ตำนาน “เทศกาลกินเจ” ก่อนจะเป็น “วาระแห่งชาติ”

เมื่อวานนี้ในคอลัมน์ “เหะหะพาที” ฉบับวันเสาร์ หัวหน้าทีมซอกแซกได้เขียน “โหมโรง” ให้แก่เทศกาล “กินเจ 2564” ไว้แล้วเกือบครึ่งคอลัมน์ โดยหยิบยกการจัดงานของห้างในเครือ “เซ็นทรัลพัฒนา” 33 แห่งทั่วประเทศมาเป็นหนังตัวอย่าง

เพื่อชี้ให้เห็นว่า แม้ปีนี้เทศกาลกินเจจะดูหงอยเหงาลงไปอีกเป็นปีที่ 2 หลังจากค่อนข้างเหงาเมื่อปีกลายเพราะพิษโรคระบาดโควิด-19 เป็นเหตุ…แต่อย่างน้อย ก็ยังมีผู้กล้าหาญลุกขึ้นมาจัดงาน โดยการแสดงความมั่นใจว่าจะดูแลเรื่องความ “ปลอดภัย” ภายใต้มาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

ก็ต้องขอแสดงความชื่นชมที่ กลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา ตัดสินใจจัดงาน Thailand J Food Festival ขึ้นมาดังกล่าว…เพราะแม้จะเสี่ยงต่อการขาดทุน แต่อย่างน้อยก็เป็นการช่วย “เลี้ยง” กระแสของเทศกาลกินเจเอาไว้ไม่ให้สูญหายไปจากความนิยมของคนไทย

ทำให้ยังมีข่าวคราว ยังมีการพูดถึง ยังมีการคุยกันว่าจะมีการนำ “อาหารเจ” กว่า 5,000 เมนู ทั้งระดับอินเตอร์ และระดับไทยเราเองมาจำหน่ายในศูนย์การค้าเซ็นทรัลต่างๆ ทั่วไทยดังกล่าว

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อชมแล้วก็ขอฝากไว้ด้วย…เนื่องจากโควิด-19 แม้จะซาลงบ้าง แต่ก็ยังน่ากลัว เพราะกลับมาติดเกินวันละ 10,000 คน อีกแล้ว หลังจากลดไปหลัก 9,000 คน ให้ชื่นใจ เพียงแค่วันเดียวเท่านั้น ยังไงๆ ก็ต้องดูแลความปลอดภัยแบบเข้มข้นนะครับ เซ็นทรัลพัฒนา

เมื่อฝากฝังเสร็จสรรพ ก็ขอกลับมาที่หัวข้อเรื่อง “ตำนานเทศกาลกินเจ…ก่อนจะเป็นวาระแห่งชาติ” ที่นำมาพาดหัวไว้ข้างบนคอลัมน์วันนี้

ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็นสองส่วนคือ ส่วนของตำนานกินเจในประเทศไทย และส่วนของความฮิตติดเทรนด์ ที่จู่ๆ ประเพณีกินผักที่ปฏิบัติกันอยู่ในช่วงปลายเดือน 10 ถึงต้นเดือน 11 ของปฏิทินจันทรคติ (ซึ่งมักจะตรงกับต้นๆ หรือกลางๆ เดือนตุลาคมตามปฏิทินสากล) ตามท้องถิ่นหลายแห่งทั่วประเทศก็กลายมาเป็นเทศกาลระดับชาติ หรือที่คอลัมน์นี้ขอเรียกอย่างล้อเลียนว่า กลายเป็น “วาระแห่งชาติ” อย่างเหนือคาดหมาย

เมื่อผู้คนเกือบทั่วประเทศไทย ทุกๆ เชื้อชาติต่างหันมา “ถือศีลกินเจ” กันอย่างหนาแน่น

และกินหรือปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด จนครบ 9 วัน หรือ 10 วัน อย่างน่าอัศจรรย์

ถือเป็น “วาระแห่งชาติ” ที่ก่อประโยชน์แก่ชาติขึ้นถึง 2 ประการด้วยกัน…ประการแรกได้แก่ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทำให้มีการบริโภค “อาหารเจ” อันหมายถึงอาหารที่ไม่ใช่เนื้อสัตว์กันอย่างแพร่หลาย…ทำให้ผัก, แป้ง หรือเครื่องปรุงอาหารต่างๆ ที่สอดคล้องกับกติกาว่าเป็น “อาหารเจ” จำหน่ายขายดี เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจถึงปีละเฉียด 50,000 ล้านบาท จากการประมาณการของนัก วิชาการบางสำนัก

ส่วนทาง “สังคม” นั้นก็ถือว่าเกิดประโยชน์อย่างมาก เพราะทำให้คนไทยหันมาบำเพ็ญบุญ บำเพ็ญกุศล ทำใจให้บริสุทธิ์ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตแม้จะเพียงชั่วระยะหนึ่งแต่ก็มีคุณค่าทางจิตใจอย่างมหาศาล

