“ข่าวดี” ที่มี “ข่าวร้าย” ผสม เศรษฐกิจ “ฟื้น” แต่เงิน “เฟ้อ”

ขณะที่ผมนั่งเขียนต้นฉบับวันนี้ในช่วงบ่ายๆของวันพุธที่ 12 มกราคมนั้น…สำนักข่าวต่างประเทศรายงานกระหึ่มมาตั้งแต่เช้าๆ แล้วว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก โดยเฉพาะที่ลอนดอนกับนิวยอร์ก ที่คนทั้งโลกจับตาดูอยู่นั้นขึ้นพรวดๆ อย่างน่าใจหายเลยทีเดียว

ที่นิวยอร์กขึ้นถึงบาร์เรลละ 2 เหรียญ 99 เซนต์ ไปปิดที่ 81 เหรียญ 22 เซนต์ต่อ 1 บาร์เรล และที่ลอนดอนก็ขึ้นไปถึง 2 เหรียญ 85 เซนต์ต่อ 1 บาร์เรล ปิดที่ 83 เหรียญ 72 เซนต์ต่อ 1 บาร์เรล

เป็นราคาที่ได้ยินแล้วต้องร้อง “ตายละวา” ออกมาดังๆ โดยเฉพาะบรรดาประเทศผู้ใช้น้ำมัน แต่ไม่มีน้ำมันเป็นของตัวเอง ต้องซื้อเขาท่าเดียว อย่างไทยแลนด์ของเราเป็นต้น

เพราะจะทำให้ราคาน้ำมันในบ้านเรา ซึ่งขณะนี้ก็บ่นกันอยู่แล้วว่า “แพง”…จะยิ่งแพงขึ้น…และแน่นอน เมื่อน้ำมันแพง ต้นทุนในการผลิตสินค้าไปจนถึงการขนส่งสินค้าก็จะสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ทำให้ราคาสินค้าแต่ละอย่างแต่ละชนิดแพงขึ้นไปอีก

ในขณะที่ทุกวันนี้ทุกอย่างในบ้านเราก็ราคาสูงราคาแพงอยู่แล้วทั้งสิ้น ทั้งหมู ทั้งไก่ ทั้งไข่ รวมทั้งสินค้าอื่นๆ และค่าบริการต่างๆ อีกสารพัด

เจอราคาที่จะต้องปรับขึ้นไปอีกตามราคาน้ำมันใหม่ในตลาดโลก… จะไม่ให้คนไทยต้องเผชิญกับความหนักหนาสาหัสที่รออยู่ได้อย่างไร?

ผมอ่านข่าวชิ้นนี้แล้วปวดใจก็ตรงที่ว่าสาเหตุที่ ราคาน้ำมันดิบพุ่งพรวดอีกครั้งในวันนี้ เพราะนักลงทุนเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะดีขึ้นอย่างแน่นอน

เนื่องจากไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ โอมิครอน จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจเพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น ในที่สุดก็จะกลายเป็นไข้หวัดใหญ่ธรรมดาๆ ไป

รวมทั้งภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นอย่างหนักพอสมควรในสหรัฐฯ นั้น ท่านประธานธนาคารกลางที่กำลังจะได้ต่ออายุอีก 1 สมัย เจอโรม พาวเวลล์ ก็เพิ่งไปแถลงต่อกรรมาธิการการธนาคาร ของวุฒิสภา ว่า จะเป็นเรื่องชั่วคราว เช่นกัน เพราะมาตรการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ เตรียมไว้จะเอาอยู่

ถ้อยแถลงของท่านไม่เพียงจะมีผลไปถึงราคาน้ำมันเท่านั้น ยังทำให้หุ้นสหรัฐฯ ขึ้นพรวดๆ อีกพอสมควร ในวันเดียวกัน หลังจากซบเซา มาก่อน หน้านี้อยู่หลายวัน

