ตำนานสงครามเกาหลี+ตำนาน “ทหารเสือราชินี”

เมื่อวานนี้ผมเขียนถึงความปลาบปลื้มใจที่ 2 ประธานาธิบดีเกาหลีเหนือและใต้ ประเทศที่ถูกแบ่งแยกทั้งๆที่เป็นเผ่าพันธุ์เดียวกัน และถูกมหาอำนาจบังคับให้เป็นศัตรูกันมาร่วมๆ 70 ปี หันมาจับมือกันอย่างซาบซึ้งและประทับใจชาวโลก

ผมเอ่ยถึง “กองพันพยัคฆ์น้อย” หน่วยทหารไทยที่ประเทศไทยส่งไปช่วยเกาหลีใต้รบกับเกาหลีเหนือ ในนามของกองกำลังสหประชาชาติ เมื่อ พ.ศ. 2493-2496 ขณะที่สงครามเกาหลีระเบิดขึ้น

หนังสือพิมพ์ใน พ.ศ.โน้นลงข่าวกองพันพยัคฆ์น้อยทุกวัน โดยเฉพาะวีรกรรมอันห้าวหาญของหน่วยทหารไทยชุดนี้ ที่ได้รับการยกย่องให้เป็น “Little Tiger” จากกองกำลังสหประชาชาติและเรียกขานอย่างติดปากของสื่อมวลชนใน พ.ศ.ดังกล่าว

พอเขียนเสร็จส่งต้นฉบับไปตีพิมพ์เรียบร้อยแล้ว ก็อดมิได้ที่จะเข้าไปหา “อากู๋” หรือ “กูเกิล” เพื่อเจาะเวลาหาอดีตย้อนหลัง เพราะมั่นใจว่าคงจะมีคนรุ่นเก่าๆช่วยบันทึกไว้บ้างอย่างแน่นอน

ปรากฏว่า เต็มพรืดไปหมดเลยครับ หัวข้อที่เกี่ยวกับ Little Tiger และวีรกรรมของกองพันทหารไทย โดยเฉพาะเหตุการณ์สู้รบ ณ สมรภูมิ “พอร์ค ช็อป ฮิลล์” หรือเชิงเขาพอร์ค ช็อป อันเป็นที่มั่นที่กองพันทหารไทยทำหน้าที่ปกปักรักษา และโดนฝ่ายศัตรูทั้งทหารจีนแดง (การเรียกขานในยุคนั้น) กับทหารเกาหลีเหนือ บุกเข้าถล่มถึง 3 ครั้ง 3 ครา

กองพันทหารไทยปกป้องเอาไว้ได้ทั้ง 3 หน โดยเฉพาะหนสุดท้ายสู้กันถึงขั้นปะทะแบบประจัญบานตัวต่อตัว สู้กันด้วยดาบปลายปืนอย่างดุเดือด

ดังบันทึกของทหารไทยที่รอดชีวิตรายหนึ่งว่า “ไม่รู้ใครเป็นใคร สังเกตว่าเป็นฝ่ายเดียวกัน หรือข้าศึกก็จากท่าทางถืออาวุธ และเครื่องแบบเท่านั้น…ทุกอย่างเกิดขึ้นในท่ามกลางหิมะโปรยปรายหนาวเย็น”

ฝ่ายข้าศึกเห็นว่า ไม่สามารถเอาชนะทหารไทยได้ ต้องถอยทัพกลับไป และโดนยิงถล่มไล่หลังจากกองกำลังสหประชาชาติ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ทิ้งศพไว้กลาดเกลื่อน นับได้ถึง 204 ศพ ในขณะที่ทหารไทยเสียชีวิต 16 นาย บาดเจ็บ 57 นาย

รุ่งขึ้นผู้บัญชาการทหารราบสหรัฐฯ ที่บัญชาการรบในบริเวณดังกล่าว ได้เข้ามาเยี่ยมเยียนและได้กล่าวประโยคประวัติศาสตร์ไว้ประโยคหนึ่งว่า “ข้าพเจ้าไม่มีอะไรสงสัยในจิตใจแห่งการต่อสู้ของทหารไทยอีกแล้ว”

สำหรับฉายา “พยัคฆ์น้อย” นั้น มีหลักฐานว่า พล.อ.เจมส์ เอ. แวนฟลีต แม่ทัพที่ 8 ของสหรัฐฯ ผู้บังคับบัญชากองกำลังสหประชาชาติในช่วงนั้นเป็นผู้ตั้งให้ และผลจากการสู้รบที่ “พอร์ค ช็อป ฮิลล์” มีทหารไทยได้รับเหรียญกล้าหาญถึง 29 นาย

รวมทั้งเหรียญระดับสูงสุดของสหรัฐฯ ที่มอบให้แก่ พ.ท.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ผู้บังคับกองพันพยัคฆ์น้อย ที่บัญชาการรบอย่างห้าวหาญ

ชื่อเรียกขานอย่างเป็นทางการของหน่วยรบไทยหน่วยนี้ก็คือ กรมผสมที่ 21 ซึ่งเมื่อสงครามเกาหลีสงบลงแล้ว ได้เดินทางกลับประเทศไทย และต่อมาในปี 2502 ก็ได้รับการสถาปนาเป็นกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

ต่อมาในปลายปี 2511 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ก็ย้ายไปตั้งที่จังหวัดชลบุรี และในวันที่ 3 กันยายน 2519 ก็ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯจาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานชื่อค่ายทหารแห่งนี้ว่า “ค่ายนวมินทราชินี”

ต่อมาและต่อมาอีกหลายๆปี ผบ.ร.21 รอ. ที่เจริญเติบโตในหน้าที่ราชการจนได้เป็นถึง ผู้บัญชาการทหารบก ได้แก่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีบทบาทสำคัญยิ่งในการบริหารประเทศใน พ.ศ.นี้

กล่าวได้ว่า เรื่องราวของ “กองพันพยัคฆ์น้อย” วีรบุรุษแห่งสงครามเกาหลี นับเป็นมหากาพย์แห่งตำนานที่น่าสนใจอย่างยิ่ง และได้ผลิตบุคลากรขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยแล้วถึง 2 ท่านด้วยกัน

ได้แก่ ท่านนายกฯแกงเขียวหวานบรั่นดี หรือท่านนายกฯ พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (พ.ศ.2520-2523) และนายกฯปัจจุบันที่เรียกกันว่า “นายกฯตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นี่แหละครับ

ข้อเขียนของผมวันนี้ไม่มีข้อคิดเห็นครับ มีแต่ประวัติศาสตร์ล้วนๆ

ขอบคุณผู้บันทึกประวัติศาสตร์ทั้งหลายที่กรุณาพิมพ์ไว้ในกูเกิลทั้งข่าวและบทความ ที่ระบุว่ามีทั้งหมดประมาณ 86,600 รายการ ซึ่งผมเปิดแค่ 3–4 รายการ ก็สามารถเขียนคอลัมน์วันนี้ได้แล้ว 1 คอลัมน์…ขอบคุณอีกครั้งนะครับ.

“ซูม”