คงจะทราบกันดีแล้วน่ะครับว่า ทุกวันนี้สื่อสิ่งพิมพ์ตกอยู่ในสภาพอาการหนัก เพราะคนอ่านน้อยลง หันไปสนใจสื่อออนไลน์มากขึ้น ทำให้สื่อสิ่งพิมพ์ต้องปิดตัวเองไปเป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะนิตยสารต่างๆ ที่ทยอยปิดตัวเองไปทีละฉบับสองฉบับ จนล่าสุดแทบไม่เหลืออีกแล้วบนแผงหนังสือวันนี้
รวมทั้งหนังสือเล่มด้วยน่ะครับ สำนักพิมพ์ต่างๆ ถ้าไม่ปิดตัวเองก็พิมพ์หนังสือน้อยลง ทำให้ร้านหนังสือมีแต่หนังสือเก่าๆวางจำหน่ายและมีหนังสือใหม่ออกมาวางค่อนข้างน้อย
อ่านข่าวเหล่านี้แล้วก็รู้สึกเห็นใจนักลงทุน เจ้าของกิจการสื่อสิ่งพิมพ์ และสำนักพิมพ์หนังสือต่างๆ ที่ต้องหยุดกิจการไปตามๆกัน
แต่ที่น่าเห็นใจมากกว่าเจ้าของสำนักพิมพ์ทั้งหลายก็คือ “นักเขียน” นั่นแหละครับ
ในช่วงที่นิตยสาร หรือสำนักพิมพ์ทยอยปิดตัวเป็นระยะๆนั้น ผมก็อดใจหายด้วยความห่วงใยเสียมิได้ว่า นักเขียนซึ่งก็ถือเป็นเพื่อนร่วมอาชีพของผมด้วยนั้นจะไปทำมาหากินอะไรหนอ?
จะกลายเป็นคนว่างงานกันยกใหญ่เสียคราวนี้กระมัง?
จนกระทั่งเมื่อ 2 วันนี้เอง ผมได้มีโอกาสอ่านข่าวเล็กๆข่าวหนึ่งในหน้าเศรษฐกิจของหนังสือพิมพ์มติชน ก็รู้สึกใจชื้น และโล่งอกโล่งใจแทนเพื่อนนักเขียนของผมขึ้นมาอย่างมาก
ข้อใหญ่ใจความของข่าวนี้ก็คือ เขาไปสัมภาษณ์ประธานบริหารของ บริษัท อุ๊คบี จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีบุ๊กที่โด่งดังที่สุดเจ้าหนึ่งของประเทศไทยเรา แล้วสรุปได้ว่าทุกวันนี้นักเขียนไทยไปเกิดและมีรายได้ในออนไลน์ หรืออีบุ๊กเป็นจำนวนมาก
ไม่ใช่มากธรรมดานะครับ มากจนผมก็รู้สึกตกใจ ที่คุณณัฐวุฒิ พึ่งเจริญ ซีอีโอของ อุ๊คบี กล่าวกับมติชนว่า ปัจจุบันมีนักเขียนที่ส่งมาร่วมในแพลตฟอร์มของอุ๊คบีประมาณ 3 แสน 5 หมื่นราย และเพิ่มขึ้นวันละ 1,000-2,000 ราย
แม้ส่วนใหญ่จะเปิดให้อ่านฟรีก่อน มีทั้งนิยาย การ์ตูน แล้วก็วิดีโอ แต่จากนั้นจะตั้งราคาขายเป็นตอนๆ ได้ตอนละ 3-4 บาท แล้วค่อยๆทยอยเพิ่มในตอนหลังๆ
คุณณัฐวุฒิกล่าวตอนหนึ่งว่า นักเขียนที่มีรายได้มากๆถึงเดือนละ 1 ล้านบาทก็มีปรากฏ ส่วนคนอื่นๆทั่วๆไปที่ได้ค่าเขียนเพราะมีคนอ่าน ผ่านแพลตฟอร์มนี้ก็มีเป็นจำนวนมากแต่ละเดือนต้องโอนเงินให้นักเขียนเป็นแสนคนเลยทีเดียว
แม้จะไม่มีรายละเอียดว่าโอนคนละเท่าไหร่? ได้เงินเป็นกอบเป็นกำแค่ไหน? เลี้ยงชีพได้ไหม? แต่พอเห็นตัวเลขว่ามีนักเขียนได้รับการโอนเงินเป็นแสนคน ผมก็ยิ้มออกด้วยความปลื้มปีติเป็นที่สุด
คงจะต้องไปหาข้อเท็จจริงลึกๆกว่านี้อีก เพราะข่าวหนังสือพิมพ์เขาเขียนเอาไว้สั้น บางประโยคใช้ศัพท์เทคนิคทันสมัยคนโลว์เทคอย่างผมอ่านแล้วก็สะดุด ทำให้เข้าใจไม่ตลอดทั้งหมด
แต่เพียงเท่านี้ก็ดีใจแล้วครับ ที่นักเขียนไทยเรามิได้ตกงานเลย ยังมีงานมีเงินรออยู่ เพียงแต่ต้องไปแข่งขันกันกับนักเขียนอื่นๆในตลาดออนไลน์เท่านั้น
ทำให้นึกถึงคำพูดของผู้หลักผู้ใหญ่บางท่านที่เข้าใจโลก เข้าใจเหตุการณ์ เข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลง ท่านเคยพูดให้ฟังว่า “หนังสือ” จะไม่มีวันตายหรอก…“การอ่าน” ก็จะยังต้องมีต่อไป
เพียงแต่จะเปลี่ยนรูปจากกระดาษไปอยู่ในจอของออนไลน์ ซึ่งก็มีทั้งเครื่องคอมฯ, ไอแพด, โน้ตบุ๊ก และล่าสุดก็คือ โทรศัพท์มือถือ
สิ่งที่จะยากขึ้นก็คือ จะมีนักเขียนใหม่เกิดขึ้นมาก เพราะใครๆก็เขียนได้ เขียนจากที่ไหนก็ได้ ส่งไปลงที่ไหนก็ได้ ไม่มีใครลงให้ ก็ลงในสื่อของตัวเองที่สามารถเปิดขึ้นมาได้ทุกๆคน
จะทำให้การแข่งขันสูงขึ้น เพราะมีคู่แข่งเต็มออนไลน์ไปหมด โอกาสจะยากกว่าสมัยก่อน
แต่ถ้าโชคดีได้เกิดโอกาสจะรวยกว่าสมัยก่อนเยอะเลยครับ…อย่างที่อุ๊คบีเขาบอก บางคนรายได้เดือนละเป็นล้าน
ขอขอบคุณซีอีโออุ๊คบีที่เอาข่าวนี้มาบอก และขอขอบคุณข่าวเล็กๆชิ้นนี้ด้วย ที่เหมือนน้ำทิพย์ชโลมใจคนรักการอ่าน รักการเขียนและเอาใจช่วยนักเขียนอย่างผม ที่ทราบว่าหนังสือยังไม่ตายและนักเขียนก็ยังไม่ตาย แถมมีมากเป็นแสนๆคนซะด้วยซ้ำในปัจจุบัน.
“ซูม”