เมื่อวานนี้ผมเขียนถึงกระแสของละคร “บุพเพสันนิวาส” โดยส่งต้นฉบับเข้าโรงพิมพ์ไปก่อนที่จะทราบว่า “ไทยรัฐ” จะพาดหัวยักษ์ถึงกระแสของละครเรื่องนี้ในวันเดียวกัน (และสำหรับกรอบกรุงเทพมหานคร จะออกก่อนคอลัมน์ผม 1 วัน)
ดีใจครับที่ทราบว่าท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม วีระ โรจน์พจนรัตน์ ท่านจะใช้กระแสในช่วงที่คนไทยติดตามละครเรื่องนี้อย่างท่วมท้นในการปลุกความรักชาติ รักแผ่นดินไทย ย้อนรอยไปสู่ประวัติศาสตร์เก่าๆของประเทศไทย
รวมไปถึงการที่จะร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สนับสนุนส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมให้มากขึ้น โดยเฉพาะการเน้นการท่องเที่ยวในเมืองรองที่เป็นเมืองประวัติศาสตร์
ผมเห็นด้วยกับท่านครับ และสนับสนุนท่านเต็มที่ในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่รักวิชาประวัติศาสตร์ แม้ตอนเรียนจะทำคะแนนไม่ค่อยจะดีนัก แต่ก็รักและชอบประวัติศาสตร์ไทยมาโดยตลอด
ยิ่งแก่ตัวก็ยิ่งชอบ เวลา สำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม ในเครือมติชน ส่งหนังสือประวัติศาสตร์ต่างๆมาให้ ผมจะอ่านทุกเล่ม และเล่มละหลายๆครั้ง
ที่ผมจะเขียนวันนี้ก็เกี่ยวกับประวัติศาสตร์เหมือนกัน แต่เป็นประวัติศาสตร์สั้นๆแค่ 60-70 ปี ซึ่งตามคำนิยามอาจจะถือว่าเป็นเพียง “เรื่องเก่า” เท่านั้น ยังไม่ใช่ประวัติศาสตร์
แต่ก็เป็นเรื่องเก่าที่สักวันก็จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ได้เหมือนกัน… เป็นเรื่องของเพลง “บุพเพสันนิวาส” ที่เป็นเพลงนำเรื่องของละครฮิตช่อง 3 เรื่องนี้นั่นแหละครับ ขับร้องโดย “ไอซ์” ศรัณยู วินัยพานิช หรือที่เรียกกันจนติดปากว่า “ไอซ์ ศรัณยู”
ต้องยอมรับว่าเป็นเพลงที่ไพเราะมาก ฟังครั้งแรกก็อินเลย ท่วงทำนองเย็นๆ เนื้อร้องซาบซึ้งใจ ดนตรีมีทั้งสากลและไทยผสมผสานกัน
ยอดวิวหรือยอดเข้าฟังทางยูทูบ ขณะที่ผมเขียนพุ่งไปถึง 8,435,833 ครั้ง (แปดล้าน 4 แสนเศษๆครั้ง) เข้าไปแล้ว
ในขณะที่ชื่นชมกับเพลง “บุพเพสันนิวาส” ของไอซ์ พลันผมก็นึกถึงเพลง “บุพเพสันนิวาส” ดั้งเดิมที่ผมร้องได้ติดปากตั้งแต่เด็กๆ และตอนเป็นหนุ่มก็อดนำมาร้องจีบสาวบ่อยๆเสียมิได้
ที่ขึ้นต้นว่า “เมื่อคิดให้ดีโลกนี้ประหลาด…บุพเพสันนิวาสที่ประสาทความรักภิรมย์…คู่ใครคู่เขา รักยังคอยเฝ้าชม คอยภิรมย์เรื่อยไป” นั่นแหละครับ
แรกๆผมเข้าใจผิดนึกว่าเพลงนี้เป็นของ สุนทราภรณ์ แต่ไม่ใช่ครับ เป็นเพลงที่แต่งโดยครู เวส สุนทรจามร นักดนตรีชั้นนำคนหนึ่งของสุนทราภรณ์ กับคุณ สุรัฐ พุกกะเวส เมื่อ พ.ศ.2495 ให้ ประพนธ์ สุนทรจามร เป็นผู้บันทึกแผ่นเสียงคนแรก
ทว่าคนรุ่นผมมารู้จักและชอบฟังในช่วงที่ ชาญ เย็นแข (คนร้อง “กลิ่นโคลนสาบควาย” และ “ค่านํ้านม”) นำมาร้องและถือเป็นเพลงที่ผมชอบมากที่สุดเพลงหนึ่งนับแต่นั้นมา
หลังๆก็นำมาร้องอีกหลายคน เช่น สุเทพ วงศ์กำแหง, รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส, สุนารี ราชสีมา, ปนัดดา เรืองวุฒิ, ศรัณย่า ส่งเสริมสวัสดิ์
กล่าวได้ว่าตลอดเวลา 65 ปี จาก พ.ศ.2495-2560 (ก่อน 2561 ที่ละครเรื่องนี้จะออกอากาศทางช่อง 3 หรือ 33 เอชดี) เมื่อเอ่ยคำว่า “บุพเพสันนิวาส” คนจะนึกถึงเพลงนี้โดยอัตโนมัติ
แต่พอมาถึงวันนี้ เพลง “บุพเพสันนิวาส” ที่เคยฮิตสำหรับคนรุ่นผม เห็นทีจะต้องหลุดจากเฟรมประวัติศาสตร์เพลงไทยไปเสียแล้วกระมัง?
เพราะบุพเพสันนิวาสของ “ไอซ์ ศรัณยู” ฮิตระเบิดอย่างที่เขียนไว้ตอนต้น ขณะที่บุพเพสันนิวาสของคนรุ่นผมเวอร์ชั่น ชาญ เย็นแข มีคนเปิดฟังในยูทูบ แค่ 2,773 ครั้ง (อ่านว่า สองพันเจ็ดร้อยเจ็ดสิบสามครั้ง) เท่านั้น ส่วนเวอร์ชั่นพี่ สุเทพ วงศ์กำแหง ค่อยยังชั่วหน่อยมีคนเข้าฟัง 754,252 ครั้ง
แม้ผมจะตกอยู่ใต้กระแสของ “บุพเพสันนิวาส” ยุคใหม่ แต่ก็ไม่อยากให้คนไทยลืม “บุพเพสันนิวาส” ยุคเก่าน่ะครับ
เป็นไปได้ไหมเนี่ยที่จะหยิบมาเปิดคู่กันตามสถานีวิทยุต่างๆบ้าง คนจะได้ไม่ลืม “บุพเพสันนิวาส” ของครูเวส+ครูสุรัฐ ที่กล่าวถึงข้างต้น
ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมกรุณาช่วยคนรุ่น ส.ว. อย่างผม ที่ยังรักและชื่นชมเพลงนี้สุดหัวใจด้วยนะครับ.
“ซูม”