ท่านผู้อ่านคงจะได้ยินคุณหมอท่านเตือนผู้สูงอายุอยู่บ่อยๆ ว่าให้ทำ จิตใจสบายๆ เข้าไว้ ให้มีอารมณ์ขัน ให้มองโลกในแง่ดี จะได้ ไม่เป็นโรคซึมเศร้า
โดยสถิติแล้วผู้สูงอายุมักเป็นโรคซึมเศร้า และนำไปสู่การใช้ชีวิตอย่างเศร้าๆ จนถึงขั้นทำอะไรที่ไม่ควรจะทำอยู่เสมอๆ เห็นได้ชัดเจนในประเทศพัฒนาแล้ว เช่นในสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น
ด้วยเหตุนี้ ในฐานะผู้สูงอายุคนหนึ่งและกลัวอย่างยิ่งว่าตัวเองจะ เป็นโรคซึมเศร้า ผมจึงไม่อ่านข่าวการเมืองเลย หมายถึงว่าจะไม่อ่านในรายละเอียด ชำเลืองดูแค่หัวข่าวแล้วก็ผ่านไปอ่านข่าวอื่นๆ แทน
ขนาดแค่อ่านเฉพาะหัวข่าวเท่านั้น ผมก็พอจะจับความได้ว่า การเมืองของประเทศไทยเรายังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย
ไม่มีการปฏิรูปปฏิสังขรณ์ หรือพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นสักเท่าไรนัก
ในกรอบใหญ่ก็ยังแบ่งขั้วกันเหมือนเดิม ยังทะเลาะกันเหมือนเดิม อ่านหัวข่าวแล้วก็ไม่อยากอ่านรายละเอียดอย่างที่ว่า
นอกจากไม่ค่อยอ่านแล้วผมยังไม่ค่อยเขียนถึงอีกด้วย ดังที่ท่านผู้อ่านที่ติดตามเป็นประจำคงจะทราบอยู่แล้ว
แต่ที่ต้องเขียนถึงข่าวการเมืองในวันนี้ ก็ด้วยเหตุผลส่วนตัวบางประการครับ เพราะบุคคลในข่าวการเมืองที่เป็นข่าวพาดหัวใหญ่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเป็นเพื่อนคนหนึ่งของผม
ผมหมายถึงผลการเลือกหัวหน้าพรรค รวมพลังประชาชาติไทย หรือ รปช. ที่มีต้นกำเนิดมาจากกลุ่ม กปปส. หรือม็อบนกหวีด เมื่อ 4-5 ปีก่อน ที่มีกำนัน สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นหัวหน้ากลุ่มนั่นแหละครับ
ผลปรากฏว่าไม่ใช่ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อย่างที่หลายๆ ฝ่ายคาดไว้ในตอนแรก
ผู้ที่ได้รับการเลือกอย่างเป็นเอกฉันท์ รวมทั้ง ดร.เอนกเอง ก็หลีกให้ ด้วยความเต็มใจ กลับเป็น “หม่อมเต่า” หรือ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล
ผมเป็นเพื่อนคนหนึ่งของ “หม่อมเต่า” ครับ จะบอกว่าเป็น เพื่อนสนิท ก็คงไม่ใช่ แต่ถ้าจะบอกว่า ไม่สนิท ก็ไม่ใช่อีกแหละ
เราไม่สนิทกันถึงขั้นจะต่อโทรศัพท์คุยกันบ่อยๆ หรือชวนกันไปกินข้าวกินเหล้าบ้างนานๆ ครั้ง อย่างที่เพื่อนสนิทเขามักนัดกันเชิญชวนกัน
แต่จะบอกว่าไม่สนิทก็ไม่เชิงนัก เพราะเวลาเจอกันเราก็มักจะขึ้นมึง ขึ้นกู ขึ้นลื้อ ขึ้นอั๊ว ซึ่งเพื่อนที่จะใช้ภาษาในลักษณะนี้ได้ จะต้อง เป็นเพื่อนสนิทเท่านั้น
ผมรู้จักกับ “หม่อมเต่า” เมื่อปี 2515 หรือเมื่อ 46 ปีที่แล้ว ในฐานะข้าราชการที่ได้รับเชิญไปเข้าอบรมและดูงานด้านการบริหารภาครัฐ ที่ประเทศเยอรมันตะวันตก (ยุคนั้น) ด้วยกัน
จำได้ว่าคณะของเราใหญ่มาก น่าจะกว่า 20 ท่าน และมีผู้ว่าราชการจังหวัดและข้าราชการกระทรวงมหาดไทยร่วมอยู่ด้วยหลายท่าน เรา 2 คนเป็นเด็กที่สุดของกลุ่ม โดยผมเป็นตัวแทนของสภาพัฒน์ ในขณะที่หม่อมเต่าเป็นตัวแทนกระทรวงการคลัง
คณะอบรมของเราเป็นข่าวใหญ่มาก พาดหัวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ทุกฉบับใน พ.ศ.นั้น เพราะอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดท่านหนึ่งได้เสียชีวิต ขณะเดินทาง (ผู้ว่าฯ วิสิษฐ์ ไชยพร จังหวัดเชียงใหม่)
กลับจากเยอรมันเราต่างคนต่างก็แยกไปทำงานในส่วนของตน แต่ก็ยังเจอะเจอกันอยู่เสมอ เพราะกระทรวงการคลังกับสภาพัฒน์จะทำงาน ประสานกันอย่างใกล้ชิด
ทุกครั้งที่เจอกัน เราก็ยังคงพูดจาขึ้นมึง ขึ้นกู กันอยู่ตลอด
หม่อมเต่าที่ผมรู้จัก เป็นคนเก่งคนหนึ่งของประเทศไทย สมดังคำเล่าลือ แต่ก็เป็นคนปากกล้า ขวานผ่าซาก ตรงไปตรงมา บางครั้งอาจพูดจาไม่ค่อยเข้าหูคน จนผมนึกไม่ออกว่าจะเป็นนักการเมืองได้อย่างไร
ผมจึงรู้สึกเสียวๆ ที่หม่อมเต่ามาเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคนี้ ที่พร้อมจะชนกับพรรคการเมืองเก่าที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาอย่างมากพรรคหนึ่ง
โดยเฉพาะตัวหม่อมเต่าเอง ดูจะเป็นไม้เบื่อไม้เมากับอดีตหัวหน้าพรรคที่ว่า ที่ประกาศสงครามมาจากต่างประเทศเมื่อ 2 วันที่แล้ว
อย่างที่บอกน่ะแหละว่า ผมไม่อยากเขียนเรื่องการเมืองเลย เพราะเขียนแล้วกลัวจะเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น
แต่ไหนๆ เพื่อนเก่ากระโดดมาเล่นการเมืองทั้งที จะซึมเศร้าหรือไม่เป็นเรื่องของอนาคต
เอาเป็นว่า ณ บัดนาว ผมขอแสดงความยินดีและขอต้อนรับ “เพื่อนเต่า” ในฐานะ “เพื่อนเก่า” เข้าสู่เวทีการเมืองไปพลางๆ ก่อนก็แล้วกัน.
“ซูม”