ในยุคที่ประเทศไทยของเรามุ่งเน้นการพัฒนาโดยยึดรายได้ต่อหัวเป็นหลัก ทำให้ผู้คนต้องดิ้นรน ต้องแข่งขัน เพื่อแสวงหารายได้ จนบางครั้งก็ลืมวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของประเทศไทยไปบ้าง เพราะมุ่งหน้าจะเอาชนะคะคานเพื่อหารายได้สูงๆ อย่างเดียว

การที่จู่ๆ ก็มี “วาระแห่งชาติ” ที่เป็นเรื่อง “บุญกุศล” ดังเช่น “เทศกาลกินเจ” แทรกเข้ามาสู่ชีวิตจิตใจของคนไทย จึงถือเป็นโชคดีของประเทศอย่างมหาศาล

สำหรับเรื่องราวในส่วนที่เป็น “ตำนาน” นั้น ก็คงพอจะทราบกันแล้วว่าประเพณี ถือศีลกินผัก นั้น ริเริ่มขึ้นที่ประเทศจีนในอดีตไม่ต่ำกว่า 400 ปี โดยเป็นประเพณีเฉพาะกลุ่มหรือเฉพาะที่เท่านั้น ไม่ใช่เป็นของชาวจีนทั้งประเทศ

เพราะในปัจจุบันนี้ในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ เอง หรือในประเทศ หรือเขตปกครองที่ชาวจีนอาศัยอยู่มาก เช่น ฮ่องกง ก็มิได้มี “เทศกาลกินเจ” แต่อย่างใด

จึงสันนิษฐานกันว่าประเพณีเฉพาะถิ่นดังกล่าวนี้คงจะติดตัวชาวจีนอพยพจากถิ่นนั้นๆ ในยุคแรกๆ แล้วนำไปปฏิบัติในถิ่นฐานใหม่ และยังคงมีประเพณีนี้อยู่จนถึงปัจจุบันในขณะที่ถิ่นเดิมคือที่เมืองจีนเองนั้นคงจะลืมกันไปหมดแล้ว

ของไทยเราเป็นที่ทราบดีแล้วว่าประเพณีถือศีลกินเจ เริ่มขึ้นจากพี่น้องชาวจีนในภาคใต้ไม่เฉพาะที่ภูเก็ตเท่านั้น อีกหลายจังหวัด เช่น ตรัง พังงา กระบี่ ก็ล้วนมีประเพณีกินเจที่คล้ายคลึงกัน

แต่ที่ดังที่สุดและเป็นที่รู้จักของคนไทยมากที่สุด ก็คือภูเก็ตนั่นเองโดยเฉพาะที่หมู่บ้านกะทู้ ตำบลกะทู้ ซึ่งอุดมไปด้วยเหมืองแร่ และมีชาวจีนจาก ฮกเกี้ยน และ แต้จิ๋ว จำนวนมากอพยพมาทำงานขุดแร่ตั้งแต่ช่วงปลายๆ ของยุคกรุงศรี อยุธยาและมาเริ่มประเพณีกินเจขึ้นที่นี่

จาก “กินเจ” ท้องถิ่นขึ้นมาฮิตในระดับชาติได้อย่างไร? ยังไม่มีผู้ค้นหาคำตอบได้อย่างชัดเจน แต่พอจะจำได้ว่า กระแส “กินเจ” น่าจะเกิดขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และค่อยๆ แรงขึ้นเรื่อยๆ ก่อนที่โควิด-19 จะบุกโลกและบุกไทยครั้งแรกเมื่อปีกลายอันเป็นผลให้ความแรงของเทศกาลกินเจพลอยแผ่วลงไปด้วย

รวมทั้งปีนี้ในภาพรวมก็มีรายงานว่า “เหงา” เพราะแม้แต่ “ภูเก็ต” และจังหวัดในภาคใต้หลายจังหวัดก็ออกข่าวมาว่า…มีงานน่ะมีแน่แต่จะจัดอย่างระมัดระวังและจำกัดจำเขี่ยอย่างมาก เพราะโควิด-19 ในภาคใต้ก็ยังมิได้ซาลงแต่อย่างใด

ก็ไม่เป็นไรครับ…ปีกลายปีนี้มีปัญหาเราก็จัดเล็กๆ แก้ขัดไปก่อน หรือจัดแบบ “เลี้ยง” กระแส ไปก่อนอย่างที่ว่า รอปีหน้าปีโน้นสถานการณ์ เริ่มคลี่คลายเราค่อยจัดใหญ่กันอีกที

เรื่องดีๆ มีประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมแบบนี้ที่นี่เห็นด้วย 1,000% อยู่แล้วครับ และที่หยิบมาเขียนในวันนี้อีกครั้งหนึ่ง ก็เพื่อการมีส่วนร่วมในการเลี้ยงกระแสเทศกาลกินเจให้ยืนยงต่อไปนั่นเอง

อย่าลืม “กินเจ” แบบนิวนอร์มอลกันด้วยนะครับ 6–14 ตุลาคมที่จะถึงนี้.

“ซูม”

ข่าว, เทศกาล, กินเจ, นิวนอร์มอล, ประเพณี, วัฒนธรรม, อาหารเจ, ซูมซอกแซก