เยียวยาเฉพาะหน้าไปก่อน แผน “ฟื้นฟู” ยังมีเวลาคิด

ท่านที่ติดตามอ่านคอลัมน์นี้มาโดยตลอด คงจะทราบแล้วว่าผมจะเขียนแสดงความคิดเห็นคัดค้านทุกครั้ง ที่รัฐบาลบิ๊กตู่ประกาศแจกเงินแก่ประชาชน โดยหวังว่าประชาชนจะนำเงินก้อนดังกล่าวไปใช้จ่ายเพื่อเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลคลอดมาตรการบรรเทาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 มาหนหนึ่งแล้ว ซึ่งในช่วงนั้นผลกระทบยังไม่ชัดเจนนัก แม้ภาพเศรษฐกิจโดยรวมจะเริ่มชะลอลงแล้วก็ตาม

จู่ๆ รัฐบาลก็จะแจกเงินอีก เตรียมส่งเงิน 2,000 บาท ไปให้ประชาชนที่ลงทะเบียนคนจนไว้กว่า 14 ล้านคนดื้อๆ…ผมก็เลยต้องยกมือค้านหัวชนฝาอีกตามเคย

ปรากฏว่าเสียงค้านงวดนี้ไม่ใช่ผมคนเดียว กลายเป็นค้านกระหึ่มไปทั้งโซเชียล บิ๊กตู่ก็เลยยอมแพ้…งดโครงการนี้ไปในที่สุด

แต่สำหรับการแจกที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเป็นการเยียวยาให้แก่แรงงาน ลูกจ้าง และผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการสกัดการระบาดของไวรัส เช่น การปิดห้าง ร้านอาหาร หรือกิจการบันเทิงหลายอย่าง ถือเป็นการแจกที่สมเหตุสมผลครับ

นอกจากไม่คัดค้านแล้ว ผมยังเห็นด้วยเต็มที่ เพียงแต่ในทางปฏิบัติขอให้คัดกรองดีๆ เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบที่แท้จริงได้รับความช่วยเหลือเดือนละ 5,000 บาท รวม 3 เดือนอย่างทั่วถึง

มิใช่ว่าคนเดือดร้อนกลับไม่ได้รับ หรือไม่รู้จะรับได้อย่างไร เพราะระบบแจกไฮเทคเกินไป…ในขณะที่พวกไม่ได้รับผลกระทบเลยแต่เก่งทางด้านเทคโนโลยีสามารถเข้าไปรับเงินได้อย่างเหนาะๆ

จะทำให้การช่วยเหลือไม่ตรงจุดและผิดวัตถุประสงค์ไปเสียเท่านั้น

ผมอ่านข่าวเห็นว่า “www.เราไม่ทิ้งกัน.com” ล่ม มีคนเข้าไปลงทะเบียนพร้อมๆ กัน 20 ล้านคน ก็เดาว่าคงจะมีพวกเก่งเทคโนโลยี ที่ไม่เดือดร้อนจริง แฝงไปด้วยจำนวนมาก

ก็ขอฝากความเห็นกว้างๆ ไว้เพียงเท่านี้ และไม่ติดใจมากนัก รวมทั้งยินดีสนับสนุนล่วงหน้าหากจะมีการแจกในลักษณะนี้อีกสักงวด ถ้ารัฐบาลยังพอมีเงินที่จะเยียวยาได้โดยไม่กระเทือนต่อสถานะทางการคลัง

สำหรับมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่แท้จริงหลังการระบาดสิ้นสุดลงแล้วนั้น จะต้องมีแน่ๆ และจะต้องใช้เงินก้อนมหาศาลแน่ๆ แต่อย่าเพิ่ง ไปตัดสินใจอะไรมากนักในตอนนี้ เพราะสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่นิ่ง

รวมทั้งมาตรการที่ออกไปแล้วเมื่อต้นมีนาคมก็อาจจะต้องนำมายำใหญ่อีกครั้งกับมาตรการที่จะออกใหม่หลังเหตุการณ์สงบลง

ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องติดตามอย่างใกล้ชิด บันทึกความเสียหายเอาไว้ให้ครบถ้วนทุกด้าน อย่าให้ขาดตกบกพร่อง พอสถานการณ์สงบปุ๊บเราจะได้มีข้อมูลพร้อมที่จะตัดสินใจ และค่อยว่ากันอย่างจริงจังในตอนนั้น

แน่นอนในช่วงบันทึกข้อมูลความเสียหายนี้ ขอฝากให้ดูความเสียหายระดับโลกด้วย เพราะขณะนี้ปั่นป่วนไปหมดทั้งโลก และประเทศที่ป่วนหนักก็ล้วนแต่เป็นประเทศที่มีฐานะเศรษฐกิจดีทั้งสิ้น

ไล่ตั้งแต่ สหรัฐฯ, จีน, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, อังกฤษ, อิตาลี, สเปน, สวิตเซอร์แลนด์, เนเธอร์แลนด์, ญี่ปุ่น, เกาหลี ฯลฯ

บรรดายักษ์ใหญ่เหล่านี้ต่างก็จะต้องมีมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจของตัวเองทั้งสิ้น คงจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

ที่สำคัญตัวยาทางเศรษฐกิจที่เราเคยใช้เสมอๆ ทุกครั้งที่มีการฟื้นฟูเศรษฐกิจอันได้แก่ การท่องเที่ยว และ การส่งออก นั้น อาจจะไม่ออกฤทธิ์เหมือนในอดีตก็เป็นได้

เพราะจากความเสียหายทางเศรษฐกิจและความบอบชํ้าทางจิตใจที่ต้องสูญเสียญาติมิตรไปอย่างมากมาย อาจจะทำให้ชาวโลกลดการท่องเที่ยวลง หรือลดการจับจ่ายใช้สอยลงในช่วงแรกๆ ซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงต่อนโยบายการท่องเที่ยวและการส่งออก ที่เคยเป็นมาตรการกู้เศรษฐกิจที่สำคัญของเราในห้วงเวลาที่ผ่านมา

แต่ก็อย่างที่กราบเรียนไว้ ดูๆ ไว้ จดบันทึกเอาไว้ ติดตามข้อมูล ติดตามตัวเลขทุกตัว ทั้งของเราและของโลกอย่าให้ขาดตกบกพร่อง แล้วมาว่ากันเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

อย่าเพิ่งพูดถึงผลเสียหายเยอะเลยครับ ตอนนี้จะทำให้เสียขวัญเสียกำลังใจในการสู้รบกับไวรัสโควิด-19 เสียเปล่าๆ

ณ นาทีนี้ ขอให้ร่วมแรงร่วมใจกันทุกฝ่าย ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขในทุกข้อ เพื่อหยุดยั้งโควิด-19 ให้ได้ก่อนครับ.

“ซูม”