เลขาธิการสภาพัฒน์ ตำแหน่งนี้ยังมีความหมาย (2)

เมื่อวานนี้ผมทิ้งท้ายไว้ว่าตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒน์ ยังเป็นตำแหน่งที่มีความหมายและมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งมีผลงานด้านยุทธศาสตร์ 20 ปี และแนวทางการปฏิรูปประเทศที่กำลังเร่งจัดทำขนานใหญ่ก่อนจะมีการเลือกตั้ง

ถ้าเป็นไปได้แกนนำของรัฐบาลคงอยากจะกลับมาอีก เพื่อสานต่อผลงาน ซึ่งนอกจาก 2 เรื่องที่เป็นกรอบหลักใหญ่ๆ ดังกล่าวแล้วยังมีโครงการอีกมากมายที่ลงหลักปักฐานไว้แล้ว สำหรับการเดินไปสู่นโยบาย 4.0 อันเป็นนโยบายสำคัญอีกประการหนึ่งของรัฐบาลปัจจุบัน

จากรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะบทเฉพาะกาล เป็นการปูทางให้แกนนำรัฐบาลปัจจุบันกลับสู่อำนาจค่อนข้างสูง แปลว่า โอกาสที่จะกลับมาผลักดัน หรือดำเนินการต่อในนโยบายต่างๆ ที่วางไว้จึงสูงตามไปด้วย

ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงจำเป็นที่จะต้องเลือกตัวข้าราชการประจำในตำแหน่งที่จะช่วยผลักดัน และประสานงานตามนโยบายข้างต้นอย่างพิถีพิถัน

โดยเฉพาะเลขาธิการสภาพัฒน์ ซึ่งนอกจากจะทำหน้าที่ในการผลักดันกรอบใหญ่ทั้ง 2 ประการแล้ว ยังมีหน้าที่ในการประสานโครงการทุกโครงการที่รัฐบาลดำเนินการ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอีกด้วย

การเลือกคนเก่งคนดี มีความรอบรู้ มีความสามารถในการบริหารและที่สำคัญจะต้องมีความฉับไวดำเนินการทุกอย่างได้อย่างรวดเร็ว จึงเป็นสเปกที่รัฐบาลปัจจุบันตั้งไว้ ท่านจึงเล็งไปที่อดีตปลัดกระทรวงการคลังก่อนใครทั้งหมด

ดังนั้น เมื่อท่านปลัดปฏิเสธ เราจึงได้ยินและได้อ่านคำสัมภาษณ์ที่แสดงความผิดหวังและไม่พอใจจากปากท่านนายกรัฐมนตรี

แต่ในทัศนะของผม การที่ท่านปลัดกระทรวงการคลังปฏิเสธน่าจะเป็นผลดีแก่ประเทศไทย เมื่อมองถึงการพัฒนาประเทศที่จะดำเนินต่อไปจากปัจจุบันถึงอนาคต

เพราะแม้ท่านปลัดจะเก่งจะดี มีความรอบรู้ มีความสามารถด้านเศรษฐกิจการคลังสูง และมีความสามารถในการบริหารสูง แต่เท่าที่ฟังจากผู้สื่อข่าว ท่านมักพูดจาแบบเป็นตัวของตัวเอง มีความแข็งแกร่งและเชื่อมั่นในตัวเองค่อนข้างสูง

คนที่เคยเป็นข้าราชการที่มีอำนาจที่แท้จริงมาก่อน โดยเฉพาะการผ่านกรมจัดเก็บภาษี ซึ่งมีอำนาจอย่างยิ่งมักจะต้องเฉียบขาด และไม่ชอบประสานงานกับใครๆ

ผมไม่คิดว่าท่านจะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒน์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ และสามารถผลักดันงานต่างๆได้อย่างที่รัฐบาลหวัง

เพราะคุณสมบัติข้อหนึ่งของเลขาธิการสภาพัฒน์ที่รัฐบาลอาจจะลืมไป และผมไม่เคยได้ยินรองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้พูดถึงก็คือ การประสานสิบทิศ นั่นแหละครับ

สภาพัฒน์ไม่ใช่หน่วยปฏิบัติ ไม่มีโครงการพัฒนาอะไรอยู่ในมือตัวเอง แม้แต่การวางแผนพัฒนาประเทศก็มิใช่คิดเองทั้งหมด

อาจจะมีความคิดนำในเรื่องหลักๆบางเรื่อง แต่ก็จะต้องปรึกษาหารือและสอบถามความเห็นจากกระทรวงอื่นๆ รวมไปถึงภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน ล่าสุดยังต้องฟังความเห็นประชาชนด้วย

ขณะเดียวกันก็จะต้องรับฟังข้อคิดและข้อเสนอของคนอื่นๆ เพื่อนำมากลั่นกรอง มาจัดลำดับความสำคัญ เพื่อกำหนดให้เป็นทิศทางการพัฒนาตลอดจนกำหนดให้เป็นโครงการในแผนพัฒนาแต่ละฉบับ

ข้อราชการสภาพัฒน์ตั้งแต่ซี 1 ไปจนถึงซี 11 จึงต้องเป็นคนที่เข้ากับคนอื่นได้ รู้จักฟังความเห็นคนอื่น หรือแม้แต่จะนำความคิดที่สภาพัฒน์มีอยู่ไปให้คนอื่นๆ ยอมรับก็จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบระมัดระวังและนอบน้อมถ่อมตน

แน่นอนบ่อยครั้งที่จะต้องแข็งกร้าวและขัดขืนความคิดคนอื่นๆ บ้างแต่ก็จะต้องแข็งอย่างสุภาพ และหนักแน่นในหลักการ ตลอดจนข้อมูลที่สนับสนุนว่าทำไมเราจึงต้องแข็ง

นี่คือคำว่า “ประสานสิบทิศ” ในความหมายของผม และผมไม่คิดว่าท่านอดีตปลัดกระทรวงการคลังที่ผมก็ติดตามผลงานของท่านด้วยความชื่นชมจะสามารถดำเนินการได้ในสเปกนี้.

(อ่านต่อพรุ่งนี้)

“ซูม”