“นํ้ามันแพง” กับการเมือง บทเรียนจาก “พ.ศ.2523”

เมื่อวานนี้ผมเขียนถึงสถานการณ์ของโควิด-19 ในยุโรปที่กลับมาพุ่งกระฉูดขึ้นใหม่ ทำให้บางประเทศในยุโรป อย่างเช่น ออสเตรีย ต้องกลับมา “ล็อกดาวน์” อีกหน

ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส ก็เริ่มเตรียมมาตรการ “ล็อกดาวน์บางส่วน” หรือไม่ก็ล็อกดาวน์ “คนไม่ฉีดวัคซีน” ดังที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้

แม้ว่าข่าวหรือเหตุการณ์ดังกล่าวนี้จะเปรียบเสมือนข่าวร้าย หรือเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกท้อแท้ ไม่สบายอกสบายใจ เพราะแสดงให้เห็นว่าฤทธิ์เดชของโควิด-19 ยังไม่หมดลง

ขนาดยุโรปซึ่งเป็นประเทศที่ร่ำรวยมีเงินซื้อวัคซีนขั้นเทพนานาชนิด ยังเจอการระบาดรอบใหม่อีกจนได้…จะไปหวังอะไรกับประเทศรายได้ปานกลาง หรือยากจนที่ไม่มีเงินพอสำหรับซื้อวัคซีนล่ะ

แต่ในท่ามกลางความวิตกนั่นเอง ผมก็อดที่จะดีใจอยู่เงียบๆ เสียมิได้ เพราะการระบาดหนักรอบนี้ก็พอจะมีผลดีอยู่บ้าง

นั่นก็คือทำให้วิตกกันว่าเศรษฐกิจยุโรปอาจไม่ฟื้นเร็วอย่างที่คาด การลงทุนใหม่ๆ อาจไม่เพิ่มเร็วอย่างที่หวัง และการผลิตต่างๆ ชะลอลง

เมื่อเป็นเช่นนี้ ความต้องการ “พลังงาน” ที่จะนำไปใช้ในการผลิตและการขนส่งสินค้าบริการก็อาจจะลดลง

ส่งผลให้ราคานํ้ามันดิบทั้งในตลาดนิวยอร์กและลอนดอน ซึ่งเป็นตลาดหลักของโลกร่วงกราวลงเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว โดยที่ตลาดนํ้ามันนิวยอร์กลดลงไปถึง 2 เหรียญ 90 เซนต์ต่อ 1 บาร์เรล เหลือ 76 เหรียญ 11 เซนต์ต่อ 1 บาร์เรล…และที่ลอนดอนก็ลดไป 2 เหรียญ 35 เซนต์ ปิดที่ 78 เหรียญ 89 เซนต์ต่อ 1 บาร์เรล

ผมใช้คำว่า “มีผลดีอยู่บ้าง” ก็เพราะเป็นห่วงมาตลอดว่า ทันทีที่เศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัว ราคานํ้ามันดิบในตลาดโลกก็พุ่งขึ้นในทันที… แผล็บเดียวจาก 60 เหรียญกว่าๆ ต่อบาร์เรล กลายเป็น 80 เหรียญซะแล้ว

แถมยังมีการคาดการณ์ว่าจะไปถึง 100 เหรียญในต้นปีหน้า

ซึ่งก็จะนำความเดือดร้อนมาสู่ประเทศต่างๆ ที่กำลังจะฟื้นตัวอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง เพราะจะต้องเจอปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่สูงขึ้น…ทำให้ฟื้นตัวไม่ได้เต็มที่ หรือเผลอๆ อาจจะทรุดลงไปอีกเสียด้วยซํ้า

ดังนั้น เมื่อราคานํ้ามันดิบลดลงจนมาอยู่ที่ราคา 76 เหรียญเศษ และ 79 เหรียญเศษ ผมจึงรู้สึกดีใจเล็กๆ น้อยๆ ด้วยเหตุฉะนี้

ผมไม่ทราบว่ามาถึงวันนี้ซึ่งเป็นวันอังคาร และเมื่อวานซึ่งเป็นวันจันทร์ อันเป็นวันเริ่มซื้อขายนํ้ามันดิบในตลาดต่างๆ อีกครั้ง ราคาจะออกมาอย่างไร?

ผมยังหวังว่าราคาน้ำมันลดลงมาอีกด้วยเหตุผลอื่นที่มิใช่โควิดนะครับ…เช่น ด้วยเหตุผลของระบบตลาดและอุปสงค์อุปทานที่จะทำให้ราคาน้ำมันอยู่ในเกณฑ์เหมาะสมต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ผมไม่ทราบว่าราคาเหมาะสมคือเท่าไรแน่…แต่ทราบแล้วว่า ถ้าเกิน 70 เหรียญเยอะๆ ไปจนถึง 80 เหรียญ หรือ 100 เหรียญอย่างที่คาดการณ์กันไว้ไม่เหมาะสมแน่นอน เพราะจะเดือดร้อนกันไปหมดทั่วโลก

แต่ก็ต้องยอมรับกันว่า ปัญหาราคาน้ำมันเป็นปัญหายิ่งใหญ่ซับซ้อนไม่มีทางที่คาดเดาได้ว่าจะไปลงเอยในลักษณะใด

จึงได้แต่ภาวนาขอให้ลงเอยสวยๆ ราคาน้ำมันลงมาอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลกได้อย่างที่ว่า

คนที่จะต้องภาวนามากที่สุดก็เห็นจะเป็น “บิ๊กตู่” นี่แหละเพราะปัญหาน้ำมันแพงเป็นปัญหาที่มีผลกระทบทางการเมืองสูงสุดอยู่เสมอ

ดังเช่นเหตุการณ์น้ำมันแพงในช่วง พ.ศ.2522-2523 ที่ราคาสมัยนั้นยังต่ำกว่าสมัยนี้เยอะ…แต่เมื่อท่านนายกฯ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ผลักภาระไปให้ประชาชนทั้งหมด ซึ่งถูกต้องตามหลักเศรษฐศาสตร์

ทว่ากลับส่งผลให้ท่านต้องมาประกาศลาออกกลางสภา เมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2523 เพราะความเดือดร้อนจากราคาสินค้าที่แพงสาหัสจนประชาชนไม่สามารถยอมรับได้

กลายเป็นตำนานเล่าขานว่าด้วยเรื่อง “การเมือง” กับ “ราคาน้ำมัน” สืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้

ผมถึงได้บอกว่า ผู้ที่สมควรจะภาวนาให้ราคาน้ำมันดิบลดลงมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ในนาทีนี้ก็เห็นจะเป็น “บิ๊กตู่” นั่นแหละ (โดยผมจะแอบเอาใจช่วยอยู่ห่างๆ นะครับ เพราะผมเองก็ไม่อยากเดือดร้อน เพราะข้าวของราคาแพงหูฉี่ด้วยเหมือนกัน)

“ซูม”

ข่าว, การเมือง, ราคา, น้ำมัน, ตลาดโลก, โควิด 19, เศรษฐกิจ, ซูมซอกแซก, นํ้ามันแพง