เมื่อ 2 วันก่อนผมเขียนถึงฟุตบอลประเพณีจุฬา–ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 72 ที่จะเตะกันในวันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ ที่สนามศุภชลาศัย แล้วก็ลงท้ายด้วยการฝากให้มหาวิทยาลัยทั้ง 2 แห่งนี้ อย่าลืมภารกิจหลักของตนเอง
ในฐานะที่เป็นแหล่งเพาะบ่มความรู้ และผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพออกมารับใช้ประเทศชาติและสังคมไทย ในหลายๆ ศาสตร์ หลายๆ วิชาชีพมากว่า 80 ปี นับแต่มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยทั้ง 2 แห่งนี้
ผมได้อ้างถึงความไม่ค่อยมีคุณภาพของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยไปบ้าง พอให้ทราบถึงปัญหาต่างๆที่มหาวิทยาลัยไทยเผชิญอยู่ โดยเฉพาะปัญหาที่ว่าจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทยประมาณ 170 แห่งนั้น เคยมีข่าวว่ามหาวิทยาลัยถึง 10 กว่าแห่งที่ไม่ได้มาตรฐาน
พอต้นฉบับตีพิมพ์ออกมาแล้ว ผมถึงได้มีโอกาสอ่าน “รายงานพิเศษ” ของ ทีมเฉพาะกิจของไทยรัฐออนไลน์ ที่ลงไปค้นหาต้นตอของปัญหาการไร้คุณภาพของมหาวิทยาลัยไทยที่อ่านแล้วก็ทำให้ผมมีความรู้ความเข้าใจถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นมากยิ่งขึ้น
คงจะจำกันได้ว่า สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ. ท่านออกประกาศที่เรียกกันว่า “เชือดไก่ให้ลิงดู” ลงรายละเอียดโชว์ในเว็บไซต์ของท่าน เปิดเผยต่อสาธารณชนว่า มหาวิทยาลัยไทยเราถึง 40 แห่ง ได้จัดการเรียนการสอนในหลักสูตรที่ไม่ได้มาตรฐานถึง 182 หลักสูตร
มีการระบุเอาไว้เลยว่า หลักสูตรไหนบ้าง? ของมหาวิทยาลัยใดบ้าง? ที่ต่ำกว่ามาตรฐานจากการประเมินผลตามกฎเกณฑ์ต่างๆของ สกอ.
ส่งผลให้มหาวิทยาลัยที่ถูกประกาศชื่อและหลักสูตรต้องออกมาชี้แจง ทั้งตอบโต้ ทั้งแก้ตัวเป็นพัลวัน และบางแห่งก็แย้งด้วยว่า หลายๆหลักสูตรได้มีการปรับปรุงแก้ไขไปแล้ว
ซึ่งทางไทยรัฐออนไลน์ก็ได้ไปสอบถาม คุณสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้รับคำตอบถึงเหตุและผลในการประเมินตลอดจนรายละเอียดต่างๆ ที่น่าสนใจมาฝากผู้อ่านยาวเหยียดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังกันได้ในไทยรัฐออนไลน์นะครับ
สำหรับผมเมื่อทราบถึงข้อเท็จจริงของต้นตอแห่งปัญหาต่างๆ ดังที่ไทยรัฐออนไลน์นำมารายงานแล้ว ก็ยิ่งทำให้ผมมั่นใจในข้อเสนอของผมที่ฝากไปถึงมหาวิทยาลัยหลักๆ ของประเทศไทย ที่ยังมีคุณภาพดีอยู่ ขอให้ยึดมั่นใน “คุณภาพ” ของท่านอย่างเหนียวแน่น
เพื่อช่วยกันอุดช่องโหว่ของมหาวิทยาลัยที่อ่อนปวกเปียก หรือที่จัดหลักสูตรที่ไร้มาตรฐาน เพียงหวังให้มีรายได้มาจุนเจือมหาวิทยาลัย ซึ่งมีอยู่มากพอสมควร จากที่ สกอ.ได้ประกาศออกมาให้ทราบ
ผมเรียนแล้วว่า ผมเชื่อมั่นในหลักการว่า ประเทศใดก็ตามที่จะสามารถเจริญหรือพัฒนาไปได้ตลอดเวลานั้น จะต้องเป็นประเทศที่มีมหาวิทยาลัยที่แข็งแกร่ง และมีคุณภาพสูงเป็นกำลังหลัก ทั้งในการผลิตบุคลากรให้แก่ประเทศชาติ และสร้างงานวิจัยที่จะนำไปใช้ประโยชน์แก่ประเทศชาติ
พร้อมกับยกตัวอย่างความเจริญอย่างไม่มีวันถดถอยของชาติมหาอำนาจทั้งหลาย ล้วนแล้วแต่มีมหาวิทยาลัยที่แข็งแกร่งเป็นกองหนุนอยู่ทั้งสิ้น
แม้ในประเทศนั้นๆ จะมีมหาวิทยาลัยแย่ๆ หรืออ่อนๆ อยู่บ้าง ก็ไม่เป็นไร ขอให้มีมหาวิทยาลัยแข็งๆ ที่แข็งจริงอยู่ในจำนวนที่พอเพียงก็แล้วกัน
วันนี้ผมขออนุญาตนำความคิดนี้มาฝากไว้กับมหาวิทยาลัยแข็งๆ ของบ้านเรานอกเหนือจากจุฬาและธรรมศาสตร์ ซึ่งผมเชื่อว่ายังมีอีกหลายๆ แห่ง เช่น มหิดล เกษตรศาสตร์ เชียงใหม่ ขอนแก่น หอการค้าไทย อัสสัมชัญ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และสถาบันเทคโนโลยีต่างๆ ฯลฯ
หากผมเอ่ยชื่อไม่หมด หรือตกหล่นไปบ้างก็ขออภัยด้วย เพราะจริงๆ แล้ว ก็ยังมีสถาบันอุดมศึกษาอีกมากที่เป็นกำลังหลักของการพัฒนาประเทศไทย และมีส่วนทำให้ประเทศไทยเดินทางมาถึงจุดนี้
ผมอยากจะฝากทุกมหาวิทยาลัย เหมือนที่ฝากจุฬากับธรรมศาสตร์ไปเมื่อวันก่อน ขอให้ท่านทำหน้าที่ในการรักษาคุณภาพ และพัฒนาคุณภาพบัณฑิตของท่านอย่างไม่หยุดยั้ง
ผมยังเชื่อว่า ประเทศไทยของเราจะยังไม่อับจน และจะเดินหน้าต่อไปได้เรื่อยๆ หากมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพของเรายังทำหน้าที่ได้อย่างเข้มแข็ง เข้มงวด และปรับตัวให้ทันสมัยทันโลกอยู่ตลอดเวลา
ส่วนว่าจะมีมหาวิทยาลัยด้อยคุณภาพมาแซมบ้างก็ถือเสียว่าเป็นสีสันก็แล้วกันครับ เพราะแม้แต่มหาอำนาจสหรัฐอเมริกาที่มหาวิทยาลัยของเขาโดดเด่นมาก ยังมีมหาวิทยาลัยห้องแถวไว้หลอกเอาเงินคนอยากได้ปริญญาสูงๆ เลยครับ.
“ซูม”