“โหมโรง” มิวสิคัล 2561 กลับมาร่วมปลุกกระแสไทย

แรกเริ่มเดิมทีนั้น ผมตั้งใจเอาไว้ว่าจะไปดูละครเวทีเรื่อง “โหมโรง : เดอะมิวสิคัล 2561” แบบฆ่าเวลาเท่านั้น เพราะเมื่อค่ำวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ซึ่งเขาจัดแสดงในรอบสื่อมวลชนนั้น พอดีผมมีคิวว่างและไม่รู้จะไปไหนดี

ก็เลยชวนแม่บ้านไปกันแค่ 2 คน ไม่มีทีมงานตามไปด้วย เหมือนเวลาไปดูละครเรื่องอื่นๆ โดยตั้งใจว่าจะไปหาอะไรรับประทานมื้อค่ำที่แถวๆ สยาม 2 คนตายาย เพราะไม่ได้ไปมานานแล้ว

จากนั้นก็จะแว่บไปที่โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ บนชั้น 7 ของสยามสแควร์วัน นั่งดูละครเรื่องนี้สักครึ่งเรื่อง พอเขาพักเบรกครึ่งเวลาปุ๊บก็จะเดินออกปั๊บ กลับบ้านเลย เพราะจะต้องเข้านอนเร็วเพื่อตื่นตอนตี 5 ลุกขึ้นมาหาข้อมูลไว้พูดวิทยุกีฬา สปอร์ต เรดิโอ FM 96 ตอน 8 โมงเช้าวันรุ่งขึ้น ตามคิวที่รออยู่

เหตุที่คิดและตัดสินใจล่วงหน้าเอาไว้ ทำนองนี้ก็เพราะผมได้ดู “โหมโรง” เมื่อตอนเป็นภาพยนตร์มา 3-4 ครั้ง และตอนเป็นละครเวที ซึ่งมาเปิดโรงที่โรงละครเคแบงก์นี่แหละ เมื่อ พ.ศ.2558 ก็มาดู แถมเขียนชื่นชมเอาไว้เต็มคอลัมน์ซอกแซก

คราวนี้จึงอยากที่จะไปนั่งดูสักแค่ครึ่งเรื่องแล้วก็กลับบ้าน โดยไม่เขียนรีวิวหรือแนะนำอะไรให้อีก เพราะก็ได้เขียนบอกกล่าวเชิงประชาสัมพันธ์ไว้ในคอลัมน์วันเสาร์ “เสาร์สารพัน” มาแล้ว 2-3 ครั้ง น่าจะพอเพียง

แต่ที่ไหนได้ กลับกลายเป็นว่าผมต้องนั่งดูจนจบ และยอมนอนดึก (กว่าจะกลับถึงบ้านและอาบน้ำเข้านอน ตี 1 พอดี) เพราะเสน่ห์ของ “โหมโรง 2561” นั้น แรงจริงๆ

เดินเรื่องกระชับฉับไว ไม่เยิ่นเย้อ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปจากคราวที่แล้วเยอะเลยทีเดียว สามารถตรึงอารมณ์คนดูให้ติดตามโดยตลอดแบบจ้องตาเขม็งอย่างที่เพื่อนนักข่าวการเมืองเขาชอบใช้คำว่า “โปรดอย่ากะพริบตา” หรือ “ห้ามกะพริบตาเด็ดขาด” หรืออะไรทำนองนั้น

บทบาทการแสดงของนักแสดงแต่ละคน คล่องแคล่ว สมบทบาททั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ เพราะเล่นคราวก่อนมาหลายรอบ และคราวนี้ก็คงฝึกซ้อมมาอีกแรมเดือน เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนดูไม่กะพริบตาอย่างที่ว่า

แต่ที่โดดเด่นอย่างเหลือเชื่อกลายเป็นการบรรเลงดนตรีไทยนั่นแหละครับ โดยเฉพาะเสียงระนาดเอกที่พระเอก หรือ “นายศร” ประชันกับวงอื่นๆ สมัยอยู่อัมพวามาจนถึงช่วงเข้ารั้วเข้าวัง ก่อนประชันกับ “ขุนอิน” ทำให้คนดูเกิดอาการอินกับดนตรีไทยอย่างบอกไม่ถูก

โดยเฉพาะตัวผมเองถึงกับต้องหันไปกระซิบกับแม่บ้านว่า แบบนี้ฉันดูครึ่งเดียวไม่ได้แล้วละเธอ ต้องรอดูฉากประชันกับ “ขุนอิน” ซึ่งเป็นฉากใหญ่และจะอยู่ในการแสดงครึ่งหลัง ดึกแค่ไหนคงต้องยอมละเธอเอ๋ย

