ใกล้เทศกาลเข้าพรรษา “ทำบุญ”+“เที่ยว” ที่ไหนดี?

ความจริงวันเข้าพรรษาปี 2561 ยังอยู่อีกประมาณ 14 วัน หรือ 2 สัปดาห์ นับจากวันนี้เป็นต้นไป แต่จังหวัดต่างๆทั่วประเทศไทยที่มีชื่อเสียงในด้านจัดงานเข้าพรรษาเริ่มทยอยส่งข่าวประชาสัมพันธ์มาถึงทีมงานซอกแซกเป็นระยะๆ ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมโน่นแล้ว

เพื่อสนองศรัทธาของจังหวัดเจ้าภาพและเพื่อประโยชน์ของท่านผู้อ่านที่ประสงค์จะออกไปทำบุญทำกุศล และถือโอกาสพักผ่อนหย่อนใจไปด้วย ณ จังหวัดต่างๆในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาปีนี้ ซึ่งจะเป็นช่วงหยุดยาว 27-30 ก.ค. เรามาลองดูโปรแกรมการจัดงานปีนี้กันเลยครับ

เริ่มกันที่จังหวัดที่จัดงานประเพณีในเทศกาลเข้าพรรษาที่โด่งดังที่สุด เพราะจะมีการแห่เทียนพรรษาที่สวยสดงดงาม และยิ่งใหญ่ที่สุดอันได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นจังหวัดแรกเช่นเคย

งาน “ฮีตศรัทธาราชธานีแห่งแสงเทียน” ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาจังหวัดอุบลราชธานีประจำปี 2561 จะเริ่มตั้งแต่ 23-28 กรกฎาคม โดยในช่วงเริ่มแรกจะเป็นการร่วมแรงร่วมใจเพื่อทำเทียน หล่อเทียน แกะสลักเทียน และตกแต่งขบวนเทียนของชุมชนต่างๆในจังหวัด

แต่ละแห่งแต่ละที่จะระดมช่างทำเทียนและชาวบ้านที่มีจิตศรัทธามาช่วยกันคนละมือละไม้ นับเป็นกิจกรรมเบื้องหลังและเบื้องหน้าการทำเทียนพรรษาที่น่าดูชมอย่างยิ่ง

ใครไปอุบลราชธานีตั้งแต่ช่วงนี้ ก็จะมีโอกาสได้ไปเยือนชุมชนที่จะส่งเทียนเข้าประกวด ได้เห็นวิธีการทำอันเต็มไปด้วยศิลปะและการใช้ฝีมือในการแกะสลักเทียนทั้งของชาวอุบลและประเทศเพื่อนบ้านที่มาร่วม ขณะเดียวกันก็จะได้มีโอกาสสัมผัส ถนนสายเทียนวัฒนธรรม ที่จะมีการประดับประดาอย่างวิจิตรตระการตา พร้อมกับชม อุโมงค์เทียนเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 66 พรรษา อันงดงาม

พิธีเปิดงานจะเริ่ม 25 กรกฎาคม การประกวดเทียนพรรษา จะเริ่มวันที่ 27 กรกฎาคม ส่วนพิธีแห่ด้วยขบวนเทียนพรรษาอันยิ่งใหญ่ตระการตา จะเริ่มขึ้นในภาคกลางวัน ตลอดวันที่ 28 กรกฎาคม และหลังจากนั้นก็ยังจะเก็บต้นเทียนที่ได้รับรางวัลต่างๆ ไว้ให้ดูชม จนถึงวันที่ 26 สิงหาคม ณ วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี…เรียกว่าใครพลาดวันแห่ วันประกวดก็ยังตามไปชมได้

ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว หัวหน้าทีมซอกแซก แม้จะมิได้ไปร่วมงานระหว่างเทศกาล แต่ก็ตามไปภายหลัง ยังได้มีโอกาสไปชมเทียนชนะเลิศรางวัลพระราชทาน ที่จังหวัดเก็บรักษาไว้ บังเกิดความรู้สึกประทับใจมาจนถึงเดี๋ยวนี้

แห่งที่ 2 ที่มาแรงมากในช่วง 4-5 ปีหลัง เห็นจะต้องยกให้กับ จังหวัดนครราชสีมา ประตูสู่อีสานนั่นเอง งาน “แห่เทียนโคราช” นอกจากจะมีขบวนสวยๆงามๆให้ดูแล้ว เอกลักษณ์ของเทียนนครราชสีมาก็คือ เทียนล้อการเมือง แกะสลักเป็นรูปนักการเมืองหยอกล้อด้วยอารมณ์ขันจนเป็นข่าวหน้า 1 อยู่เสมอ

