ทุเรียนศรีสะเกษ อีกหนึ่งสินค้า GI ไทย

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ทุกฉบับรายงานข่าวว่าก่อนเข้าประชุม ครม. ที่ทำเนียบรัฐบาล ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แวะชิมทุเรียนภูเขาไฟของจังหวัดศรีสะเกษ ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดได้นำมาให้ลองชิม เพื่อเป็นการโปรโมตการจัดงานที่จะมีขึ้นในเร็วๆนี้

ได้แก่ งาน “เทศกาลทุเรียนภูเขาไฟ อาเซียนเทรดแฟร์ 2561” ที่จังหวัดศรีสะเกษจะจัดขึ้น ณ วิทยาลัยเกษตรเทคโนโลยีศรีสะเกษ ในวันที่ 29 มิ.ย.-8 ก.ค.ที่จะถึง

ท่านนายกฯชิมทุเรียนไปกี่พูข่าวไม่ได้รายงานไว้…รายงานแต่ คำพูดหลังชิมของท่านนายกฯว่า “อร่อยหวานกำลังดี”

ทุเรียนภูเขาไฟ เป็นทุเรียนที่ปลูกที่จังหวัดศรีสะเกษ เพิ่งจะโด่งดังเป็นที่กล่าวขวัญถึงของคนชอบรับประทานทุเรียนเมื่อไม่กี่ปีนี่เอง

เมื่อปีกลาย เพื่อนรุ่นน้องผมคนหนึ่งที่เป็นนักธุรกิจชั้นนำของประเทศไทยเรานี่แหละ แต่ไปส่งเสริมการปลูกทุเรียนเป็นงานอดิเรกที่ศรีสะเกษ ส่งมาให้ผมลองรับประทาน 2 ลูก ยังติดอกติดใจมาจนถึงบัดนี้

ดังนั้น พอได้อ่านข่าวว่า ท่านผู้ว่าฯศรีสะเกษนำมาเผยแพร่ที่ทำเนียบ และท่านนายกฯชิมแล้วบอกว่า อร่อย ผมจึงต้องรีบนำมาเขียนถึง เพื่อเป็นการยืนยันและขานรับว่า ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษนั้นอร่อยจริง

อร่อยแบบนิ่มๆไปคนละทางกับทุเรียน “หลง–หลิน” ของอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ถือว่าอร่อยคนละแบบ ว่างั้นเถอะ

ในเนื้อข่าวแจ้งด้วยว่า ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษจะดำเนินการจดทะเบียนทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษให้เป็นสินค้า GI หรือสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์กับ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ต่อไป

เพื่อขึ้นบัญชีให้อยู่ในบัญชีของกรมทรัพย์สินทางปัญญาอย่างถาวรสืบไป เช่นเดียวกับสินค้าดังๆของหลายๆจังหวัดทั่วประเทศไทยที่ดำเนินการไปแล้ว

จำได้ว่าผมเคยหยิบมาเขียนในคอลัมน์ซอกแซกเมื่อหลายปีก่อนว่า สินค้า GI ของไทยเรามีอะไรบ้าง…เอ่ยชื่อออกมารับรองท่านผู้อ่านต้องร้องอ๋อ ถึงบางอ้อไปตามๆกันอย่างแน่นอน

ผมคงไม่สามารถนำมาลงได้ทั้งหมดในวันนี้เพราะเนื้อที่จำกัดแต่ก็พอจะยกตัวอย่างได้ดังนี้ครับ

ประเภท ข้าว ขึ้นทะเบียนไปแล้ว 9 รายการ อาทิ ข้าวหอมมะลิสุรินทร์, ข้าวสังข์หยดพัทลุง, ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้, ข้าวเจ๊กเชย–สาวไห้ และล่าสุดก็คือ ข้าวลืมผัวเพชรบูรณ์

ประเภท อาหาร มี 15 รายการ เช่น หมูย่างเมืองตรัง, เนื้อขุนโพนยางคำ, หอยนางรมสุราษฎร์ธานี, ไข่เค็มไชยา, ขนมหม้อแกงเมืองเพชร, ข้าวแต๋นลำปาง และรายการนี้ ผมชอบมากยกนิ้วให้ว่า อร่อยที่สุด ปลากุเลาเค็มตากใบ หรือปลาเค็มนราธิวาสนั่นเอง

ประเภท ผลไม้ เยอะที่สุด 33 รายการ มีตั้งแต่ส้มโอนครชัยศรี, ส้มโอขาวแตงกวาชัยนาท, สับปะรดศรีราชา, สับปะรดนางแล, สับปะรดภูเก็ต, มะขามหวานเพชรบูรณ์, ทุเรียนนนท์, ทุเรียนป่าละอู, ทุเรียนปราจีน ฯลฯ

ล่าสุด เมื่อ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้เอง ได้มีการประกาศเพิ่มเติมรับทุเรียน หลง–หลิน ลับแล อุตรดิตถ์มาเข้าเป็นสินค้า GI เรียบร้อย

ส่วนของศรีสะเกษ หรือทุเรียนภูเขาไฟนั้นคงจะปรากฏในบัญชีที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเผยแพร่ให้ทราบเพิ่มเติมในเร็วๆนี้

นอกจากนี้ ก็ยังมีรายการประเภทผ้าต่างๆ หรือหัตถกรรมพื้นบ้านต่างๆทั่วประเทศ เช่น ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์, ครกหินอ่างศิลา และ ชามไก่ลำปาง ฯลฯ เป็นต้น

จังหวัดไหนมีอะไรดีๆอีก อย่าลืมไปจดทะเบียน GI ไว้ด้วยนะครับ เพราะจดแล้วก็เหมือนเราได้รับการประทับตรารับรองจากทางราชการเอาไปโฆษณาประชาสัมพันธ์ได้เลย

GI ที่ว่านี้ ไม่ใช่ทหารจีไอ หรือทหารอเมริกันนะครับ แต่ย่อมาจาก Geographical Indication หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทยออกให้โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์

เอาไปขึ้นป้ายไว้หน้าจังหวัด ผู้คนก็จะอยากชิม อยากซื้อเหมือนเห็นป้าย “เชลล์ชวนชิม” หรือป้าย “ครัวคุณต๋อย” อะไรทำนองนั้น

ที่สำคัญจะมีการเผยแพร่ไปทั่วโลกด้วย เท่ากับว่าดังข้ามประเทศเลยล่ะ มิใช่จะดังอยู่แค่ในไทยแลนด์ของเราเท่านั้นนะครับขอบอก.

“ซูม”