เข้าใจว่าแม่บ้านผมก็คงอินด้วยเหมือนกันบอกว่าเอาเลย ถ้าไม่ได้ดูฉากดวล หรือฉากประชันกับขุนอิน ฉันก็คงนอนไม่หลับเหมือนกันแหละ

ปรากฏว่า ไม่ผิดหวังเลยครับ…ขอยกนิ้วให้เป็นฉากที่เยี่ยมยอดที่สุด โดยเฉพาะการรัวระนาดประชันระหว่าง “เจ้าศร” กรกันต์ สุทธิโกเศศ ดาราหนุ่มที่รู้จักกันในนามของ “อาร์ม” กับ“ขุนอิน” ทวีศักดิ์ อัครวงศ์ นั้น ไร้เทียมทานจริงๆ

น้องอาร์มตีระนาดเก่งมาตั้งแต่คราวที่แล้ว มาถึงคราวนี้ยิ่งเก่งขึ้นไปอีก เหลือเชื่อว่าพระเอกรุ่นใหม่อย่างเขาจะทำได้โดยไม่ต้องหาคนมาตีระนาดแทน

สำหรับ ทวีศักดิ์ อัครวงศ์ นั้น เป็นมือระนาดอาชีพอยู่แล้ว จึงไม่ต้องสงสัยอะไรสำหรับการรับบทขุนอิน แต่สำหรับ กรกันต์ ทำได้ขนาดนี้โดยไม่มีพื้นฐานมาก่อน ไม่ยกนิ้วกดไลค์ให้น้องทั้ง 2 แม่โป้งก็ใจดำไปหน่อยละ

ที่ซึ้งมากจนเรียกเสียงปรบมือสนั่นหวั่นไหวก็ตอนจบการประชัน ภายหลังเจ้าศรน็อกขุนอินอย่างเด็ดขาด ก็คลานไปขอสมาลาโทษที่ล่วงเกิน ในขณะที่ขุนอินก็บอกว่าภูมิใจที่ได้ประชันกับมือระนาดเอกแห่งสยาม ขอให้รักษาตัวไว้ให้ดี

บรรยากาศปรองดองแบบวัฒนธรรมไทยขนานแท้เลยล่ะครับ อยากเห็นนักการเมืองไทยที่ชอบดวลกันอุตลุดมาหลายๆ ยุคเอาอย่างซะมั่ง

นอกจากฉากเอก ที่ว่านี้แล้วทุกๆ ฉากทุกๆองก์ และทุกๆ นักแสดงต่างก็แสดงได้ดีมากๆจนแทบจะหาที่ติอะไรมิได้เลย

ขอปรบมือให้ตั้งแต่ผู้กำกับการแสดง ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม ลงมาถึง “ท่านครู” สุประวัติ ปัทมสูต และ ชื่นชมเป็นพิเศษสำหรับ เอ๋ เชิญยิ้ม ในบทเจ้าเปี๊ยก, มงคล สะอาดบุญญพัฒน์ ในบทเจ้าทิว, อนุสรณ์ มณีเทศ ในบทนายทหารของท่านผู้นำ ฯลฯ ตลอดจนนักแสดงและนักดนตรีไทยทุกคน ทุกวงที่ขึ้นเวที

อาจจะเป็นเพราะผมกำลังอยู่ในอารมณ์นิยมไทยอันสืบเนื่องมาจากละครทีวีของช่อง 3 เรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ทำให้รู้สึกถวิลและโหยหา ความเป็นไทยต่างๆเป็นทุนอยู่ก่อนแล้ว

พอไปดู “โหมโรง : เดอะ มิวสิคัล 2561” ที่เต็มไปด้วยรากเหง้าและอรรถรสของความเป็นไทยผ่านดนตรีไทยและสิ่งแวดล้อมโดยรอบก็เลยทำให้อารมณ์ไทยๆ ของผมพวยพุ่งขึ้นไปอีก ทำให้เกิดความรู้สึกว่าดูสนุกกว่าครั้งก่อน

น่าเสียดายที่กลับมาครั้งนี้ จะแสดงแค่ 10 รอบ นี่ก็ผ่านไปแล้ว 2 รอบละมั้ง (5-6 พ.ค.) มาอีกทีจะเป็น 12-13-19-20-26 พฤษภาคม แล้วก็ 2-3 มิถุนายน แล้วก็ลาโรง โปรดดูรายละเอียดรอบเวลาแสดงและการจองตั๋วใน ไทยทิกเก็ต เมเจอร์ เอาเองนะครับ

ผมอยากให้ไปดูกันเยอะๆครับ ไปร่วมกันภาคภูมิใจกับความเป็นไทย โดยเฉพาะดนตรีไทยและ “ระนาดเอก” ของดีที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองมาช้านาน และจะอยู่ต่อไปอีกนานแสนนานในวันข้างหน้า ตราบที่ยังมีประเทศไทยอยู่บนโลกใบนี้.

“ซูม”