ปีนี้ “งานแห่เทียนพรรษาโคราช” จะจัดขึ้นในวันที่ 27 กรกฎาคม กับ 28 กรกฎาคม รวม 2 วัน ณ บริเวณ ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา มีการประกวดต้นเทียนพรรษา ประกวดขบวนแห่เทียนและการประดิษฐ์ต้นเทียน ฯลฯ ดังเช่นทุกๆปี

ยังอยู่ที่ภาคอีสานนะครับ…คราวนี้ไปที่จังหวัดสุรินทร์ กันบ้าง งานใหญ่ของที่นี่ก็คือ “งานมหกรรมแห่เทียนพรรษา และตักบาตรบนหลังช้าง” ถือเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในโลก ที่นำช้างมาร่วมงานบุญ โดยการให้มีการตักบาตรบนที่สูง คือพระจะนั่งอยู่บนหลังช้างรับบาตรจากญาติโยม ซึ่งไม่มี ณ จังหวัดอื่นๆ

ในขณะที่ขบวนแห่เทียนก็จะมีการตกแต่งอย่างงดงามวิจิตรตระการตาเช่นกัน พร้อมด้วยขบวนฟ้อนรำตามแบบฉบับของชาวสุรินทร์ ซึ่งจะมากับขบวนแห่ช้างที่ตกแต่งอย่างสวยงาม

งานของชาวสุรินทร์ จะมี 2 วัน คือ 26-27 กรกฎาคม 2561 ณ ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ และ อนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดี นะครับ

จาก ภาคอีสาน มาที่ภาคกลาง ใกล้ๆ กทม.กันบ้างนะครับ…ซึ่งก็จะมีงานประเพณีเข้าพรรษาที่เก่าแก่ยาวนานไม่แพ้ภาคอื่นๆ

ขอเริ่มด้วย “งานแห่เทียนพรรษาทางน้ำ คลองลาดชะโด อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา” ซึ่งในปีนี้จะจัดงานในวันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม ซึ่งเป็น วันอาสาฬหบูชา และเป็นวันหยุดราชการ

ททท. สำนักงานพระนครศรีอยุธยาแจ้งมาว่า งานจะเริ่มตั้งแต่ 08.30 น. เป็นต้นไป โดยภายในงานที่จะจัดขึ้นริม 2 ฝั่งคลองลาดชะโดจะเต็มไปด้วยขบวนเรือแห่เทียนพรรษาทางน้ำที่ตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงาม

ในแผ่นโปสเตอร์ที่แนบมาด้วยประกอบด้วยถ้อยคำเชิญชวนที่โดนใจหลายๆประโยค ดังนี้ “ชลมารคแห่งศรัทธา เทิดเจ้าฟ้าบดินทร…ชาวลาดชะโดขอเชิญเที่ยวชมงาน ประเพณีแห่เทียนพรรษาทางน้ำปีที่ 9”

“ชมวิถีชีวิตริมสองฝั่งคลอง…เส้นทางสายน้ำแห่งชีวิต การยกยอท้องทุ่งนาที่เขียวขจี… การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน และ ฯลฯ”

คนชอบเพลง “สาวผักไห่” อย่าลืมแวะไปร่วมงานกันด้วยนะครับ

งานเข้าพรรษาของภาคกลางยังมีที่โด่งดัง และเก่าแก่มาแต่โบราณกาลอีก 2-3 แห่งครับ ได้แก่ “ประเพณีตักบาตรดอกไม้” ที่ วัดจินดามณี ตำบลบ้านแป้ง อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี และ “ประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษา” ณ อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี

กับอีกหนึ่งงานในกรุงเทพมหานครนี่เอง ได้แก่ประเพณี “เดินเทียนและตักบาตรดอกไม้” ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

เนื่องจากเนื้อที่ของซอกแซกสุดสัปดาห์นี้หมดลงเสียแล้ว คงต้องขอยกยอดไปรายงานโดยละเอียดต่อในสัปดาห์หน้าตามระเบียบ

ยังทันกาลครับ เพราะงานส่วนใหญ่จะเริ่มตั้งแต่ 27 ก.ค. เป็นต้นไป และวันเข้าพรรษาก็คือ 28 กรกฎาคม ซึ่งงานทั้ง 3 งานของภาคกลางและ กทม. ที่เราจะเขียนถึงก็จะอยู่ในช่วงเวลา 2–3 วัน ที่ว่านี้แหละครับ.

“ซูม”