“เจ้าสัวน้อย” กับ “การพัฒนา” “ฐาปน” คือชื่อแรกที่ “นึกถึง”

เมื่อวานนี้ผมสรุปคำขอร้องของผมต่อภาคเอกชนระดับมหาเศรษฐีทั้งหลาย ขอให้ท่านใช้ศักยภาพของท่านเข้ามาช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยต่อไปในอนาคตข้างหน้า อย่าหยุดอยู่ที่ความช่วยเหลือเฉพาะหน้าคือการแก้ปัญหาหรือช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 เพียงเท่านั้น

เพราะการที่จะนำประเทศก้าวพ้นจาก “กับดัก” ของการเป็นประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูงเข้าสู่ระดับประเทศรายได้สูงขั้นต้นนั้นจะต้องปรับเปลี่ยน “แนวคิด” และ “แนวทาง” ในการพัฒนาไปจากที่เราเคยใช้กันมาร่วมๆ 60 ปี แทบจะโดยสิ้นเชิง

โดยเฉพาะ “แกนนำ” ในการพัฒนาจะต้องเป็น “ภาคเอกชน” มากกว่าภาครัฐ เหตุเพราะในการลงสนามแข่งขันในระดับโลกเพื่อช่วงชิง “รายได้โลก” มาสู่ประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยของเรามีรายได้

ส่วนรวมสูงขึ้นไปเรื่อยๆ นั้น…เป็นหน้าที่ของภาคเอกชนโดยตรง ด้วยข้อเท็จจริงที่จะต้องเกิดขึ้นในลักษณะเช่นนี้ก็แปลว่า ภาคเอกชนที่รวยอยู่แล้ว หรือเก่งอยู่แล้ว จะยิ่งรวยหรือเก่งขึ้นไปอีก

ช่องว่างของรายได้ระหว่าง “คนรวย” กับ “คนจน” ที่กว้างพอสมควรอยู่แล้วก็จะยิ่งถ่างกว้างมากขึ้น ดังนั้น สิ่งที่จะต้องคิดล่วงหน้าก็คือ ทำอย่างไรจะให้คนรวยที่จะรวยขึ้นไปอีกนั้นนึกถึง

“คนจน” ที่จะถูกทิ้งอยู่ข้างหลัง…เพื่อให้ “คนรวย” ทั้งหลายถือเป็น “หน้าที่” ของพวกเขาด้วย ในการไม่ลืม “คนจน”…และหาโอกาสกลับมาช่วยเหลือคนจนให้ลืมตาอ้าปากได้ไปพร้อมๆ กัน

ด้วยแนวความคิดเช่นนี้ทำให้ผมต้องขอขอบคุณข้อเสนอของรัฐมนตรีเศรษฐกิจท่านไหนก็ไม่ทราบได้ในรัฐบาลบิ๊กตู่นี่แหละ ที่ได้ริเริ่มโครงการประเภท “ประชารัฐ” ขึ้นตั้งแต่ยุคแรกๆ ที่ท่านเข้ามาบริหารประเทศ มีการดึงภาคเอกชนที่มีศักยภาพเข้าไปช่วยพัฒนาฐานราก

ในหลายๆ หัวข้อร่วมกับภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชนในแต่ละชุมชน โดยการตั้งคณะทำงานขึ้นหลายๆ ชุด รวมทั้งชุดที่เรียกว่า “คณะทำงานพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ” ที่มี “บิ๊กป๊อก” พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีมหาดไทย เป็นหัวหน้าทีมภาครัฐ และ คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริษัทไทยเบฟเวอเรจ เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน

กลายเป็นคณะทำงานที่มีผลงานมากกว่าทุกคณะ เพราะมีโครงการในระดับชุมชนเกิดขึ้นเกือบๆ 500 โครงการ กระจายอยู่ทั่วประเทศ มีทั้งในด้านเกษตร การแปรรูป และการท่องเที่ยว สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นแก่ประชาชนในชุมชนต่างๆกว่า 30,000 ครัวเรือน

จริงอยู่…แม้จำนวนครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์ เมื่อเทียบกับชุมชนชนบทอันกว้างใหญ่ไพศาลแล้ว…จะมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

แต่สิ่งที่ผมดีใจในฐานะอดีตนักพัฒนาชนบทคนหนึ่งก็คือ ผมพบว่า…ทายาทเศรษฐี หรือ “เจ้าสัวน้อย” เช่น คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี นั้น ได้กลายเป็นเศรษฐีรุ่นใหม่ที่เข้าใจปัญหาของชาวชนบท…ที่ผมคิดว่า “ลึกซึ้ง” พอสมควรทีเดียว

ผมเคยฟัง “ทายาทเศรษฐี” ท่านนี้พูดถึงการพัฒนาชุมชน ในงานสัมมนา “100 ปี อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์” ที่จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้วก็บอกตัวเองว่า “คุ้มมาก”

สำหรับผลงานของคณะทำงานพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐคณะนี้ อย่างน้อยก็ทำให้ทายาท เศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย เข้าใจถึงปัญหาของชุมชนในชนบทไทยอย่างถ่องแท้ รวมไปถึงวิธีแก้ไขที่ถูกต้องควบคู่ไปด้วย

ดังนั้น เมื่อตั้งประเด็นขึ้นว่า ในอนาคตผมจะฝากความหวังในการช่วยแก้ปัญหาช่องว่างในสังคมไทย…และเศรษฐีคนไหนที่จะไม่ลืม พี่น้องผู้ยากจนในชนบท ผมจึงนึกถึงคุณ ฐาปน เป็นรายแรก

อีกทั้งยังหวังด้วยว่า เศรษฐีรุ่นใหม่ หรือ “เจ้าสัวน้อย” คนอื่นๆ จะมีแนวคิดและวิธีปฏิบัติเช่นเดียวกับคุณฐาปน…เพื่อการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืนในอนาคต

ประเทศไทยจะต้องก้าวไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงขั้นต่ำจนได้ในที่สุด…พร้อมๆ กับช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนที่ควรจะลดลง…

ซึ่งผมเชื่อว่าจะลดลงได้แน่นอน หากมหาเศรษฐีทั้งหลายที่ร่ำรวยมหาศาลนั้นๆ รู้จักแบ่งปันให้แก่สังคม.

“ซูม”

ข่าว, มหาเศรษฐี, พัฒนาเศรษฐกิจ, สังคม, ประเทศไทย, คนรวย, คนจน,  เศรษฐีรุ่นใหม่, เจ้าสัวน้อย, ฐาปน สิริวัฒนภักดี, ซูมซอกแซก