“ไทยเที่ยวไทย” แค่ยืดอายุ ลงท้ายต้องรอ “เปิดประเทศ”

เมื่อวานนี้ผมเล่าถึงบรรยากาศของ “พัทยา” เมื่อวันศุกร์ วันเสาร์ ที่ผ่านมา ว่าคึกคักมาก โดยเฉพาะในวันเสาร์ที่ 14 พ.ย.นั้น ร้านอาหารดังๆ ของพัทยามีผู้คนเข้าคิวยาวเหยียดทุกร้าน รวมทั้งโรงแรม รอยัล คลิฟ ที่ผมไปพักตามโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ของรัฐบาล ก็มีผู้มาใช้บริการเช่นเดียวกับผม เข้าพักจนเกือบเต็ม ทำให้ห้องอาหารเช้าและสระว่ายน้ำแน่นเอี้ยดและครึกครื้นไปด้วยเสียงเจี๊ยวจ๊าวของเด็กๆ ที่ตามพ่อแม่ผู้ปกครองไปด้วย

ทำให้ผมรู้สึกดีใจและมีความหวังในระดับหนึ่ง ที่โครงการของรัฐบาลมีส่วนช่วยในการต่อลมหายใจให้แก่นักลงทุนและผู้ที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยว ที่ประสบปัญหาอย่างหนักจากโควิด-19 ในขณะนี้

แต่ผมก็ทิ้งท้ายไว้เช่นกันว่า โครงการนี้จะช่วยได้มากน้อย แค่ไหน? พัทยาจะไปรอดหรือไม่อย่างไร? ผมยังอยู่พัทยาต่ออีกวัน 2 วัน จะหาข้อมูลมาฝากท่านผู้อ่านเพิ่มเติม

ซึ่งต่อมาในวันรุ่งขึ้นคือวันอาทิตย์ที่ 15 พ.ย. กับวันจันทร์ที่ 16 พ.ย. ผมก็ออกตระเวนต่อทั้งภาคกลางวันและภาคกลางคืนในหลายๆ จุด รวมทั้งได้พูดคุยกับผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยว ตลอดจนพนักงานขายของ ขายอาหาร รวมทั้งพนักงานในโรงแรมที่ผมพักอาศัยอยู่

สรุปความเห็นได้ตรงกับทุกฝ่ายว่า พัทยายังอยู่ห่างไกลจากคำว่า “ฟื้นตัว” อีกพอสมควรทีเดียว

เพราะความคึกคักครึกครื้นที่ผมเห็นในวันแรก และเขียนรายงานมายังท่านผู้อ่านในฉบับเมื่อวานนี้นั้น จะเกิดขึ้นเฉพาะใน วันศุกร์ กับ วันเสาร์ และไม่เกินบ่ายๆ วันอาทิตย์ เท่านั้นเอง

พอถึงคืนวันอาทิตย์ไปจนถึงวันจันทร์ วันอังคาร วันพุธ วันพฤหัสบดีอีก 4 วันเต็มๆ พัทยาจะเงียบเหงาอย่างมาก

ทุกคนที่ผมคุยด้วยขอบคุณโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ของรัฐบาล ที่มีส่วนช่วยต่อลมหายใจให้แก่พัทยาได้ในระดับหนึ่งอย่างน้อยก็ทำให้วันสุดสัปดาห์คึกคักขึ้นมาพอสมควรดังกล่าว

แต่ถ้าถามว่าพอเพียงต่อการชุบชีวิตพัทยาหรือไม่ คำตอบก็คือ “ไม่พอ” เพราะการเติบโตของพัทยาในอดีตนั้นไปไกลจนเกินความสามารถของคนไทยที่จะไปเที่ยวกันเองแล้ว จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นได้

เหมือนกับเมืองท่องเที่ยวทุกเมืองทั่วประเทศไม่ว่าภูเก็ต เชียงใหม่ เชียงราย สมุย ที่การขยายตัวของการลงทุนอันมโหฬารในอดีต ก็เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่แห่เข้ามาเที่ยวบ้านเราปีละ 30 ล้าน-40 ล้านคนเสียมากกว่า ซึ่งวันและเวลาตลอดจนโอกาสเช่นนั้นน่าจะยากแล้วที่จะกลับคืนมา

แม้โลกจะคิดค้นวัคซีนได้ จนผู้คนไม่กลัวโควิด-19 และออกท่องเที่ยวเหมือนเดิม แต่ก็คงยากที่จะฟื้นกลับมาด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากมายมหาศาลเหมือนเดิม

เพราะเท่าที่ติดตามข่าวคราวรัฐบาลเอง กระทรวงการกีฬาและท่องเที่ยวเอง ต่างก็ใช้ความพยายามเต็มที่ที่จะเปิดประเทศเพื่อช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยว แต่ก็ดำเนินการอย่างระมัดระวังและค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้โควิด-19 กลับมาระบาดในบ้านเราอีกครั้ง

ด้วยความระมัดระวังเช่นนี้ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกก็มิได้คลี่คลายเร็วนัก นักธุรกิจนักลงทุนด้านท่องเที่ยวคงต้องรอคอยไปอีกยาวนาน จะอึดจะกัดฟันสู้ได้อีกนานแค่ไหน คงต้องติดตามกันต่อไป

เพราะโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลนำมาช่วยเหลือโดยเฉพาะโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ในครั้งนี้อย่างเก่งก็แค่ช่วยต่อลมหายใจเสมือนการให้ออกซิเจนสำหรับคนไข้ในห้องไอซียูเท่านั้น มิใช่ตัวยาวิเศษที่จะรักษาโรคขาดนักท่องเที่ยวที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ได้

ผมก็ขอให้กำลังใจนักธุรกิจและผู้ประกอบอาชีพทุกระดับในเมืองท่องเที่ยวต่างๆ ในการที่จะกัดฟันต่อสู้ต่อไปบนเส้นทางอันยาวไกลกว่าจะถึงจุดฟื้นอย่างที่ว่า…ขอให้อดทนและอึดกันเอาไว้นะครับ

ผมเองก็จะช่วยเขียนเชิญชวนให้พี่น้องชาวไทยเราออกเดินทางท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวทั้งหลายต่อไป แม้ในวันที่รัฐบาลท่านจะหมดออกซิเจนแล้วก็ตาม

ครับ! ช่วยกันเท่าที่จะช่วยได้จนกว่านักท่องเที่ยวตัวจริงเสียงจริง และมีเงินใช้จ่ายจริงๆ จากต่างประเทศจะกลับมาเหมือนเดิม หรือแม้จะไม่มากเท่าเดิมแต่ขอให้อยู่กันได้ก็แล้วกัน.

“ซูม”

พัทยา, ท่องเที่ยวไทย, นักท่องเที่ยว, ธุรกิจท่องเที่ยว, ซูมซอกแซก