ไฟฟ้าพลังนํ้าไซยะบุรี ประโยชน์ร่วม 2 ประเทศ

วันนี้ผมขออนุญาตเล่าต่อโดยอาศัยข้อมูลส่วนใหญ่จากการบรรยายสรุปของคุณ อานุภาพ วงค์ละคร รองกรรมการผู้จัดการบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ที่อยู่กับโครงการมาตั้งแต่เริ่มต้น

“เราเริ่มสร้างมาตั้งแต่ 2555…ชะงักไปบ้างในช่วงแรกๆ เพราะมีข้อห่วงใยจากประเทศท้ายนํ้าอย่างกัมพูชา อย่างเวียดนาม ในเรื่องของตะกอนดินที่ห่วงกันว่าจะไม่ไหลลงไปถึงปลายทาง และกัมพูชาก็ห่วงมากเรื่องปลา” คุณอานุภาพกล่าวตอนหนึ่ง

“เราต้องแก้ไขแบบเพิ่มเติม โดยใช้บริษัทจากยุโรป ที่มีความเชี่ยวชาญมาศึกษา โดยเฉพาะเรื่องปลา ที่เกรงกันว่าจะกระทบมาก เพราะฝายของเราอาจจะกั้นทางน้ำไม่ให้ปลาอพยพตามธรรมชาติ”

“จากนั้นเราก็จ้างผู้เชี่ยวชาญมาวิจัย มาเก็บความรู้ของปลาต่างๆ ในแม่น้ำโขง ว่ามีพฤติกรรมอย่างไร และในที่สุดก็ออกแบบทางน้ำที่จะไม่ทำลายพฤติกรรมของปลา และจะช่วยให้ปลาอพยพขึ้นเหนือน้ำ หรือล่องลงใต้น้ำได้อย่างใกล้เคียงกับธรรมชาติ”

“ในส่วนของตะกอน เราก็ออกแบบให้ตะกอนระบายผ่านประตูระบายน้ำล้น 7 บาน แล้วยังผ่านประตูระบายตะกอน โดยเฉพาะอีก 4 บาน”

“พอแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมได้สำเร็จ และจัดหาที่ทางให้แก่ประชาชนในเขตโครงการที่จะได้รับผลกระทบเสร็จสรรพ พร้อมจ่ายเงินตอบแทนและหาอาชีพใหม่ให้จนทุกฝ่ายพอใจเรียบร้อย เราก็หันมาเร่งเครื่องด้านการก่อสร้างต่างๆจนเป็นรูปเป็นร่างอย่างที่เห็นอยู่ขณะนี้”

“ผมคิดว่าเดือนตุลาคม 2562 หรือจากนี้ไปอีกประมาณ 1 ปี 8 เดือน ทุกอย่างจะแล้วเสร็จ สามารถจำหน่ายไฟฟ้าลอตแรกได้” อดีตนายช่างใหญ่ของ กฟผ. ที่เชี่ยวชาญเรื่องไฟฟ้าพลังน้ำ ที่เออร์ลี่รีไทร์มาอยู่กับโครงการไซยะบุรี กล่าวทิ้งท้ายด้วยความมั่นอกมั่นใจ

ตลอดคำบรรยาย คุณอานุภาพไม่ใช้คำว่า “เขื่อน” เลย แต่ใช้คำว่า “ฝาย” โดยตลอด เพราะโครงการนี้ มีลักษณะเป็นฝายระบายน้ำ (Run-of-River) ไม่ใช่เขื่อนเก็บกักน้ำ จังไม่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ใดๆทั้งสิ้น ทำให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่มากนักถือได้ว่าโครงการพลังไฟฟ้าไซยะบุรี เป็นแหล่งพลังงานสีเขียวอีกแห่งหนึ่ง

ผลจากการลงทุนในด้านดูแลสิ่งแวดล้อม ทำให้งบลงทุนบานปลายไปถึง 135,000 ล้านบาท เฉพาะโครงการเพื่อปลาอพยพและรักษาความเป็นธรรมชาติให้ปลาอย่างเดียว ก็เกือบ 2 หมื่นล้านบาทเข้าไปแล้ว แต่คุณ ธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซีเคพาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสัมปทาน ก็มั่นใจว่าจะมีรายได้คุ้มทุน เพราะได้ตกลงราคากันไว้แล้วล่วงหน้า

“ต้องขอขอบคุณรัฐบาลลาวที่ท่านเข้าใจและสนับสนุนเราด้วยการยืดสัมปทานออกไปอีก 2 ปี จาก 29 ปี เป็น 31 ปี”

“แต่ไม่ว่ากรณีใดเราก็ตั้งใจที่จะทำอยู่แล้ว เพราะเป็นนโยบายของบริษัทเรามาตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะไปดำเนินการในเรื่องใดๆ ก็ตาม เราจะให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับหนึ่งอยู่เสมอ”

“เราต้องการแสดงให้ฝ่ายลาวเห็นว่าเราไม่ได้คิดจะมาเอาเปรียบเขา แต่มาแชร์การพัฒนาร่วมกันต่างคนต่างได้ประโยชน์ในโครงการนี้ รัฐบาลลาวจะมีรายได้ไปพัฒนาประเทศ…ฝ่ายไทยก็จะมีพลังงานไฟฟ้าไปให้คนไทยใช้ เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน”

“เราพิสูจน์ให้รัฐบาลลาวเห็นแล้วที่น้ำงึม 2 และมั่นใจว่าโครงการนี้ก็จะพิสูจน์ได้อีก…” กรรมการผู้จัดการซีเคพาวเวอร์กล่าวย้ำ

สำหรับผมเองโดยส่วนตัวเป็นห่วงเรื่องสิ่งแวดล้อมมากกว่าอะไรทั้งหมด เมื่อทราบว่าได้มีการดูแลอย่างเต็มที่แล้ว ก็เบาใจลงไปเยอะ

แม้จะตระหนักดีว่าต่อให้ดูแลเต็มที่ขนาดไหน แต่ปัญหาก็ยังเกิดขึ้นได้เสมอ…ซึ่งก็เป็นเรื่องของอนาคตที่เราจะต้องติดตามต่อไป

ณ นาทีนี้ คงจะพอสรุปได้ว่า หากไม่มีปัญหาอุปสรรคอะไรที่ใหญ่หลวงเกิดขึ้น โครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี น่าจะให้บริการไฟฟ้ายูนิตแรกจากแขวงไซยะบุรีสู่ภาคอีสานของประเทศไทยได้ในเดือนตุลาคมปีหน้า อีกเพียงปีเศษๆ เท่านั้นเอง.

“ซูม”