำหรับในทางการเมืองนั้น ตัวอย่างจากต่างประเทศ ชี้ให้เห็นในหลายๆ ประเทศว่าสื่อดิจิทัลสามารถพลิกโฉมการเมืองได้อย่างใหญ่หลวง และได้มีการนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองกันอยู่เนืองๆ
ทำให้เกิดความกังวลขึ้นว่า จะมีการนำมาใช้ในบ้านเราในช่วงเลือกตั้ง ซึ่งอาจจะมีผลทำให้เกิดการพลิกโฉมไปในทางที่คาดไม่ถึงได้เช่นกัน
เป็นที่มาของการที่จะมีการควบคุมดูแลการใช้สื่อออนไลน์ในการหาเสียง ที่กำหนดไว้แล้วใน พ.ร.ป.และเริ่มปูพื้นจาก ม.44 ฉบับนี้
ผมเองไม่มีความรู้ในเรื่องนี้มากนัก อ่านจากข่าว อ่านจากงานวิจัยต่างๆ ก็ทราบอย่างกว้างๆ ว่ามันมีผลในทางลบจริง มีความจำเป็นที่จะต้องระมัดระวัง และควรมีมาตรการในการป้องกันผลด้านลบไว้ด้วย
แต่การกำหนดมาตรการหรือเข้าไปควบคุมดูแลการใช้สื่อออนไลน์มากเกินไป ก็อาจจะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนในชาตินั้นๆ ได้ และได้เกิดการต่อสู้คัดค้าน และได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มาแล้วในหลายประเทศ
ผมก็คงต้องฝาก คสช. และฝากคณะกรรมการการเลือกตั้งให้ดำเนินการในลักษณะสายกลาง กำหนดกรอบ กำหนดลักษณะของข้อห้ามต่างๆ แต่พอเหมาะพอควรเท่านั้นสำหรับการหาเสียงทางออนไลน์บ้านเรา
เพราะถ้าทำอะไรตึงเกินไป เดี๋ยวก็จะมีใครมาจัดอันดับให้เราเป็น ประเทศน่าละอายของโลกในเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ เอาเสียอีก ซึ่งเราก็คงไม่ชอบใจ และไม่อยากให้ใครมาตำหนิเราสักเท่าไรนัก
ผมเห็นด้วยครับว่าต้องติดตามดูแลสื่อสารออนไลน์ในการหาเสียงอย่างใกล้ชิด แต่จะต้องทำด้วยความแยบยล ระมัดระวัง โดยมุ่งประเด็นไปที่ความมั่นคง ความเรียบร้อย และไม่ให้ใครเอาเปรียบใครเป็นหลัก
เพราะถ้าตึงเกินไป ห้ามโน่น ห้ามนี่ หยุมหยิมไปหมดในระหว่างหาเสียง เดี๋ยวก็โดนชาวโลกติฉินนินทาเอาอีก
อย่าลืมนะครับ ยังไงๆ เราก็ยังต้องอยู่กับโลก ไม่สามารถจะอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้…จะทำอย่างไร จะเดินไปแบบไหน ก็ต้องหันไปมองและจับตาดู “แนวโน้ม” ของโลกไปด้วยพร้อมๆ กัน.
“ซูม”