เดินดำดินลอดเจ้าพระยา ผ่านอุโมงค์ใต้น้ำแห่งแรก

เมื่อวานนี้ผมเขียนถึงการไปเยี่ยมชมสถานีสนามไชย สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินที่สวยที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมาในชีวิต และทิ้งท้ายว่าจะลงไปเดินลุยอุโมงค์ลอดใต้น้ำเจ้าพระยาตามเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพงถึงบางแค ที่กำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนี้

ก่อนจะลงอุโมงค์ผมขออนุญาตหยิบยกคำบรรยายความงามของสถานีสนามไชย ที่ผมคัดลอกมาจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี อีกสักย่อหน้าหนึ่งนะครับ เผื่อจะช่วยให้มองเห็นภาพได้ดียิ่งขึ้น

“การออกแบบสถานีสนามไชย โดย รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นท้องพระโรงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีการประดับด้วยเสาสดุมภ์ ที่ตั้งตระหง่านอยู่ระหว่างทางเดิน ลงลายดอกพิกุล ปลายเสาประดับด้วยบัวจงกลปิดทองคำเปลว”

“พื้นและผนังจำลองมาจากกำแพงเมือง ประดับด้วยเสาเสมาของพระบรมมหาราชวัง เพดานเป็นลายฉลุดาวล้อมเดือน ปิดทองคำเปลว บนพื้นสีแดงน้ำหมาก สีที่ผสมโดยท่านอาจารย์ภิญโญเพื่อการนี้โดยเฉพาะ”

อธิบายได้ครบถ้วนตามที่ผมเห็นมาเลยละครับ

ทีนี้ก็มาลงอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาที่จะเริ่มจากชานชาลา ซึ่งอยู่ต่ำจากท้องพระโรงไปอีกชั้นหนึ่งได้ละครับ

จาก สถานีสนามไชย ฝั่งพระนครไปสู่ สถานีอิสรภาพ ที่อยู่อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา จะมีความยาวทั้งสิ้น 1.254 เมตร หรือ 1 กิโลเมตร กับอีก 254 เมตรโดยประมาณ

จุดลึกสุดของอุโมงค์ตอนกึ่งกลางแม่น้ำเจ้าพระยาพอดิบพอดีจะอยู่ที่ประมาณ 31 เมตร อันเป็นจุดที่แม่น้ำเจ้าพระยาลึกที่สุดประมาณ 20 เมตร

แปลว่าอุโมงค์นี้จะอยู่ในพื้นดินที่ต่ำกว่าใต้ท้องน้ำเจ้าพระยาประมาณ 10 เมตร มิได้ลอยเท้งเต้งอยู่ในระดับน้ำแต่ประการใด

การขุดอุโมงค์ลอดเจ้าพระยาใช้หัวขุดเจาะและวิธีขุดเดียวกับการขุดพื้นที่ใต้ดินของรถไฟฟ้าใต้ดินสายอื่นๆ ได้รับเกียรติจากท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กดปุ่มเดินเครื่องขุดเจาะ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2558

ขุดไปใส่ปลอกอุโมงค์ที่เป็นปูนคุณภาพสูงไปจนแล้วเสร็จเรียบร้อย การวางราง การวางระบบไฟฟ้าต่างๆ ก็แล้วเสร็จเรียบร้อยเช่นกัน

ผมและคณะภายใต้การนำของ คุณปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ผู้รับเหมาก่อสร้างช่วงสถานีสนามไชยถึง สถานีอิสรภาพ ลงเดินไปตามรางรถไฟฟ้าจนถึงแผ่นป้ายที่มีใจความว่า “จุดกลางแม่น้ำเจ้าพระยา…ความลึก 30.86 เมตร ใต้ท้องน้ำความลึก 9.71 เมตร หลังอุโมงค์”

พร้อมกับมีลูกศรระบุว่า อยู่ห่างจากสถานีสนามไชย 323.92 เมตร และห่างจากสถานีท่าพระ 1,791.79 เมตร

เราหยุดถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกันที่นี่ ชูหัวแม่โป้งแบบกดไลค์เพื่อยืนยันว่าเราได้มายืน ณ จุดที่ลึกที่สุดของอุโมงค์เรียบร้อย เพราะต่อไปเมื่อเปิดใช้บริการแล้ว จะไม่มีใครที่ไหนสามารถมาเดินหรือยืน ณ จุดนี้ได้อีก

ประธานบริหาร ช.การช่าง บอกพวกเราว่า โครงการสนามไชยน่าจะแล้วเสร็จและเปิดใช้ส่วนต่อของสายสีน้ำเงินจากหัวลำโพงได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีหน้า (2562) หรือประมาณอีกปีครึ่งนับจากนี้

ช่วงนั้นสถานีสำคัญที่อยู่ในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์และใกล้เคียงกันอีก 3 สถานีก็น่าจะแล้วเสร็จด้วย

ได้แก่ สถานีวัดมังกรกมลาวาส หรือวัดเล่งเน่ยยี่ ซึ่งจะออกแบบเป็นสไตล์จีนที่สวยงามและตัวสถานีบนถนนก็จะมีโครงสร้างเป็นตัวตึกแนวชิโนโปรตุกิส ย้อนยุคกับวิถีชีวิตชาวเยาวราช+เจริญกรุงในยุคโน้น

ถัดไปได้แก่ สถานีสามยอด ซึ่งจะเป็นสถาปัตยกรรมย้อนไปสู่ยุครัชกาลที่ 6 ผสมกับชิโนโปรตุกิสเช่นกัน จากนั้นก็จะมาถึงสนามไชย ที่เราเขียนถึงไปแล้ว และสุดท้าย สถานีอิสรภาพ จะเน้นการใช้หงส์เป็นสัญลักษณ์ เนื่องจากอยู่ใกล้วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จมาสรงน้ำ ณ วัดนี้เมื่อมีพระราชพิธีสำคัญ

ระยะเวลา 1 ปีครึ่ง ความจริงก็ไม่นานเกินไปนักสำหรับการรอคอย

ห่วงอย่างเดียวเท่านั้น การก่อสร้างในประเทศไทยมักไม่ค่อยแล้วเสร็จตามกำหนด มีเหตุที่จะต้องเจอโรคเลื่อนอยู่เสมอ––ผมแก่แล้ว อยากเห็นทั้ง 4 สถานีเต็มๆ ตาสักครั้ง…ฉะนั้นถ้าจะเลื่อนก็อย่าเลื่อนนานนักก็แล้วกัน เดี๋ยวคนแก่อย่างผมจะอยู่ไม่ทันชื่นชม.

“ซูม”