จริงๆ แล้วข่าวเรื่องเศรษฐกิจฟื้นตัว และข่าวไวรัสโควิด-19 จะค่อยๆ หมดฤทธิ์ลงไป ควรจะถือเป็นข่าวดีของโลก

เพราะชาวโลกจะได้โล่งอกโล่งใจที่ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมารบกวน สามารถออกเที่ยว ออกใช้เงินกันได้เหมือนเมื่อหลายๆ ปีก่อน

บวกกับเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวด้วย ก็ยิ่งจะทำให้ทุกอย่างหมุนจี๋ไปด้วยกัน เพราะผู้คนจะมีงานทำและมีรายได้เพิ่มขึ้น

แต่ที่ผมไม่ค่อยสบายใจ เกิดความรู้สึกว่า ในข่าวดีคือไวรัสจะค่อยๆ ซาลงและเศรษฐกิจจะฟื้นตัวนั้น กลับมีข่าวร้ายแฝงอยู่ก็ตรงที่ ราคาน้ำมัน เกิดสูงพรวดขึ้นมาด้วยนี่แหละครับ

ที่สหรัฐฯ หรือประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ที่พึ่งพาน้ำมันไม่มากนัก หรือมีนักเศรษฐศาสตร์เก่งๆ มีนักการคลังเก่งๆ และนักการธนาคารเก่งๆ เขาก็คงจะแก้ปัญหาเงินเฟ้อของเขาได้…ขณะเดียวกัน บางประเทศเขาก็มีน้ำมันใช้เอง ผลกระทบจากราคาน้ำมันสูงของเขาจึงอาจไม่มาก

แต่สำหรับของเรานั้น ผมไม่ค่อยแน่ใจว่า เราจะแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้เก่งเหมือนเขา ทำให้ผมเป็นห่วงว่าเงินเฟ้อหรือของแพงที่เกิดขึ้น ขณะนี้จะไม่ใช่เรื่องชั่วคราว แต่เป็นเรื่องถาวรพอสมควร

เมื่อเจอน้ำมันแพงขึ้นมาซ้ำอีกเช่นนี้ เราก็จะยิ่งจะแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่ถาวรแล้วนั้น ยากขึ้นไปอีก

ผมยอมรับว่าปัญหาทั้งเศรษฐกิจ ทั้งการเงิน ทั้งการธุรกิจการค้า ต่างๆ ทุกวันนี้ มีตัวแปรเยอะมากกว่าสมัยก่อน…เยอะจนนักเศรษฐศาสตร์แก่ๆ ตกรุ่นอย่างผมตามไม่ทันในหลายๆเรื่อง

แทบไม่กล้าออกความเห็นในเชิงเสนอแนะได้เลยว่าควรจะทำอย่างไร ในการแก้ปัญหา “สารพัดแพง” ที่เกิดขึ้นในขณะเศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัว…อย่างที่นักเศรษฐศาสตร์ของโลกคาดไว้

ก็ได้แต่หวังว่า นักเศรษฐศาสตร์นักการเงิน นักการคลังรุ่นใหม่ๆ ของเรา จะมีความรู้ ความสามารถที่ทัดเทียมกับนานาประเทศ…สามารถเอาชนะนานาปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ได้สำเร็จ

ข่าวดีของโลกจะได้เป็นข่าวดีที่สมบูรณ์แบบไม่ใช่เป็นข่าวดีผสมข่าวร้ายอย่างที่หลายๆ ฝ่ายกำลังเป็นห่วงอยู่ในขณะนี้

เศรษฐกิจฟื้นตัว แต่ของแพงลิ่ว…มันจะดีได้ไงล่ะครับลุง?

“ซูม”

ข่าว, ราคา, น้ำมัน, เงินเฟ้อ, เศรษฐกิจ, แพง, สินค้า, ไทย, ไวรัส, โอมิครอน, โควิด 19, ซูมซอกแซก