เศรษฐศาสตร์ดาวรุ่ง 2561 ผู้หญิงคนนี้…มี “ตำนาน”

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาในงานคืนสู่เหย้าของศิษย์เก่าเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งจัดขึ้น ณ โรงแรมเจดับบลิว แมริออท กรุงเทพฯ นั้น ได้มีการประกาศยกย่องศิษย์เก่าที่มีผลงานดีเด่น พร้อมทั้งประกาศมอบรางวัล “นักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่ง” ดังเช่นทุกๆ ปี

เริ่มจากศิษย์เก่าดีเด่น ซึ่งปีนี้มีอยู่ 3 ราย ได้แก่ ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร, รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดี คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ท่าน ผอ.อัมพวัน พิชาลัย ผอ.ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศล้วนแต่เป็นผู้ที่มีผลงานอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและสังคมไทย สมควรแก่การยกย่องทุกๆ ท่าน

 

สำหรับรางวัล “เศรษฐศาสตร์ดาวรุ่ง” อันเป็นรางวัลที่สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ พิจารณาขึ้นเป็นพิเศษ เมื่อประมาณ 10 กว่าปีมานี้ เพื่อเป็นกำลังใจแก่ศิษย์เก่ารุ่นใหม่ๆ ที่มีผลงานโดดเด่น ซึ่งเป็นที่คาดหวังได้ว่าจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติต่อไปในอนาคต

ปรากฏว่า ปีนี้มีผู้ได้รับรางวัล 2 ราย ได้แก่ คุณ จุฑาศรี คูวินิชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Metta Group และ คุณ สุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบัน Change Fusion ภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย

โดยส่วนตัวแล้วผมจะให้ความสนใจ แก่ “นักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่ง” เป็นพิเศษ เพราะเท่าที่จำได้ “ดาวรุ่ง” ของคณะนี้มักจะเติบใหญ่ขึ้นมาเป็นผู้ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐศาสตร์ จนเป็นที่ยอมรับจากสังคมไทยอยู่เสมอๆ

ดังนั้น เมื่อพบว่า 1 ในผู้ที่ได้รับรางวัล “เศรษฐศาสตร์ดาวรุ่ง” ปีนี้ได้แก่ คุณ จุฑาศรี คูวินิชกุล บุคคลที่ผมติดตามผลงานด้วยความชื่นชมมาโดยตลอด จึงรู้สึกตื่นเต้นและต้องขออนุญาตนำมาเขียนแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมในวันนี้อีกครั้งหนึ่ง

ว่าไปแล้วตำแหน่งและงานที่ทำให้เธอได้รับการยกย่อง ตามที่สมาคมเศรษฐศาสตร์แจ้งไว้ อันได้แก่ ซีอีโอ ของ Metta Group นั้น ผู้คนทั่วไปที่อยู่นอกวงธุรกิจ อาจจะไม่ค่อยคุ้นหูนัก

แต่ถ้าบอกว่าหญิงสาวคนนี้คือ ผู้ก่อตั้ง “Grab Taxi” ขึ้นในประเทศไทย ผมคิดว่าผู้คนจำนวนมากจะรู้สึกหูผึ่งขึ้นมาทันที

เพราะมาถึงวันนี้แทบจะไม่มีคนไทยคนไหนอีกแล้วในยุค 4.0 ที่ไม่รู้จัก “แกร็บ แท็กซี่” ซึ่งล่าสุดรีแบรนด์เป็น “Grab” เฉยๆ เพื่อ ให้จำกันง่ายๆ

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า คุณจุฑาศรี หรือที่ผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจเรียกชื่อเล่นอย่างสนิทสนมว่า “น้องจูน” จบเศรษฐศาสตร์หลักสูตรภาษาอังกฤษ จากคณะเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ก่อนจะไปทำงานที่ญี่ปุ่นอยู่ระยะหนึ่ง และต่อมาก็ไปเรียนต่อด้านบริหารธุรกิจที่ Harvard Business School

ที่ Harvard นี้เอง น้องจูนมีโอกาสทำโครงการร่วมกับเพื่อนๆ ชาวมาเลเซีย 2 คน ซึ่งก็คือโครงการเรียกแท็กซี่ผ่านแอปนี่แหละ และเมื่อเรียนจบกลับมาบ้านแล้ว เพื่อนชาวมาเลเซียก็นำโครงการไปทดลองที่กัวลาลัมเปอร์ ปรากฏว่าพบกับความสำเร็จอย่างงดงาม

เธอจึงชักชวนเพื่อนมาร่วมกันทำในเมืองไทย ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงในเวลาไม่นานนัก

ความสำเร็จของ Grab Taxi ในประเทศไทยกลายเป็นตัวอย่างของกิจการ “สตาร์ตอัพ” และไม่นานนักชื่อของน้องจูนก็เป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่างกว้างขวางในแวดวงของธุรกิจยุคใหม่ในบ้านเรา

ทุกวันนี้แม้เธอจะขึ้นไปบริหาร Metta Group ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของครอบครัวโดยตรง แต่ก็ยังไม่ทิ้งการดูแล Grab โดยถือเป็น 1 ในสายงานของ Group ที่เธอดูแลอยู่

ครับ! ก็เป็นเรื่องราวของผู้หญิงเก่งรุ่นใหม่ที่ผมติดตามมาตลอด และรู้สึกยินดีที่สมาคมเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ยกย่องเธอให้เป็นนักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่งในปีนี้

ดาวรุ่งที่สร้าง “ตำนาน” ในการเรียกใช้บริการแท็กซี่อย่างสะดวกสบายให้แก่ประเทศไทย และกลายเป็นบริการยอดนิยมสูงสุดในปัจจุบัน

จริงอยู่ แม้บริษัทแม่ของ Grab จะถือกำเนิดที่มาเลเซีย และปัจจุบันโยกไปอยู่สิงคโปร์เรียบร้อย จนถือกันว่า Grab เป็นบริษัทสิงคโปร์ในสายตาชาวโลก แต่สำหรับตำนานการเกิดและเติบโตของ Grab ในประเทศไทยนั้น กล่าวได้เลยว่าเป็นฝีมือของผู้หญิงเก่งรายนี้โดยตรง

ในอนาคตข้างหน้าเธอจะสร้างตำนานอะไรอีกบ้าง? คงต้องติดตามกันยาวๆ ต่อไปละครับ.

“ซูม”